นายวรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จํากัด เปิดเผยถึงทิศทางทองคำในสัปดาห์หน้ากับ Nation STORY ว่า ราคาทองคำตั้งแต่ 1 พ.ค.-17 พ.ค. ปรับตัวขึ้น ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทองแท่ง 96.5% ปรับตัวขึ้น 200 บาท ราคาทองคำยังได้ปัจจัยบวกจากความหวังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในประเทศได้รับแรงกดดันจาก ค่าเงินบาท กลับมาแข็งค่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.87 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดยังตรึงดอกเบี้ยสูงอีกนาน เพื่อให้เงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายส่งผลให้มีแรงขายทำกำไรสลับเข้ามากดดันราคาทองคำ
ปัจจัยบวกลบที่ต้องติดตาม
- รายงานการประชุม FOMC Meeting Minutes ซึ่งจะสะท้อนมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ของวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. และการเปิดเผยตัวเลข จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ , ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค , ดัชนี PMI ภาคการผลิต ภาคการบริการเบื้องต้น
- การแสดงความเห็นของเจ้าหน้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดย ประธานธนาคารกลางสหรัฐ นายเจอโรม พาวเวล ,นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ , นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก , ประธานธนาคารกลางสหรัฐแห่งแอตแลนตา ราฟาเอล บอสติก หลังจากสัปดาห์ก่อนหน้า เจ้าหน้าที่เฟดบางท่านมีความเห็นว่า เฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ขณะที่ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 97% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย.
สำหรับแนวโน้มทิศทางทองคำเป็น Sideway up ซึ่งล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 2 ครั้งในปีนี้ และให้น้ำหนัก 70% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย.
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาทองคำมีความผัวผวนลดลง แต่เมื่อราคาปรับตัวขึ้นยังคงมีแรงขายสลับเข้ามากดดันราคาอ่อนตัวลง แนะนำรอเปิดสถานะซื้อ หากราคาปรับตัวลงไม่หลุดโซนแนวรับ 2,369-2,352 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมลดสถานะซื้อลง หากราคาหลุดแนวรับ 2,352 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ อาจทยอยแบ่งปิดสถานะซื้อ หากราคาปรับตัวขึ้นไม่ผ่านแนวต้านโซนที่ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ตาม ประเมินแนวต้านแรกที่ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนวต้านถัดไปที่ 2,418 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนวต้านสุดท้ายที่ 2,431 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนวรับแรกที่ 2,369 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนวรับถัดไปที่ 2,352 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับสุดท้ายที่ 2,333 ดอลลาร์ต่อออนซ์