svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

เสียหน้าหรือเสียฟอร์ม เมื่อบางพรรคไม่ส่งชิงชัย "เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม."

17 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สิ่งหนึ่งที่น่ามองไปลึกๆ ทำไมพรรคการเมืองจึงเลือกส่งผู้สมัคร  บางพรรคไม่ส่ง แต่หนุนผู้สมัครอิสระแทน มีเหตุผลอะไรหมกไว้ในการตัดสินใจเหล่านั้น ติดตามได้จากเจาะประเด็น โดย เมฆาในวายุ

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ (เดือนพ.ค.2565)  ประมุขเสาชิงช้าคนใหม่จะเป็นคนที่ 17 (คนที่1-9 มาจากการแต่งตั้ง คนที่10เป็นต้นไปมาจากการเลือกตั้ง เว้นคนที่ 16 (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่มาจากการแต่งตั้งจากคสช.เมื่อปี2559))   

 

เป็นเหมือนแทบทุกครั้งมี "ผู้สมัครอิสระ-ผู้สมัครสังกัดพรรค-ผู้สมัครหน้าใหม่"อาสา อีกนัยยะของสนามนี้สำหรับคนการเมืองบางคน คือ"บางคนลองวิชา-บางคนหวังเข้าป้ายทันควัน-บางคนวัดกระแส"    

 

รวมทั้งมีการเลือกตั้งส.ก. ซึ่งเป็นหนึ่งในแขนขาการทำงานของผู้ว่าฯกทม. ทำนองเดียวกัน ยังเป็นหนึ่งในแขนขางานการเมืองสำหรับว่าที่ผู้สมัครส.ส.เมืองหลวงงวดหน้า

 

หมายความว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.งวดนี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และผู้สมัครส.ก.จะต้องเดินสายหาเสียงพ่วงกันหรือบางคนอาจหาเสียงไขว้กัน (เพื่อแลกคะแนนเสียงซึ่งกันและกัน)

 

พิจารณาเชิงลึก  การเมืองไทยในสนามเมืองหลวง "บริบทในแต่ละครั้ง แปรไปได้หลายเหตุผล" ส่งผลให้แกนนำของแต่ละพรรคชั่งใจสำหรับกระแสการเมืองที่มีผลในตอนนี้-อนาคตที่เป็นรอยต่อทางการเมือง

 

เมื่อพิจารณาจากรายชื่อว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ พบว่า  การสวมเสื้อพรรคอย่างเป็นทางการ ณ ขณะนี้ มีเพียง"วิโรจน์   ลักขณาอดิศร อดีตส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล  สุชัชวีร์   สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์

 

ดร.เอ้  สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์  ผู้สมัครชิงชัยเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จากพรรคประชาธิปัตย์

 

แน่นอนแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯเมืองกรุง แต่จะส่งผู้สมัครส.ก.ในนามพรรคแทน

 

นอกนั้นสวมเสื้อผู้สมัครอิสระ เช่น "รสนา โตสิตระกูล"  อดีตส.ว.กทม. สกลธี ภัทธิยะกุล อดีตรองผู้ว่าฯกทม.และอดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ   ชัชชาติ   สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคมและอดีตแคนดิเดตชิงนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ลงสมัครอิสระ  เพราะรู้ว่ากระแสพรรคเพื่อไทยในเมืองหลวงนั้นลบมากกว่าบวก

 

ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระ

รอลุ้นว่าใครจะสวมเสื้อพรรคหรือลงสมัครอิสระเพิ่มเติมจากที่กล่าวข้างต้น  ไม่ว่าเป็น "พรรคกล้า -พรรคไทยสร้างไทย ที่ยังไม่เปิดเผยจะส่งหรือไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.  รวมถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ที่มีกลุ่มรักษ์กรุงเทพเป็นแบ็คอัพ จะลงประชันหรือไม่ซึ่งรายนี้มีโอกาสสูงที่จะสมัคร

 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.พรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม "มวยหลัก-มวยรอง"ที่พอมีราคาน่าจะเป็นรายชื่อข้างต้น นอกนั้นรอดูว่าใครจะมาลงสมัครแบบม้ามืดกันบ้างในอนาคตอันใกล้

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบัน

 

การเปิดชื่อลงสมัครมาก่อนหน้านี้ ก่อนรู้วันประกาศวันเลือกตั้งหลายเดือนด้วยซ้ำ  จึงทำให้หลายคนพอรู้คำตอบแล้วว่า"ใครเป็นใคร อยู่ขั้วไหน"และ"ใครมีพรรค-กลุ่มการเมืองใดเป็นกองหนุน"และ"ใครมีโอกาสเข้าวิน"

 

แต่ก็กลับมาตั้งคำถาม ทำไมพรรคการเมืองจึงเลือกส่งผู้สมัคร  บางพรรคไม่ส่งแต่หนุนผู้สมัครอิสระแทน  มีเหตุผลอะไรหมกไว้ในการตัดสินใจเหล่านั้นบ้าง

 

บางพรรคมีบทเรียนสำหรับสนามนี้ เพราะไม่เคยสมหวังเลย (พรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย) บางพรรคก็เคยแพ้-ชนะสลับกันไป(พรรคประชาธิปัตย์-พรรคพลังธรรมในอดีต) 

 

ครั้งหนึ่ง"พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ" เคยสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยลงแข่งขันแต่พ่าย"มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร" จากพรรคประชาธิปัตย์  คราวนั้นว่ากันว่า ตัวแทนพรรคเพื่อไทยรายนี้มีโอกาสเข้าวินเป็นครั้งแรก แต่มาพ่ายกระแส"ไม่เลือกเรา เขามาแน่" ในช่วงโค้งสุดท้าย

 

หรือกรณี "ประภัสร์ จงสงวน" เคยเป็นตัวแทนพรรคพลังประชาชนลงชิงตำแหน่ง ปรากฎผล พ่ายแพ้"อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่ลงป้องกันตำแหน่งสมัยที่สองและเป็นตัวแทนจากพรรคสีฟ้า

 

ยุคหนึ่ง "ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์" เคยเป็นตัวเต็งของพรรคไทยรักไทยลงแข่งขัน แต่เจ้าตัวปฏิเสธ"ทักษิณ ชินวัตร" ที่ไปทาบทามอดีตรองนายกรัฐมนตรีคนนี้ด้วยตัวเองมาแล้ว ทำให้"ทักษิณ"ต้องบอกแก้เก้อว่าพรรคไทยรักไทยไม่แข่งขันสนามท้องถิ่น(แต่ความจริงหลายจังหวัดคนในสังกัดทรท.ก็ลงแข่งขันนายกอบจ.) สนามใหญ่เท่านั้น ทำให้ ทักษิณ  หันไปสนับสนุน "ปวีณา  หงสกุล" ที่ลงสมัครแบบอิสระครั้งที่สอง ผลปรากฎว่า เจ๊ปิ๊กพ่าย"อภิรักษ์ โกษะโยธิน" จากพรรคประชาธิปัตย์  โดยมีคนดังการเมือง เช่น "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง"   "ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์"   แต่งตัวเข้าแข่งขันด้วย

 

แม้แต่ "คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธ์" เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.แข่งขันกับ"สมัคร  สุนทรเวช" ผลปรากฏว่า"เจ๊หน่อ" ยพ่ายไป   รู้ๆกันอยู่ว่า "เจ๊หน่อย"ไขก๊อกตำแหน่งส.ส.จากพรรคพลังธรรม มาตั้งกลุ่มการเมืองที่เป็นนอมินีของพรรคทรท.จางๆ  ลงสนามวัดเรตติ้ง เพื่อกำหนดจุดยืนทางการเมืองของทักษิณที่แยกตัวมาเตรียมตั้งพรรคของตัวเองก่อนหน้านี้แล้ว และตอนนั้น"ธวัชชัย  สัจจกุล"เคยใส่เสื้อสีฟ้าลงแข่งขันแต่คะแนนพ่ายยับ

 

ช่วงเวลาหนึ่ง "ดร.พิจิตต  รัตตกุล" เคยลงสมัครสนามพ่อเมืองหลวงสามครั้ง  สองครั้งแรกพ่ายไป ครั้งที่สามสมหวังกับกลุ่มมดงาน โดยชนะอดีตผู้ว่าฯกทม.พรรคพลังธรรมที่ชื่อ"ร.ต.อ.กฤษฏา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา"ไปได้

 

อย่าลืมว่าครั้งหนึ่ง"พล.ต.จำลอง  ศรีเมือง"เคยสมัครในนามกลุ่มรวมพลัง (ต้นกำเนิดพรรคพลังธรรม)เบียด"ชนะ รุ่งแสง"จากพรรคประชาธิปัตย์ลงได้ (การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรก)

 

ประวัติศาสตร์ข้างต้นสำหรับการชิงเก้าอี้ประมุขเสาชิงช้า น่าจะตีความได้ในชั้นนี้ว่า"แต่ละยุคสมัย ชาวกทม.สามารถตัดสินใจว่าครั้งนี้จะเลือกคนหรือเลือกพรรค หรือเลือกทั้งคนทั้งพรรค  หรือ เลือกผู้สมัครอิสระ(ที่มีบางพรรคหนุนหลัง) ตามกระแสนิยมการเมืองในช่วงนั้นที่พอจะยึดโยงสนามใหญ่ในยามหน้าได้ชั้นหนึ่ง

 

และชาวเมืองหลวงยังมองไปยังนโยบายที่ผู้สมัครแต่ละคนแสดงวิสัยทัศน์ว่าชาวกรุงจะได้อะไรกลับคืน หากไว้วางใจผู้สมัครคนนั้นๆบริหารเมืองหลวง

 

....ตรงนี้คือคำตอบ....
 

logoline