svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

กระเทาะปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืน โดย โคทม อารียา

22 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง บางคนเห็นเป็นโอกาสที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมือง ติดตามอีกมุมมองความคิด ผ่านเจาะประเด็น โดย โคทม อารียา

 

เมื่อมีข่าวคึกโครมเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง บางคนเห็นเป็นโอกาสที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมือง

 

แต่น่าจะเป็นโอกาสที่สังคมจะตื่นรู้ต่อปัญหานี้ให้มากขึ้นด้วย และน่าจะเป็นโอกาสที่สังคมจะมองตนเอง และมองด้วยว่าทั้งเหยื่อและผู้ถูกกล่าวหาล้วนถูกกระทำด้วยระบบค่านิยมหลักที่ปลูกฝังกันในสังคม

 

นั่นคือค่านิยมชายเป็นใหญ่ และค่านิยมกุลสตรีที่สอนให้ผู้หญิงว่านอนสอนง่ายและอ่อนน้อมถนอมตน
    

จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย เขียนบทความชื่อ "ทำไมต้องข่มขืน ... !!" ลงพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับ กรกฎาคม-ธันวาคม 2544  เธอกล่าวถึงความเชื่อผิด ๆ ของสังคมที่เข้าใจว่า 

1)  การข่มขืนส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกบ้านและในตอนกลางคืน

2)  เหยื่อการข่มขืนเป็นสาวเต็มตัว

3)  ส่วนใหญ่ถูกข่มขืนโดยคนแปลกหน้า

4)  การที่ผู้หญิงแต่งตัวโป๊จูงใจให้ผู้ชายข่มขืน

 

อันที่จริง

1)    การข่มขืนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้านของตนเองหรือของคู่รักหรือของเพื่อน 

2)   มูลนิธิคุ้มครองเด็กเคยรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2540 ถึงการข่มขืนเด็กอายุ 7 เดือน และอีกกรณีหนึ่งคือหญิงอายุ 80 ปีที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืน

 

3)  ผู้ข่มขืนส่วนใหญ่เป็นคนที่เหยื่อรู้จัก เป็นพ่อ เป็นญาติ เป็นเพื่อน หรือคนใกล้ชิดอื่น ๆ กลุ่มเสี่ยงมากที่สุดต่อการถูกข่มขืนคือนักเรียนอายุ 15 ปีที่คนรัก/คนรู้จักชวนไปเที่ยวบ้านในยามวิกาล

 

4)  ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ไม่ได้หมายความว่าเธออยากถูกข่มขืน เธอแต่งตัวให้ผู้หญิงดูกันเอง ส่วนผู้ชายบางคนดูแล้วอาจกระชุ่มกระชวยไปด้วย แต่ผู้ชายไม่น่าอ่อนแอจนควบคุมตนเองได้ เมื่อทำผิดแล้ว ทำไมไปโทษผู้หญิงให้เป็นเหยื่อซ้ำสอง

 

จุฑารัตน์ เสนอว่า การข่มขืนมีสาเหตุมาจาก 


1)  ค่านิยมกีดกันทางเพศ (sexism) ซึ่งวิกิพีเดียขยายความว่า การแบ่งแยกทางเพศและเลือกที่รักมักที่ชังต่อเพศใดเพศหนึ่ง ส่วนใหญ่จะมีผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง

 

2) การบกพร่องทางจิตที่ทำให้ต้องการแสดงอำนาจที่เหนือกว่า บางกรณีต้องการแก้แค้นหรือดูถูกเหยียดหยาม

 

3)  ภาพทึกทักเอาเอง (stereotypes) ว่าหญิงมีความสุขจากการถูกข่มขืน เป็นฝ่ายยั่วยวน (ผมอยากถามว่า ชายที่คิดเช่นนี้ถ้าถูกชายรักชายข่มขืนจะมีความสุขไหม)

 

4)  ลำพังองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) องค์กรสตรี องค์กรที่ทำงานด้านเด็ก ฯลฯ ที่พยายามบอกผู้หญิงให้รู้จักป้องกันตนเอง ให้เปลี่ยนค่านิยมจากการยอมรับว่าผู้ชายเป็นใหญ่ มาเชื่อในศักยภาพตนเองมากขึ้น ให้ผู้หญิงระวังตัวและตระหนักว่าตนอาจถูกข่มขืนก็ได้ มิใช่ผู้หญิงเสเพลเท่านั้นที่ถูกข่มขืน ฯลฯ นั้นไม่เพียงพอ ยังต้องพึ่งกลไกของรัฐ รวมทั้งสถาบันการศึกษา ที่จะปลูกฝังค่านิยมที่ให้เกียรติแก่สตรี เคารพเพศแม่ให้มากขึ้น และรัฐพึงมีมาตรการป้องปรามต่าง ๆ เพื่อให้ชายยำเกรงและผู้ทำผิดไม่ลอยนวล


สังคมตะวันตกมีการเปลี่ยนค่านิยมมาถือว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่เดิมสังคมไทยสอนให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว ครองตนให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะแต่งงาน

 

ในกรณีเช่นนี้ ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจะรู้สึกเสียหายร้ายแรงมาก รู้สึกอับอาย ไม่กล้าไปแจ้งความดำเนินคดี อีกทั้งรู้สึกเกรงกลัวการข่มขู่ของฝ่ายชายว่าจะทำร้ายบ้าง หรือว่าถ้าถูกกล่าวหาจะปฏิเสธหรือเบี่ยงเบนว่าผู้หญิงเต็มใจหรือเป็นฝ่ายยั่วยวนบ้าง ฯลฯ

 

อย่างไรก็ดี ค่านิยมเรื่องเพศสัมพันธ์กำลังเปลี่ยนไป โดยคนหนุ่มสาวยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ยอมรับการหย่าร้างและการแต่งงานหลังหย่าร้างกับคนใหม่ ยอมรับว่ามีแรงจูงใจทางเพศรวมไปถึงการที่คู่สมรสไปมี "กิ๊ก" ได้มากขึ้น ฯลฯ 


ผู้ชาย (รวมทั้งผู้หญิง) ย่อมที่มีแรงขับทางเพศเป็นธรรมดา น่าจะมีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิม คืออาจไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ให้บริการทางเพศ หรือถ้าไม่ชอบหรือไม่ค่อยมีเงินก็ต้องหมั่นจีบใครสักคนหนึ่งและขอให้เธอยินยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศ ถ้ายังไม่ลงตัวก็ไม่ต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะแต่งงานด้วย

 

แต่ต้องระวังว่า การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีแม้จะยินยอมก็ตาม ย่อมมีความผิดทางอาญา แน่นอนว่าเมื่อแต่งงานแล้วย่อมมีความสุขกับความสัมพันธ์ทางเพศยามเมื่อทั้งสองฝ่ายมีอารมณ์ 


แต่ก่อนการข่มขืนภรรยาไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา โดยบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ว่า "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาของตน" มีความผิดทางอาญา แต่ในปี พ.ศ. 2550 มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 276 ดังนี้ 


"ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท


การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใด กระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ... ” 


รัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสี่บัญญัติว่า "ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองไม่ได้"  แม้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้การที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน แต่การ "ให้การ" ต่อสื่อสาธารณะเพื่อปฏิเสธคำกล่าวหา อาจไม่เป็นประโยชน์นัก ซ้ำร้ายถ้าพยานหลักฐานดูหนักแน่นขึ้น เจ้าตัวอาจถูกสังคมตัดสินไปแล้วโดยขาดความเห็นใจใด ๆ 

 

ขอยกตัวอย่างของเจ้าชายแอนดรูแห่งราชวงศ์อังกฤษเป็นตัวอย่าง เรื่องมีอยู่ว่า นายเจฟฟรีย์ เอปสไตน์ เศรษฐีชาวอเมริกันมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการจัดหาและการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน เลยไปถึงการเป็นธุระจัดหาผู้หญิงที่บางคนเป็นผู้เยาว์ให้เพื่อนหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจได้รับบริการทางเพศที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้วย จนในที่สุดเขาถูกตัดสินจำคุกและได้ฆ่าตัวตายในเรือนจำ 

 

เรื่องมีอยู่ว่า เวอร์จิเนีย จิอุฟเฟร ฟ้องศาลว่าเธอมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าชายแอนดรู 3 ครั้งเมื่อปี ค.ศ. 2001 เมื่อเธอมีอายุ 17 ปี ครั้งแรกที่ลอนดอนโดยได้รับเงินจากเอปสไตน์จำนวน 15,000 ดอลลาร์ ครั้งที่สองที่นิวยอร์ก และครั้งที่สามที่ US Virgina Islands โดยมีรูปถ่ายของเธอกับเจ้าชายแอนดรู และกิสเลน แมกซ์แวลล์ผู้ช่วยของเอปสไตน์และต้องคำพิพากษาของศาลด้วยมายืนยัน

 

แต่เจ้าชายแอนดรูบอกว่าจำเวอร์จิเนียไม่ได้ และรูปถ่ายนั้นเป็นรูปตัดต่อ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 เอมิลี เมตลีสจากสถานีโทรทัศน์ BBC สัมภาษณ์เจ้าชายแอนดรูที่พระราชวังบัคมิงแฮม ในโอกาสนั้นเจ้าฟ้าชายแอนดรูบอกว่าการที่ได้รู้จักกับเอปสไตน์นั้น "มีประโยชน์มาก"

 

 แม้ตอนนั้นเอปสไตน์ถูกศาลตัดสินว่าล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์ไปแล้ว เจ้าฟ้าชายแอนดรูเล่าว่าได้ไปพักที่คฤหาสน์ของเอปสไตน์ 3 วันเพื่อบอกตัดความสัมพันธ์ เพราะเป็นเรื่อง "ที่ทรงเกียรติและถูกต้องที่ทำเช่นนั้น" หลังการให้สัมภาษณ์ มีปฏิกิริยาทางลบทั้งจากสื่อมวลชนและสาธารณชน

 

ปฏิกิริยาจากพระราชวังบัคมิงแฮมก็ไม่รอช้า ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2019 ราชวังประกาศว่าเจ้าชายแอนดรูได้พ้นจากหน้าที่สาธารณะทั้งหมดชั่วคราว เวอร์จิเนียบอกว่าเธอจะใช้บทให้สัมภาษณ์ BBC ของเจ้าชายเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งในการฟ้อง

 

ในเดือนพฤษภาคมปีถัดมา เจ้าชายแอนดรูได้ลาออกจากหน้าที่ทั้งหมดเป็นการถาวร ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 ทนายของทั้งโจทย์และจำเลยในคดีระหว่างเจ้าชายแอนดรูกับเวอร์จิเนียมีหนังสือแจ้งผู้พิพากษาว่า ได้มีการตกลงยอมความกัน

 

ต่อมามีข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าจำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทย์ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ เป็นไปได้ว่าบทสัมภาษณ์ที่เจ้าชายพยายามแก้ต่างให้ตัวเองนั้นได้กลับมามัดพระองค์เอง


ขอกลับมาที่เรื่องแรงจูงใจใฝ่แสดงอำนาจของผู้ข่มขืนอีกสักเล็กน้อย แน่นอนว่าแรงขับทางเพศก็เป็นแรงจูงใจเช่นกัน แต่น่าสังเกตจากการสัมภาษณ์เหยื่อการข่มขืนหลายราย ปรากฏว่าชายที่ข่มขืนประมาณ 40 % กลับออกอาการหย่อนสมรรถนะทางเพศระหว่างกระทำการ

 

จากการสัมภาษณ์นักโทษคดีข่มขืนจำนวนหนึ่งในเรือนจำ ดูเหมือนว่าความอยากครอบงำและการเหยียดหยามจะเป็นแรงจูงใจสำคัญ ความต้องการมีอำนาจหมายรวมถึงการควบคุม การสร้างความประทับใจ และการได้รับการยอมรับในความเก่งกาจ ร่างกายของผู้ใช้อำนาจเหนือจะปล่อยฮอร์โมนเตสโตสเตโรนออกมา ทำให้คึกคักและมักไม่เห็นอกเห็นใจในความทุกข์ยากของผู้อื่น มองเหยื่อแบบเป็นปฏิปักษ์ด้วยซ้ำ     

 

ผู้ข่มขืนอาจแสดงพฤติกรรมความโกรธ และนอกเหนือจากความพอใจในเรื่องเพศแล้ว เขายังชอบเห็นสัญญาณความตกใจ ความกลัวและการยอมจำนนของเหยื่อด้วย  

 

มีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของนักข่มขืนต่อเนื่อง (serial rapist) หมายถึงผู้ข่มขืนหลายคนในช่วงเวลาหลายปี คำภาษาอังกฤษว่า "serial" นั้น มักใช้กับอาชญากรต่อเนื่อง แต่มีผู้สังเกตว่า อาชญากรต่อเนื่องมักโหดร้ายทารุณกับเหยื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้สังเกตพฤติกรรมเช่นนี้ในหมู่นักข่มขืนต่อเนื่อง

 

อาจเป็นได้ว่าเมื่อสำเร็จความใคร่แล้ว แรงจูงใจใฝ่อำนาจพลอยลดลงไปด้วย สำเร็จแล้วก็หันมามีพฤติกรรมข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง หรือใช้ภาพที่ถ่ายไว้เพื่อให้อายหรือให้เห็นเป็นว่าเหยื่อพอใจที่ถูกกระทำ ฯลฯ


คำถามที่ควรหาคำตอบต่อไปคือ ทำไมถึงทำแบบต่อเนื่อง ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องความผิดปกติทางจิต ในขั้นต้นอาจมองว่าเป็นเรื่องจิตวิทยาธรรมดาตามทฤษฎี conditioning ของ Pavlov คือหลังจากการล่วงละเมิดผู้หญิงสองสามคน ได้รับความพอใจ ไม่เห็นปัญหา ไม่มีการเสียชื่อเสียง ไม่มีภัย ไม่ถูกตั้งข้อหา ฯลฯ ทำให้ติดใจและมองหาโอกาส ยิ่งทำยิ่งภูมิใจในความสามารถในการควบคุมและการขู่บังคับของตน

 

อย่างไรก็ดี เมื่อทำต่อเนื่องหลายครั้งเข้า ทุกอย่างอาจไม่เป็นไปตามใจปรารถนา อาจเริ่มใช้ยาเพื่อมอมเมาผู้เป็นเหยื่อ หรือพยายามกลบเกลื่อนให้แนบเนียนขึ้น ให้ยืนหยัดในสังคมได้ต่อไป 


แต่เมื่อความแตก การแก้ตัวผ่านสื่อสาธารณะมักไม่ช่วย (ดูตัวอย่างของเจ้าชายแอนดรู) การให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

 

ผมนึกถึงกรณีของไทเกอร์ วูดส์ ผู้เคยเป็นนักกอลฟ์อันดับหนึ่งของโลก แต่แล้วก็หลุดหายไปจากวงการในชั่วเวลาหนึ่ง เหตุเพราะการหย่าร้างกับภรรยาทำให้จิตตกและฝีมือก็ตกไปด้วย ภรรยาขอหย่าเพราะเขาไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน เรียกว่า "ติดเซ็กซ์" ก็ว่าได้ เขาจึงเข้ารับการบำบัดที่ศูนย์แห่งหนึ่งในมลรัฐมิสซิสซีปี และต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 18 สัปดาห์ ไม่ให้มีอารมณ์ตื่นเต้น แม้ว่าออกจากศูนย์ไปแล้ว ก็ยังห้ามมีเซ็กซ์ต่ออีก 90 วัน มีข่าวว่าเขาได้ไปรักษาตัวที่ประเทศแอฟริกาใต้ด้วย


ไม่ทราบว่าผู้ข่มขืนต่อเนื่องจะยอมรับว่าตนเองมีปัญหาทางจิตหรือไม่ เขาต้องการการบำบัดทางจิตและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครอบครัวหรือไม่ การรับโทษเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การรับโทษอาจไม่ช่วยบำบัดจากอารมณ์ตื่นเต้นของการมีเซ็กซ์ด้วยการขืนใจผู้อื่น ถ้าเป็นไปได้ในระหว่างการรับโทษก็ควรมีการบำบัดไปด้วย เพื่อคืนคนใหม่ที่หายขาดจากนิสัยเดิมสู่สังคม ทั้งนี้ตามแนวคิดที่ว่า เรือนจำไม่น่าจะเป็นการลงราชทัณฑ์เสียทีเดียว แต่ควรเป็นสถานที่เปลี่ยนนิสัย (corrections) ไปในตัว


ในกรณีของเจ้าชายแอนดรู ผมขอชื่นชมเวอร์จิเนีย ที่ยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเงินของเอปสไตน์ และต่อสู้กับอำนาจราชศักดิ์เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ตนเองและผู้หญิงทั้งหลาย ยังการเคลื่อนไหวอีกแบบหนึ่งที่ช่วยปกป้องสตรีจากการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืน นั่นคือขบวนการ  "ฉันด้วย" หรือ me too ที่ปลุกผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดให้มาเปิดโปงพฤติกรรมของผู้ล่วงเกินเธอ

 

ขบวนการนี้เริ่มจากการเปิดโปงผู้มีอิทธิพลในวงการบันเทิง ที่ล่วงละเมิดผู้มาใหม่ที่มาขอพื้นที่ในวงการนี้ จัดได้ว่าเป็นการ "ข่มขืนโดยใช้อำนาจหน้าที่" โดยใช้อำนาจเหนือเพื่อบังคับให้เหยื่อจำยอมถูกละเมิด การข่มขืนโดยใช้อำนาจหน้าที่นั้นไม่ใช่มีเฉพาะวงการบันเทิง

 

เราก็ได้ยินข่าวบ่อย ๆ จากวงการอื่น เช่น วงการการศึกษา ที่ครูบาอาจารย์ใช้อำนาจเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของตน ขบวนการ “ฉันด้วย” ช่วยให้ผู้หญิงที่ถูกละเมิด โดยเฉพาะในกรณีการละเมิดต่อเนื่อง (serial abuse) ได้รวบรวมความกล้า ยอมรับความอับอาย เพื่อตอบโต้ผู้ที่ทำร้ายเธอทั้งทางกายและจิตใจ อันที่จริงเธอไม่ควรอาย ผู้ที่ควรอายคือผู้ละเมิด ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิด


ข่าวการละเมิดทางเพศที่อึกทึกคึกโครมในขณะนี้ ได้ปลุกผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามผู้ละเมิดและป้องกันการละเมิดให้ออกมาอาสาช่วยแก้ปัญหานี้

 

ยิ่งในช่วงการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่า กทม. ด้วยแล้ว เราคงได้รับทราบว่า ว่าที่ "ท่านผู้ว่า" คนใดมีนโยบายอย่างไรให้ กทม. เป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยทั่วไป และปลอดภัยจากการถูกละเมิดทางเพศด้วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม.

 

รอฟังนโยบายที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ของว่าที่ "ท่านผู้ว่า" อยู่

logoline