svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

จุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นสู้ "ตุลาประชาธิปไตย" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

14 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนเหตุการณ์ "14 ตุลา 2516" ระบอบทหารที่แม้จะมีกองทัพเป็นปราการสนับสนุนที่แข็งแรงเพียงใด ก็ไม่อาจต้านทานพลังการต่อต้าน พลังความไม่พอใจ ของนักเรียน -นิสิต-นักศึกษา-ประชาชนได้เลย ติดตามได้เจาะประเด็นโดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

หากอธิบายด้วยทฤษฎีทางรัฐศาสตร์แล้ว จุดเริ่มต้นที่สำคัญของ "การลุกขึ้นสู้" ครั้งใหญ่ของขบวนนิสิตนักศึกษาประชาชนไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของ "ความคับข้องใจ" ทางการเมือง (political frustration) จากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และสมทบด้วยผลจาก "วิกฤตศรัทธา" ของสังคม อันนำไปสู่ "ความไม่พอใจ" ที่มีต่อสามผู้นำรัฐบาลทหารในขณะนั้น คือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร 

 

ในช่วงเวลาต่อมาเมื่อเกิดการประท้วงใหญ่ขึ้น ผู้นำสามทหารชุดนี้ถึงกับถูกขนานนามว่าเป็น "สามทรราช" ซึ่งเป็นคำเรียกที่ไม่เคยถูกใช้ในสังคมไทยมาก่อน

 

คนส่วนใหญ่ในสังคมแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการการปกครองของ "รัฐบาลสามทหาร" อีกต่อไป เพราะรัฐบาลทหารไม่มีประสิทธิภาพในการต้องรับมือกับปัญหาในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตพลังงานครั้งแรกของโลกในปี 2516 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยโดยตรง และรวมถึงปัญหาอื่นๆ ในทางเศรษฐกิจ 

จุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นสู้ "ตุลาประชาธิปไตย" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

อีกทั้งรัฐบาลทหารกำลังเผชิญกับกระแสเสรีนิยมที่กำลังไหลทะลักเข้าสู่สังคมไทย และเป็นกระแสโลกที่ผู้นำทหารไทย "หัวเก่า" ไม่เข้าใจ เพราะนายทหารในระดับสูงเหล่านี้เติบโตในโลกแคบๆ ของสังคมไทย

 

การก้าวเข้าสู่ปี 2516 สะท้อนให้เห็นชัดว่า ความเชื่อมั่นของสังคมต่อรัฐบาลของจอมพลถนอม/จอมพลประภาส กำลังอยู่ในภาวะที่ตกต่ำอย่างมาก และจุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลประสบ "วิกฤตศรัทธา" อย่างมีนัยสำคัญจากกรณีทุ่งใหญ่ในช่วงต้นปี

 

ภาวะเช่นนี้นำไปสู่การลดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม ลงอย่างมาก จนอาจประเมินหลัง "วิกฤตทุ่งใหญ่" ได้ว่า รัฐบาลจอมพลถนอม อยู่ในภาวะถดถอยทางการเมือง และสถานะของความชอบธรรมตกต่ำอย่างรุนแรง

 

จอมพลถนอม  กิตติขจร

 

ประเด็นสำคัญคือ ผู้นำรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลทหารถูกมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมไทยขณะนั้น แม้จะมีความพยายามในการนำเอาภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์มาเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารก็ตาม

 

การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวออกไปในวงกว้าง จนเกิดคำเรียกว่า "สามทรราช" สภาวะเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงทัศนะของสังคมที่มองว่า ผู้นำทหารในสายตาของสังคมคือ "ทรราช" พวกเขาไม่ใช่ "อัศวินม้าขาว" อย่างที่เคยถูกสร้างภาพไว้ พวกเขาไม่ได้เข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหาของประเทศแต่อย่างใด 

 

อีกทั้งคนในสังคมมีความรู้สึกว่า ผู้นำทหารและครอบครัวเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและพรรคพวก จนทำให้ผู้นำทหารเป็นเป้าหมายของความเกลียดชัง หรืออาจกล่าวได้ว่า คนในสังคมไม่มีความเชื่อมั่นเหลือให้กับผู้นำทหารเช่นในอดีต และพร้อมที่จะแสดงการต่อต้านด้วยการ "ลงถนน" ร่วมการประท้วงของนิสิตนักศึกษา

 

ความคับข้องใจทางการเมืองที่สังคมมีต่อรัฐบาลทหารเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสังคมไทยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประมาณการว่ามีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน (อ้างจาก ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน, 2543) 

จุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นสู้ "ตุลาประชาธิปไตย" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการชุมนุมจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่าหรือน้อยกว่าตัวเลขดังกล่าว แต่ตัวเลขหลักแสนเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครองของผู้นำทหารอย่างชัดเจน

 

ดังนั้น เหตุการณ์การล้มรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ของสังคมไทยในปี 2516 เป็นประวัติศาสตร์ของ "การปฏิวัติทางการเมือง" ครั้งสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทยสมัยใหม่อีกครั้ งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และอำนาจที่ถูกผูกขาดอยู่ในมือของผู้นำทหารมาอย่างยาวนานได้ถูกทำลายลง พร้อมกับเปิดทางให้กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ในสังคมเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนิสิตนักศึกษา กรรมกร ชาวนา หรือที่ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า "พลัง 3 ประสาน" ผลสืบเนื่องยังนำไปสู่การกำเนิดของกลุ่มพลังในกองทัพ เช่น กลุ่มนายทหารระดับกลาง เช่น กลุ่มยังเติร์ก หรือกลุ่มทหารประชาธิปไตย บทบาทของกลุ่มทหารอีกส่วนยังขยายตัวไปสู่การจัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวาจัด

 

ซึ่งกลุ่มนายทหารระดับกลางได้กลายเป็นตัวละครสำคัญในยุคหลัง 14 ตุลาฯ และยาวต่อเนื่องไปจนถึงการสิ้นอำนาจของกลุ่มยังเตริ์ก จากความล้มเหลวของรัฐประหาร 2524 และ 2528 

จุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นสู้ "ตุลาประชาธิปไตย" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทและการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังทั้งหลายเหล่านี้มีผลต่ออนาคตการเมืองไทยและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2519 ในอีกสามปีถัดมา

 

การเมืองยุคหลังปี 2516 จึงเป็นภาพสะท้อนถึงการล่มสลายของระบอบทหารที่เปิดภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทย และเปิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ "ขบวนการทางสังคม" (social movements) อีกครั้งในยุคหลังการเคลื่อนไหวใหญ่ของปี 2500


และส่งผลให้เกิดสภาวะของ "การเมืองของมวลชน"(mass politics) ในแบบที่ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์กล่าวถึงอย่างชัดเจน เช่น ขบวนการกรรมกร ขบวนการชาวนา ขบวนการนักศึกษา ที่เป็นตัวแทนของ "พลังฝ่ายซ้าย" รวมถึงการขยายบทบาทของ "พลังฝ่ายขวา" ที่เป็นพลังอนุรักษนิยมไทย ซิ่งเป็นผลจากความกลัวต่อการล่มสลายของรัฐไทย อันเป็นผลจากการล้มลงของ "สามโดมิโนอินโดจีน" ในปี 2518

 

หากจะสรุปบทเรียนสำคัญของการลุกขึ้นสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่า ระบอบทหารที่แม้จะมีกองทัพเป็นปราการสนับสนุนที่แข็งแรงเพียงใด ก็ไม่อาจต้านทานพลังการต่อต้าน “พลังความไม่พอใจ” ของนักเรียน -นิสิต-นักศึกษา-ประชาชนได้เลย เมื่อสังคมในขณะนั้นได้ "ระเบิดอารมณ์" ทางการเมืองใส่รัฐบาลทหาร จนกลายเป็น "คลื่นยักษ์" ที่พัดพารัฐนาวาทหารของจอมพลถนอม จมลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 14 ตุลาฯ

 

และนัยสำคัญอีกประการของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ การสิ้นสุดของรัฐบาลทหารซึ่งสืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐประหาร 2490 … 

 

การลุกขึ้นสู้ 14 ตุลาฯ ปิดฉากยุค 2490 เช่นที่ รัฐประหาร 2490 ปิดฉากยุค 2475 นั่นเอง 

 

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กับการต่อสู้รัฐบาลเผด็จการในเวทีโลกแล้ว เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ จึงเป็นเสมือนกับ "ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง" ของไทย จนอาจเรียกได้มาเป็น "กรุงเทพสปริง" เช่นที่บรรดาเสรีชนในหลายประเทศได้ต่อสู้ด้วยความเสียสละมาก่อนหน้านั้น หรือเปรียบในบริบทปัจจุบันก็คือ อาหรับสปริง ฮ่องกงสปริง และเมียนมาสปริง ที่เห็นถึงการลุกขึ้นสู้ของเสรีชนอย่างกล้าหาญ

 

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำสายอำนาจนิยมในทั่วโลกมักมีความเชื่อมั่นทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันว่า พวกเขาสามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน ภาวะเช่นนี้จึงอาจเทียบเคียงได้กับรัฐบาลทหารของประธานาธิบดีมูบารัคในยุคก่อนอาหรับสปริง ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็น "ระบอบเผด็จการที่ทนทาน" เพราะไม่มีกลุ่มต่อต้านใดจะสามารถโค่นได้ ความอยู่รอดของรัฐบาลทหารอียิปต์จึงถูกสร้างเป็นความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลทหารไคโรจะไม่ถูกโค่นล้มลงอย่างง่ายดาย 

 

แต่เมื่อต้องเผชิญกับ "คลื่นมหาชน" ที่ออกมาต่อต้านแล้ว รัฐบาลทหารที่ปกครองอียิปต์มาอย่างยาวนานก็ถึงจุดสิ้นสุดลงในต้นปี 2554 ไม่ต่างจากอดีตการล้มลงของรัฐบาลทหารไทยในปี 2516

 

หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า เสียงต่อต้าน-เสียงคัดค้าน-เสียงไม่พอใจ ที่เกิดกับ "รัฐบาลสามทหาร" ของยุคปัจจุบันหรือ "รัฐบาลสาม ป." ดังไปทั่วทั้งสังคม และเสียงเช่นนี้กำลังดังมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยอย่างท้าทาย 

 

แม้ "ฤดูใบไม้ผลิ" ในปี 2516 อาจจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ห่างไกลด้วยกาลเวลา … แม้ผู้นำทหารที่เป็นผู้นำรัฐบาลปัจจุบันจะเชื่อเสมอว่า "อำนาจปืน-อำนาจเงิน-อำนาจฆ้อน"คุมทุกอย่างได้ดังใจ แต่ภูมิทัศน์การเมือง 2565-66 เปลี่ยนไปหมดแล้ว

 

ไม่ต่างกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ในปี 2515-16 ที่ผู้นำทหารไม่เข้าใจ และนำไปสู่จุดจบอย่างไม่คาดคิดด้วยการล่มสลายของ "ระบอบถนอม" ในวันที่ 14 ตุลาคม!

 

คนเดือนตุลาร่วมจัดงานรำลึก 49 ปี 14 ตุลา 16 ที่อนุสรณ์สถาน สี่แยกคอกวัว

(หมายเหตุผู้เขียน: สามทหารเป็นชื่อ "ปั๊มน้ำมันสามทหาร" ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของกองทัพในอดีต)

logoline