svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

การจัดความสัมพันธ์ "รัฐบาลท้องถิ่น"กับ "สื่อระดับโลก"  โดย สุรชาติ บำรุงสุข

10 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความผิดบางเรื่องอาจจะไม่ใช่ "ความผิดใหญ่" ทางกฎหมาย การใช้มาตรการแบบ  "ถอนวีซ่า" ในแบบรัฐเผด็จการอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดความสัมพันธ์กับสื่อระดับโลก ติดตามได้จากเจาะประเด็น โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของประเทศเล็กที่เป็นดัง "รัฐบาลท้องถิ่น" กับสื่อระหว่างประเทศที่มีสถานะเป็น "สื่อระดับโลก" เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ และเป็นเรื่องใหม่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นอาจจะต้องตระหนักในการจัดความสัมพันธ์นี้ 

 

เพราะในโลกยุคปัจจุบัน บทบาทของ "สื่อระดับโลก" ที่มีสถานะเป็นดัง "สื่อยักษ์ใหญ่" ของโลกนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของกระแสโลกในยุคสมัยของเราที่ปฎิเสธไม่ได้

 

หากย้อนกลับไปดูในยุคที่เทคโนโลยีสื่อสารมวลชนยังไม่พัฒนามาก บทบาทของสื่อใหญ่อาจจะไม่สามารถยกสถานะขึ้นเป็น "สื่อโลก" ได้ แต่เมื่อการสื่อสารเกิดขึ้นเป็นระดับโลกแล้ว และยุคสมัยของสงครามเย็นสิ้นสุดลง พร้อมกับการมาของ "กระแสโลกาภิวัตน์" สื่อใหญ่ในโลกตะวันตกเหล่านี้ จึงเริ่มสร้างตนเองให้เป็น "สื่อโลก" ได้อย่างแท้จริง จนถือกันว่า สื่อในระดับดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนกระแสโลก หรือในความหมายก็คือ สื่อระดับโลกเช่นนี้คือตัวแทนของกระแสโลกาภิวัตน์นั่นเอง

 

ตัวอย่างของสื่อระดับโลกเหล่านี้ในยุคต้น คงต้องยกเครดิตให้แก่ สำนักข่าวอย่าง"ซีเอ็นเอ็น" จากสหรัฐ หรือ บีบีซี จากอังกฤษ บทบาทของสื่อตะวันตกในระดับโลกเช่นนี้ทำให้โลกอาหรับต้องให้กำเนิดสำนักข่าวอัลจาซีร่า หรือทางรัสเซียต้องสร้างสำนักข่าวอาร์ที ในเวลาต่อมา เป็นต้น

 

ในทางการเมือง บทบาทของสื่อเช่นนี้มาพร้อมกับยุคหลังสงครามเย็น จนกระทรวงกลาโหมสหรัฐต้องถือว่า ผู้นำหน่วยทหารในปฎิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า "ปัจจัยซีเอ็นเอ็น" (CNN Factor) กล่าวคือ บทบาทของสื่อระดับโลกเช่นนี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างประชามติต่อปฎิบัติการทางทหารทั้งในระดับภายในประเทศ และในระดับระหว่างประเทศ    

 

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมแรกที่โลกได้เห็นบทบาทของสื่อเช่นนี้คือ สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 … ผู้คนทั่วโลกนั่งชมภาพปฎิบัติการทางทหารของสหรัฐในคูเวตด้วย "เวลาจริง" กล่าวคือ ทั้งผู้รายงานข่าวและผู้ชมอยู่ในเหตุการณ์แบบ "เรียลไทม์" (real time) จนผู้นำทั่วโลกต้องยอมรับถึงความสำคัญของ "ปัจจัยซีเอ็นเอ็น" 

 

ในระยะเวลาต่อมา คำนี้อาจจะมิได้หมายถึงเพียงแค่ "สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น"เท่านั้น แต่มีความหมายถึงบทบาทของสำนักข่าวระหว่างประเทศที่จะมีส่วนในการสร้างภาพทั้งของประเทศและของรัฐบาลในระดับโลก หรืออีกนัยหนึ่ง การนำเสนอภาพของสื่อในระดับนี้มีส่วนต่อการสร้าง "ซอฟต์เพาเวอร์" ของรัฐอย่างมากด้วย ซึ่งรัฐบาลในเวทีโลกล้วนตระหนักถึงปัจจัยเช่นนี้

 

ดังนั้น การสร้างความเข้าใจในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับ "กระแสโลก" และบทบาทของสื่อเหล่านี้ อาจจะต้องถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจคิดในแบบ "กระแสการเมืองเก่า" ที่เชื่อว่าภายในเขตรัฐอธิปไตยของตน เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทหาร เป็น "ผู้อำนาจเต็ม" ที่จะทำอย่างไรกับสื่อเหล่านี้ก็ได้ เพียงเพราะสื่อดังกล่าวอาจจะกระทำการในสิ่งที่อาจจะ "ไม่ถูกใจ" กับค่านิยมของเรา

 

ดังนั้น วิธีการที่ถูกนำมาใช้มากเช่นที่เกิดในรัฐเผด็จการ คือ การขับผู้สื่อข่าวต่างชาติออก หรืออาจใช้วิธีงดออกวีซ่าและ/หรือถอนวีซ่า 

 

การใช้อำนาจในแบบ "ถอนวีซ่า" หรือ "ขับออก" ในอีกด้านอาจจะเป็นเหมือนการเล่นกับ "กระแสชาตินิยมเก่า" โดยเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงผู้นั้น เชื่อว่า การกระทำเช่นนี้จะเป็นการ "โชว์พลัง" ว่ารัฐนั้น ไม่เกรงกลัวอิทธิพลของปัจจัยภายนอก และสามารถ "ใช้อำนาจรัฐ" จัดการกับ "สื่อนอก" ได้เสมอ  

 

การอธิบายในข้างต้นมิได้หมายความว่า รัฐบาลท้องถิ่นต้องยอมสื่อโลกในทุกเรื่อง หากแต่ต้องการที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อดังกล่าวในเวทีโลกสมัยใหม่ และหากเกิดปัญหาความขัดแย้ง ก็อาจจะต้องดำเนินการในกรอบแบบ "รัฐประชาธิปไตย" ที่การดำเนินการควรจะต้องสอดรับกับความผิดที่เกิดขึ้น และความผิดบางเรื่องอาจจะไม่ใช่ "ความผิดใหญ่" ทางกฎหมาย การใช้มาตรการแบบ  "ถอนวีซ่า" ในแบบรัฐเผด็จการอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดความสัมพันธ์กับสื่อระดับโลก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่คดีความมั่นคงหรือการจารกรรม จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับสูงมาสอบปากคำ 

 

หากเรื่องที่เกิดเป็นประเด็นของ "จริยธรรมสื่อ" แล้ว บางทีรัฐบาลท้องถิ่นอาจจะต้องด้วยคิดแก้ปัญหาด้วย "ความรอบคอบ" ให้มากกว่านี้ … รัฐบาลของรัฐเล็กไม่จำเป็นต้องยอมสื่อโลกทุกอย่าง แต่ก็ไม่ควรสร้างปัญหากับสื่อโลกทุกอย่างโดยไม่จำเป็น … เรื่องทั้งหมดที่กล่าวในข้างต้นอาจจะไม่เกี่ยวกับประเทศไทยเลยก็ได้ (อย่าคิดมาก!) แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกใน "ยุคซอฟต์เพาเวอร์" เขาคิดมากเท่านั้นเอง!

logoline