svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ คน 14 ตุลาฯ ที่เดินเข้าเจรจารัฐบาลเคียงข้างแกนนำ

14 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ คือคนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาคือคนที่เข้าเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาข้อตกลงและยุติการชุมนุม ทว่าผ่านไป 40 ปี สมบัติคือหนึ่งในคนที่ขึ้นเวทีปราศรัยกปปส.

14 ตุลาคม 2566 ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองเดือนตุลาคม เนื่องจากครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการต่อสู้เพียงไม่กี่ครั้งที่ประชาชนเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง และนำไปสู่การเริ่มต้นของการวางอิฐก้อนแรกเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย 

เหตุการณ์เมื่อ 50 ปีที่แล้วมีบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่บุคคลที่มักจะถูกเล่าขานในกระแสหลักมีเพียงไม่กี่คน เช่น ธีรยุทธ บุญมี และ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ค่อยถูกเล่าขานมากนัก หนึ่งในนั้น คือ ‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว อาจารย์สมบัติที่เวลานั้นเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสขึ้นมาต่อสู้ทางการเมืองเคียงข้างกับ ธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตั้งแต่การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2515

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นนั้นมาจากสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยขาดดุลทางการค้ากับประเทศญี่ปุ่นติดต่อกันมาหลายปี ภายหลังญี่ปุ่นผลิตสินค้าแทนผู้ประกอบการไทยแทบทุกชนิด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ขบวนการนักศึกษาในการขับเคลื่อนประเด็นนี้เริ่มจากการเดินแจกแถลงการณ์และถือป้ายประท้วงสินค้าญี่ปุ่นบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น จนกลายเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและเป็นกระแสที่นำไปสู่การเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาในเวลาต่อมา
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

เหตุการณ์นั้น สมบัตินำขบวนประชาชนที่มีอุดมการณ์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเดินเข้าสู่ถนนราชดำเนิน เพื่อไปลานพระบรมรูปทรงม้า และปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ที่หน้าประตูสนามเสือป่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการคณะปฏิวัติ จึงอาจเรียกได้ว่าการเคลื่อนไหวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ในครั้งนั้นได้ทำให้ขบวนการนักศึกษาเป็นที่รู้จักของสังคมไทยมากขึ้น ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในเวลาต่อมา

‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ คน 14 ตุลาฯ ที่เดินเข้าเจรจารัฐบาลเคียงข้างแกนนำ

การเรียกร้องรัฐธรรมนูญกลายเป็นกระแสหลักที่ประชาชนให้ความสนใจมากขึ้น หลังจากตำรวจได้จับกุมนักศึกษา อาจารย์ สื่อมวลชน และนักการเมือง รวมกัน 13 คน ในข้อหามั่วสุมเกินห้าคน หนึ่งในนั้นมี ธีรยุทธ บุญมี รวมอยู่ด้วย อันเป็นจังหวะเดียวกับที่สมบัติได้ก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ และภารกิจแรกๆ ที่เลขาธิการคนใหม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้นำ คือ การเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คน อาจเรียกได้ว่าภาพที่มีประชาชนมาร่วมชุมนุมกันจำนวนมากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานภาคประชาสังคมอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ

กระแสกดดันรัฐบาลขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งมีการเปิดเจรจาระหว่างจอมพลประภาส จารุเสถียร กับตัวแทนนักศึกษา โดยมีสมบัติที่ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ร่วมวงเจรจาด้วย แต่การเจรจาไม่เป็นผล รัฐบาลไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องที่ให้ปล่อยตัวทั้ง 13 คนแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งสร้างความไม่พอใจแค่ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก จึงนำไปสู่การยกระดับในการชุมนุมไปถึงการเรียกร้องรัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพื่อนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย จากเดิมที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้ง 13 คนเท่านั้น 
‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ คน 14 ตุลาฯ ที่เดินเข้าเจรจารัฐบาลเคียงข้างแกนนำ

การชุมนุมที่นำโดยคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ 13 ตุลาคม 2516 ได้ตัดสินเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพื่อให้รัฐบาลตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และการเคลื่อนขบวนก็ไปถึงหน้าพระราชวังสวนจิตรลดารโหฐาน

‘สมบัติ’ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ พร้อมกับแกนนำนักศึกษา 8 คนได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาดุสิตดาลัย  และได้กราบบังคมทูลถึงเป้าหมายในการเรียกร้องของประชาชน ขณะนั้น ‘ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคนที่ได้เข้าไปเจรจากับตัวแทนรัฐบาลก่อนหน้านี้ ได้กราบบังคมทูลว่า รัฐบาลยินดีปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คน และขอเวลาร่างรัฐธรรมนูญ 1 ปี จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทให้แก่ผู้เข้าเฝ้า นำมาสู่การตัดสินของแกนนำนักศึกษาที่จะยอมรับข้อตกลงจากทางฝั่งรัฐบาลในที่สุด

‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ คน 14 ตุลาฯ ที่เดินเข้าเจรจารัฐบาลเคียงข้างแกนนำ

จากนั้น สมบัติ, ประสาร, และสมพงษ์ สระกวี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เตรียมเป็นตัวแทนเข้าไปทำสัญญากับรัฐบาลที่สวนรื่นฤดี และพยายามสื่อสารไปยังแกนนำที่ควบคุมการชุมนุมขอให้ลดการปลุกระดมลง เพื่อเตรียมยุติการชุมนุมหลังจากประกาศชัยชนะแล้ว 

แต่กระนั้นการชุมนุมที่คาดหมายว่าจะจบลงด้วยดี เพราะนักศึกษาได้บรรลุข้อเรียกร้อง สถานการณ์กลับตาลปัตรมากขึ้นไปอีก เพราะแม้คณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯประกาศยุติการชุมนุม และประชาชนที่มาชุมนุมก็เริ่มสลายตัวกันในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แต่ปรากฏว่ามีการปะทะกันกับตำรวจบริเวณสี่แยกดุสิต ทุกอย่างบานปลายจนกลายเป็นวันมหาวิปโยค นำมาสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา

 

ท่ามกลางสถานการณ์วุ่นวาย คณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ก็กระจัดกระจายเช่นกัน แต่หลังจากนายสัญญาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ‘สมบัติ’ พร้อมด้วยแกนนำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ที่ยังพอติดต่อกันได้อยู่ เข้าพบนายสัญญา เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ จากนั้นนายสมบัติ กล่าวปราศรัยผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ มีความตอนหนึ่งว่า “..เหตุการณ์วิปโยคที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้นำความเสียใจอย่างสุดซึ้งมาสู่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล เป็นเหตุการณ์ที่เราประชาชนชาวไทยต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยนั้นได้มาด้วยเลือด เพราะฉะนั้นขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งมวลได้ร่วมกันพิทักษ์รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ลูกไทยหลานไทยต่อไปจนชั่วนิรันดร์...”

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ‘สมบัติ’ พร้อมด้วยคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และตัดสินอุปสมบทเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ต่อมาจะได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ อีกครั้ง และได้กลายเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ สัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อให้รัฐบาลเข้าถึงปัญหาของประชาชน

จากนั้นไม่นาน ‘สมบัติ’ ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมืองในเลขาธิการพรรคไท โดยในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2518 พรรคไทได้ ส.ส. เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร จำนวนสี่คน อาจเรียกได้ว่าเป็นการทำงานการเมืองในระยะเวลาไม่นานเท่าใดนัก ก่อนผันตัวเข้ามาทำงานวิชาการและผลิตตำราสำหรับการเรียนการสอนในสาขารัฐศาสตร์จำนวนมาก 

ช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 2544-2549 ชื่อของ ‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ ได้กลับมาเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้นผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและอภิปรายการทำงานของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอย่างตรงไปตรงมา และภายหลังการรัฐประหาร 2549 ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสัดส่วนของภาควิชาการในฐานะเป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า 

จากปี 2516-2556 ผ่านไป 40 ปี ‘สมบัติ’ จับไมโครโฟนขึ้นเวทีไฮปาร์กอีกครั้ง แต่ครั่งนี้ไม่ได้เป็นการต่อต้านระบอบเผด็จการทหารเหมือนในอดีต เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปประเทศในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เคียงข้าง ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณและขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ คน 14 ตุลาฯ ที่เดินเข้าเจรจารัฐบาลเคียงข้างแกนนำ

วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาในเวลานั้น คือ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” โดยระหว่างการชุมนุมอาจารย์สมบัติ เคยปราศรัยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่าการต่อสู้กับระบอบทักษิณ เป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าระบอบทหาร  จึงมีความจำเป็นที่ต้องสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด

การชุมนุมของกปปส. ที่ยืดเยื้อและไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นตัดสินใจทำการรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเป็นอีกครั้งที่สมบัติเข้ามามีตำแหน่งหลังการรัฐประหาร

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกแบบการขับเคลื่อนและการปฏิรูปประเทศผ่านโมเดลที่เรียกว่า ‘แม่น้ำ 5 สาย’ ประกอบด้วย คสช. คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  โดยอาจารย์สมบัติได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และถูกเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง

อาจารย์สมบัติให้เหตุผลและความตั้งใจการเข้ามาในตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติว่าต้องการผลักดันแนวทางการปฎิรูปด้านการศึกษา เพื่อยกระดับให้การศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเข้ามาผลักดันและเสนอแนวทางการปฎิรูปทางด้านการเมืองโดยเฉพาะการทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริงปลอดจากนายทุน รวมทั้งการทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์

ตลอดการทำงานในนามประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง พยายามเสนอแนวคิด ‘การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง’ ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด แต่ข้อเสนอนี้ได้รับการปฏิเสธจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมองว่าหากนายกรัฐมนตรีมีที่มาตามข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้กลายเป็นซูเปอร์ประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม บทบาทในสภาของสมบัติก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อสภาปฎิรูปแห่งชาติ ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เสนอ มีผลให้สภาปฎิรูปแห่งชาติ ต้องสิ้นสุดลง นำมาซึ่งการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) แทน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ คน 14 ตุลาฯ ที่เดินเข้าเจรจารัฐบาลเคียงข้างแกนนำ

มติของสปช. ในครั้งนั้น ส่งผลให้สมบัติต้องกลับไปทำงานวิชาการเต็มตัวอีกครั้ง โดยเข้าไปทำหน้าที่ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง แต่ยังคงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพื่อแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองเป็นระยะ ซี่งครั้งหนึ่งยอมรับว่าไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และระบบเลือกตั้ง เพราะจะทำให้การเมืองไทยไม่มีอนาคต และที่สุดแล้วจะไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ

ผลจากการเป็นแกนนำกปปส. ทำให้ภายหลังสิ้นสุดการทำหน้าที่ในสภา สมบัติต้องต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมหลายข้อหา ไม่ว่าจะเป็น ความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ และ ความผิดฐานร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ศาลได้พิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2564 นับจากนั้นเป็นต้นมาอาจารย์สมบัติก็เงียบหายไปจากเวทีการเมือง เพื่อให้ความสำคัญกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษาต่อไปจนถึงปัจจุบัน
 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • การเมืองการปกครองไทย ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป, ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
  • ก่อนจะถึง 14 ตุลา, จรัล ดิษฐาอภิชัย 
  • https://prachatai.com/journal/2013/11/49957
  • https://d.dailynews.co.th/politics/273235/
  • https://mgronline.com/politics/detail/9570000146803
     
logoline