svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

หมอธีระวิเคราะห์โควิด-19 ในไทย คาดผู้ติดเชื้ออาจสูงถึง 1.8 หมื่นรายต่อวัน

จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุ คนเสียชีวิตในปี 2024 จากโควิด-19 หากไปดูในเว็บไซต์กรมควบคุมโรค จะพบว่าสถิติเสียชีวิตสะสมที่รายงานจนถึงสัปดาห์ล่าสุดนั้นอยู่ที่ 120 ราย

แต่พอไปดูรายละเอียดรายพื้นที่ จำแนกตามภูมิภาค จะพบว่าจำนวนรวมอยู่ที่ 122 ราย (อาจเป็นไปได้ว่า 2 รายที่ต่างกันนั้นเป็นผลจากวันเวลาที่เสียชีวิตก่อน 1 ม.ค. 2024)

  • เยอะสุดคือ กรุงเทพมหานคร 67 ราย
  • ภาคกลาง 20, ภาคอีสาน 17, ภาคเหนือ 11, และภาคใต้ 7

ในขณะที่ข้อมูลผู้เสียชีวิต จำแนกตามช่วงอายุนั้น มีแสดงเฉพาะสัปดาห์ล่าสุด 16 ราย โดยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13 ราย และอายุน้อยกว่า 60 ปี 3 ราย

หากจำกันได้ ช่วงปลายเมษายน เคยมีข่าวเกี่ยวกับลักษณะผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 148 ราย เป็นคนที่ "ไม่ใช่สูงอายุ" คือ 0-59 ปี มากถึง 55 ราย หรือคิดเป็น 37.1% นั่นคือกว่า 1 ใน 3 ซึ่งเป็นข้อมูลที่เน้นย้ำให้เราทราบว่า "ไม่ใช่สูงอายุ" ก็ควรป้องกันตัวให้ดี

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์การระบาดของไทย รศ.นพ.ธีระ เผยว่า พบผู้ป่วยติดโควิดกันเยอะต่อเนื่อง สัปดาห์ล่าสุด 12-18 พฤษภาคม 2024 จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,882 ราย เสียชีวิต 16 ราย ปอดอักเสบ 679 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 281 ราย

หมอธีระวิเคราะห์โควิด-19 ในไทย คาดผู้ติดเชื้ออาจสูงถึง 1.8 หมื่นรายต่อวัน

  • ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลมากกว่าสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย และขึ้นต่อเนื่อง 10 สัปดาห์ติดต่อกัน
  • ผู้ป่วยปอดอักเสบ เพิ่มขึ้น 15.5% ขึ้นต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ ถือว่าสูงสุดในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่ 10 กันยายน 2565
  • ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้น 18.6% ขึ้นต่อเนื่อง 9 สัปดาห์ สูงสุดในรอบเกือบ 17 เดือน นับตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2565
  • ผู้ป่วยที่ผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้น 45.5% ขึ้นต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ สูงสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่ 8 กรกฎาคม 2566

พร้อมมีการคาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่ต่อวันอย่างน้อย 13,443-18,671 ราย

หากเทียบกับสัปดาห์ก่อนสงกรานต์ สัปดาห์ล่าสุดนี้ ป่วยนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า ในขณะที่ปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 3 เท่า และเสียชีวิตมากขึ้น 5.3 เท่า

ปัจจุบันโควิด-19 ระบาดมากจริงๆ ดังที่เราเห็นกันรอบตัว เปิดเทอมมีโอกาสมากขึ้นไปอีก ทั้งคนทำงาน นักเรียน นิสิตนักศึกษา และในครัวเรือน

สำหรับการลดระบาดจากโรงเรียนและสถานศึกษานั้น มี 2 เรื่องคือ

  1. สถานศึกษาควรเตรียมห้องเรียนแยกสำหรับเด็กที่มีอาการป่วย ระหว่างรอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน ไปพักรักษาตัว และวางแผนการเรียนออนไลน์ หรือบทเรียนเสริมเท่าที่เด็กสามารถทำได้ สำคัญคือดูแลสุขภาพ
  2. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรสังเกตอาการของลูกในแต่ละวัน ก่อนไปส่ง และหลังรับกลับจากโรงเรียน ส่วนเด็กโต นิสิต นักศึกษาก็ควรประเมินตนเอง หากมีอาการป่วย ควรตรวจ atk ถ้าติดเชื้อก็หยุดรักษาตัวเสียก่อน และระมัดระวังการแพร่เชื้อติดเชื้อกันในบ้านหรือหอพักด้วย

สำหรับประชาชนทั่วไป ช่วงนี้ติดกันเยอะมาก ควรใส่หน้ากากป้องกันตัว ระวังที่แออัด เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้านโดยไม่ได้ป้องกันตัว ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น และที่สำคัญคือ คอยสังเกตและรักษาระยะห่างจากคนที่มีอาการป่วย

หมอธีระวิเคราะห์โควิด-19 ในไทย คาดผู้ติดเชื้ออาจสูงถึง 1.8 หมื่นรายต่อวัน

โดยก่อนหน้านี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาด ณ ปัจจุบันแบบเปรียบเทียบว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการแข่งขันของ "FLiRTs"

  • ลูกหลาน JN.1 กำลังแย่งกันครองสัดส่วนการระบาด
  • KP.2 และ KP.3 ผลัดกันรุกผลัดกันรับ
  • ในขณะที่ JN.1.16.x นั้นรอเป็นตาอยู่ หากสองตัวพลาดท่า

การป้องกันตัว ใช้ชีวิตไม่ประมาท จะลดเสี่ยงลงไปได้มาก

สัจธรรมคือ เสี่ยงมาก ไม่ป้องกันตัว ยังไงก็เจอ ไม่ช้าก็เร็ว

ป้องกันไว้ก่อน ดีกว่ามาตามแก้ไขปัญหา