svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อะไรคือความน่าสงสัยในการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้

10 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีเรื่องราวมากมายเหลือเกินก่อนการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2567 จะมาถึง ไม่ว่าจะ กติกาที่แสนจะซับซ้อน สัดส่วนการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชน หรือแม้แต่การที่ ส.ว. จะแนะนำตัวกับประชาชนทั่วไปก็ดูจะมีข้อบังคับที่คลุมเครือ

การเมืองไทยในรอบสองทศวรรษมานี้ หนึ่งในความขัดแย้งและยังยากต่อการหาจุดลงตัว คือ กระบวนการการได้มาซึ่งวุฒิสภา ทั้งนี้ วุฒิสภาตกอยู่ในความสนใจของคนในสังคมนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเป็นครั้งแรก จากเดิมที่จะใช้รูปแบบของการสรรหาเป็นหลัก

วุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ได้รับการยกย่องมาเป็นวุฒิสภาของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่ภายใต้เสียงสรรเสริญก็เริ่มความไม่ปกติเกิดขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะความสัมพันธ์ส่วนบุคคล แต่ปัจจัยหนึ่งที่เปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูกวุฒิสภาได้นั้นคงหนีไม่พ้นตัวระบบเลือกตั้งเอง ที่เป็นตัวบีบให้ผู้สมัคร ส.ว. ต้องเข้าหานักการเมืองเพื่อหวังคะแนนเสียง และเมื่อได้เข้าในวุฒิสภาแล้วคนนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับร่างทรงของนักการเมือง เราจึงเห็นได้ช่วงหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาตั้งฉายาว่า 'ทาส' เพื่อสะท้อนการทำงานของ ส.ว. ในเวลานั้น

รูปแบบของการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลังจากเกิดการรัฐประหาร ซึ่งได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ออกแบบให้ ส.ว. มาจากแม่น้ำสองสาย ระหว่างการสรรหาและการเลือกตั้ง คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็หวังว่าจะช่วยสร้างสมดุลที่ดีอย่างน้อย ส.ว. ก็ไม่ได้แอบอิงการเมืองไปเสียทั้งหมด รวมทั้งยังพอมีจุดเชื่อมโยงระหว่าง ส.ว. กับประชาชนอยู่บ้าง 
 

แต่เอาเข้าจริง วุฒิสภารูปแบบผสมผสานนี้ที่คิดว่าดี กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เมื่อเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกอย่างรุนแรงผ่านการเรียกตัวเองว่า ส.ว. เลือกตั้ง กับ ส.ว. สรรหา ประหนึ่งเป็นการแบ่งฝ่ายในสภาผู้แทนราษฎรที่มี ส.ส. รัฐบาล และ ส.ส. ฝ่ายค้าน ความอลหม่านของ ส.ว. ที่มีที่มาแตกต่างกัน จึงกลายเป็นขมิ้นกับปูนที่แทบทำงานใหญ่ร่วมกันไม่ได้ สะท้อนให้เห็นจากฉายา 'สองก๊กพกมีดสั้น' ที่ผู้สื่อข่าวรัฐสภามอบให้

 

รธน. ฉบับปราบโกงกับการออกแบบ ส.ว.

มาถึงการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี 'มีชัย ฤชุพันธุ์' เป็นประธาน ก็พยายามจะหาสมดุลให้กับกระบวนการในการได้มาซึ่ง ส.ว. เช่นกัน จนกลายเป็นที่มาของการแบ่งกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม พร้อมกับให้มีการเลือกกันเองในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ

เหตุผลของการออกแบบเช่นนี้อาจารย์มีชัยเคยอธิบายต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... ตอนหนึ่งว่า "เหตุที่แบ่งกลุ่มให้มาก เพราะวัตถุประสงค์ในการที่จะให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภานั้น ต้องการให้ประชาชนทุกอาชีพ ทุกคุณลักษณะและทั่วประเทศมีส่วนในการใช้สิทธิทางการเมืองนี้โดยถ้วนหน้ากัน..." 
 

"...ประเด็นเรื่องวิธีการเลือก กรณีให้ประชาชนมาสมัครแล้วมาเลือกจะมีช่องทางในการทุจริตหรือสมยอมกันได้ง่ายหรือไม่นั้น ได้พยายามคิดวิธีการต่างๆ เพื่อไม่ให้สมยอมกันได้ง่าย โดยใช้วิธีจับสลาก วิธีไขว้ วิธีเลือกจำกัดจำนวนเพื่อที่จะให้แตกกระจายออกไป ซึ่งหากสมยอมกันก็จะสมยอมกันไม่ได้ตลอด" ส่วนหนึ่งในการอภิปรายของอาจารย์มีชัย

แม้จะเป็นไปด้วยความประสงค์ดีก็ตาม แต่ปรากฏว่ากติกาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว กำลังสร้างความคลุมเครือที่อาจทำให้การเลือก ส.ว. ในครั้งนี้ถูกตีกรอบถึงขั้นกลายเป็นแดนสนธยาที่ประชาชนยากต่อการเข้าถึงและเข้าไปมีส่วนร่วมตามหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย รวมไปถึงการส่งผลให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่วุฒิสภากลายเป็นหนึ่งในต้นเหตุของวิกฤตการเมืองอีกครั้ง

เรื่องแรกที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด คือ การบล็อกโหวต โดยตอนนี้เริ่มมีการมองว่ารูปแบบการเลือกไขว้และการแบ่งกลุ่มอาชีพ อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งมาพูดกัน เพราะเมื่อครั้งที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 บรรดาสมาชิกสนช. หลายคนที่เป็น ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลในปัจจุบันก็ได้เคยอภิปรายโต้เถียงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น 'กล้านรงค์ จันทิก' สมาชิก สนช. ในเวลานั้นที่ปัจจุบันเป็น ส.ว. ได้อภิปรายว่า "จังหวัดในประเทศไทยมีจำนวนอำเภอแตกต่างกันและปัจจุบันพรรคการเมืองต่างๆ มีผู้แทนพรรคและมีความสามารถในการควบคุมฐานเสียงในอำเภอต่างๆ ประกอบกับ ผู้ลงสมัครรับเลือกคงมิใช่ประชาชนทั่วไป แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในการสมัคร ซึ่งกระบวนการเลือกนี้ มีข้อสังเกตว่ายังทำให้เกิดการบล็อกโหวตและการซื้อได้ง่าย ดังเช่นตัวอย่าง สมัยการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งเลือกกันเองจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549" 

หรือจะเป็นการอภิปรายท้วงติงในทำนองเดียวกันของ 'สมชาย แสวงการ' สมาชิกสนช.หลายสมัยที่ยังคงเป็น ส.ว.จนถึงทุกวันนี้ โดยระบุว่า "คาดว่าจะนำไปสู่การที่พรรคการเมืองจะส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ มีศักยภาพในการส่งคนจำนวน 100-300 คนลงสมัครรับเลือกและควบคุมการเลือกได้ตั้งแต่ระดับอำเภอ ภายใต้งบประมาณจำนวน 5,000 ล้านบาท" 

อะไรคือความน่าสงสัยในการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้

 

กติกาจุกจิก-คลุมเครือ-ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

จากกฎหมายแม่บทเกี่ยวกับการเลือก ส.ว. ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงว่า ส.ว. จะขาดความเป็นกลางเพราะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กฎหมายลำดับรองลงมา ได้กำหนดกติกาที่ตึงกับผู้สมัคร ส.ว. จนนำมาสู่ความไม่ชัดเจนและเกิดความคลุมเครือในการตีความให้คุณหรือให้โทษ ซึ่งจะนำไปสู่ทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของประชาธิปไตย โดยพอที่จะสรุปถึงปัญหาของกติกาในการได้มาซึ่ง ส.ว. พอสังเขปได้ดังนี้ 

1. ความเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยของ ส.ว. เป็นคำถามตัวใหญ่ที่หลายฝ่ายกำลังสงสัย เนื่องจากการแบ่งกลุ่มอาชีพจำนวน 20 กลุ่มตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ นั้นแอบแฝงถึงความไม่เป็นธรรมพอสมควร เช่น มาตรา 11 (8) ที่ไปกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดลอม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน มารวมไว้ในกลุ่มด้วยกัน หรือเรียกอีกอย่าง คือ การจับเอ็นจีโอกับนายทุนมาไว้รวมกัน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วนายทุนถือเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจมากกว่า และหากนายทุนลงมาสมัครเป็นจำนวนมาก ก็เป็นไปได้ที่จะได้ ส.ว.จากกลุ่มอาชีพตามมาตรานี้จากนายทุนมากที่สุด เพราะพวกนายทุนย่อมต้องเลือกคนในแวดวงเดียวกัน โดยเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญไม่แพ้กับการพยายามแทรกแซงของฝ่ายการเมือง

2. ความหยุมหยิมของ กกต. ที่กระทบต่อหลักประชาธิปไตย เมื่อไม่นานมานี้ กกต. ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ซึ่งมีข้อห้ามหลายประการที่จะบังคับใช้กับผู้สมัคร ส.ว. ทันทีนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก ส.ว. มีผลบังคับใช้ เช่น การห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ว. สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น

ไม่ต่างกับกรณีห้ามไม่ให้ผู้ประกอบอาชีพทางสื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว ก็เป็นประเด็นที่คลุมเครือเช่นกัน เพราะหมายความว่าถ้าผู้ประกอบอาชีพสื่อสารมวลชนลงสมัคร ส.ว. แล้ว เท่ากับว่าต้องพ้นจากวิชาชีพของตัวเองมาก่อนหรือไม่ ซึ่งหากต้องละทิ้งอาชีพของตัวเองเพื่อมาสมัคร ส.ว. จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือไม่ 

ประเด็นเหล่านี้ กกต. ก็ยังไม่ได้ให้ความกระจ่างมากนัก นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการห้ามไม่ให้แจกเอกสารแนะนำตัวในที่สาธารณะ เท่ากับว่าจะมีแต่เฉพาะผู้สมัครด้วยกันเท่านั้นที่จะรู้ว่าใครเป็นใครในการสมัคร ส.ว. รอบนี้ ก่อให้เกิดคำถามในเชิงหลักการการเลือก ส.ว. แม้กฎหมายจะกำหนดให้เฉพาะผู้สมัคร ส.ว. เท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนนหรือเป็น Voter แต่ประชาชนคนนอกที่มอบอำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติให้กับ ส.ว. กลับไม่มีสิทธิรู้จักที่มาที่ไปของผู้สมัคร ส.ว. เลย

เมื่อการออกแบบวุฒิสภาเกิดขึ้นมาจากความหวาดระแวง ความกลัวฝ่ายการเมืองมากเกินไป จนทำให้ไม่กล้าที่จะไว้ใจประชาชน จึงเป็นสาเหตุให้ที่สุดการเลือก ส.ว. ครั้งนี้ถูกจำกัดวงและถูกเล่นแร่แปรธาตุด้วยกฎหมาย นำมาซึ่งการสร้างดินสนธยาขึ้นมาอย่างที่เห็น แล้วแบบนี้จะเรียก ส.ว. ชุดต่อไปว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้อย่างไร 
 

logoline