svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

"เปิดชื่อส.ส.ลาออก" สภาฯทุลักทุเล ไปต่อ หรือ ปิดเกม"ยุบสภา"

14 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การ"เลือกตั้ง"จะมีขึ้นในช่วงปี 66 บรรดานักเลือกตั้งจึงต้องกำหนดอนาคตตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มที่ลาออกจากส.ส.ย้ายสังกัดพรรคใหม่ มีผลกระทบจำนวนเสียงในสภาฯ เกิดเหตุสภาล่ม ร่างกม.ค้างสภา สภาพการณ์แบบนี้ สภาควรไปต่อหรือ"ยุบสภา"ไปเลยดีกว่าไหม ตรวจชื่อส.ส.ลาออกได้ที่นี่

 

สถานการณ์ในที่ประชุมสภา นับตั้งแต่เปิดประชุมสภาฯเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา การดำเนินการประชุมเป็นไปด้วยความทุลักทุเล ประธานในที่ประชุมมีการสั่งนับองค์ประชุม ซึ่งปรากฎว่า "สภาล่ม"ต่อเนื่องถึงสี่ครั้ง ในขณะที่ประชุมมีระเบียบวาระเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ. หลายฉบับ ก็ยังติดขัดไม่สามารถผ่านความเห็นชอบได้   

 

อย่างล่าสุด ในการประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565  ก่อนเข้าสู่ ระเบียบวาระการประชุม "นายชวน"  ได้มีการแจ้งต่อที่ประชุมถึงจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ขณะนี้ว่า "น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย" ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลาออกจากส.ส.ในวันที่ 13 ธันวาคม 2565 และ"นายเดชทวี ศรีวิชัย" ส.ส.พรรคเสรีรวมไทยได้ลาออกส.ส.ในวันที่ 14 ธันวาคม เป็นผลให้ทั้ง 2 สิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ดังนั้น รวมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปัจจุบัน 471คน องค์ประชุมกึ่งหนึ่งคือ 236 คน 

 

แฟ้มภาพ บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

เสียงขอร้องอ้อนวอนส่งผ่านมาจาก"ชวน หลีกภัย" ถึง"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ให้แจ้งต่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมประชุมสภาอย่างพร้อมเพียง เป็นสัญญาณว่า สถานการณ์สภาแต่ละสัปดาห์ ดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น หากไปต่อไม่ได้ ควร"ยุบสภา"หรือไม่

 

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดประชุมสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2  เกิดเหตุสภาล่ม มีสถิติ ดังนี้ 


4 พฤศจิกายน 2565  สภาฯล่ม ก่อนลงมติรายงานผลการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับกรณีการปิดอ่าวมาหยา จ.กระบี่ ( แสดงตน 183 องค์ประชุมไม่ครบ)


23 พฤศจิกายน 2565  ระหว่างลงมติ ร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ลงมติไปแล้ว แต่ขอนับองค์ประชุมใหม่ //สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ)

 

1 ธันวาคม 2565  ระหว่างเข้าสู่วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ..

 

7 ธันวาคม 2565  ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ. การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น มีการขอตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แสดงตนซ้ำทำให้องค์ประชุมไม่ครบ

 

เปิดรายชื่อ ส.ส.ลาออกจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อมูล ณ วันที่  14 ธันวาคม 2565

 

ข้อมูล  ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2565  ได้มีส.ส.จำนวน  31 คน ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ประกอบด้วย

 

พรรคพลังประชารัฐ  11 คน ได้แก่

1.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 2.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. 3.น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์   ส.ส.กทม.4.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 5.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 6.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 7.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 8.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 9.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี กาญจนบุรี 10.นายธรรมวิชญ์  โพธิพิพิธ  ส.ส.กาญจนบุรี 11.นายอัฎฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 

 

พรรคเพื่อไทย จำนวน 7คน ได้แก่ 1.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 2.นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. 3.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 4.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี 5.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก 6.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา 7.นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา  

 

พรรคก้าวไกล 5 คน ได้แก่ 1.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 2.นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 3.นายพีรเดช คําสมุทร ส.ส.เชียงราย 4.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

พรรคเศรษฐกิจไทย  2  คน ได้แก่ 1.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อ กูลกิจ ส.ส.ตาก  2.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

 

พรรคชาติพัฒนา 1 คน ได้แก่นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทร สาคร พรรคประชาภิวัฒน์  1 คน ได้แก่ น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคเพื่อชาติ 1 คน  ได้แก่  นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง 1 คน  ได้แก่ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 


พรรคประชาธิปัตย์ 1คน ได้แก่ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย อดีตส.ส.อุบลราชธานี ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ ให้มีผลในวันที่ 13 ธันวาคม 2565  และพรรคเสรีรวมไทย 1 คน ได้แก่ นายเดชทวี ศรีวิชัย อดีตส.ส.ลำปาง พรรคเสรีรวมไทย  ให้มีผลวันที่ 14ธันวาคม 2565

 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  "สมชัย  ศรีสุทธิยากร" อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  เปิดเผยว่า  ตามกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่า ส.ส.ต้องลาออกจำนวนเท่าใด นายกฯถึงต้อง"ยุบสภา"  โดยการประชุมสภาก็ให้ใช้องค์ประชุมที่เหลือ แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่มีปัญหากับการลงมติทั่วไป แต่จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อถ้าฝ่ายที่ลาออกเป็น ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน ปัญหาที่ตามมาคือ ฝ่ายรัฐบาลจะไม่สามารถเสนอกฎหมายสำคัญได้เพราะเมื่อเสนอไปเสียงในสภาฯน้อยกว่าทำให้แพ้โหวต ซึ่งการแพ้โหวตก็เป็นเหตุทำให้นายกฯต้องประกาศ"ยุบสภาฯ"ได้ 

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร  อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย

 

ส่วนอีกกรณีคือ สัดส่วนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถ้าเสียงส.ส. มีน้อยกว่า ส.ว. เวลาที่โหวตลงมติใดๆ ไม่สะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

 

เมื่อถามว่าเรื่องการเลือกช่วงเวลายุบสภาฯเป็นเรื่องของมารยาททางการเมืองด้วยหรือไม่ "นายสมชัย" บอกว่า ไม่อยากใช้คำว่ามารยาท แต่มีหลักคิด คือ "ฝ่ายที่อยู่ไม่ควรถูกบังคับโดยฝ่ายที่ออก" ความหมายคือ ฝ่ายที่ออกก็มีสิทธิ์ออก แต่จะไม่มีสิทธิ์มาบังคับฝ่ายที่อยู่ต่อได้ แม้ว่าเสียงจะเหลือน้อยก็ตาม  

 

"ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ บอกว่า กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าส.ส.ลาออกจนเหลือเท่าไหร่ แล้วนายกฯต้องยุบสภา ไม่ว่าจะตามหลักสากลหรือตามกฎหมายบ้านเรา มีเหลือเท่าไหร่ก็ใช้ไปเท่านั้น เว้นแต่ลาออกทั้งหมด ซึ่งก็จะเป็นไปได้ยากมาก และวันนี้ถึงส.ส.เขต ลาออกไปก็ไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม เพราะอายุรัฐบาลเหลืออายุไม่ถึง 180 วัน  ส่วนบัญชีรายชื่อก็สามารถเลื่อนลำดับได้เรื่อยๆ ดังนั้นจำนวนส.ส.ลาออกมากน้อย นายกฯไม่จำเป็นต้องยุบสภาฯ

 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

 

แต่ถ้าถามมารยาททางการเมืองว่าตอนนี้นายกฯควรประกาศ"ยุบสภาฯ" หรือไม่ "ดร.สติธร" บอกว่า ถ้ามารยาทดีไม่ควรยุบสภาฯตอนนี้หากยุบจะทำให้เกิดความวุ่นวายวิกฤต เพราะกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับยังไม่ประกาศใช้ ดังนั้นเวลาที่เหมาะกับการยุบสภาฯ คือ หลังมีการประกาศใช้กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับก่อน

 

ส่วนกติกาการเลือกตั้งใหม่บัตร 2 ใบ หาร 100 จะทำให้พรรคจิ๋วสาปสูญไปหรือไม่ "ดร.สติธร" บอกว่า พรรคจิ๋วสู้ต่อได้ แต่จะเหนื่อยมาก ทางที่ดีพรรคเล็กควรควบรวมกันดีกว่า หรืออีกทางก็ปล่อยพรรคทิ้งไว้แล้วต่างคนต่างแยกย้าย และเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า จะได้เห็นพรรคเล็กเหลือน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนแน่นอน
 

logoline