svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

คนรักอาคารสวยๆ ต้องไป 8 จุดเที่ยวปักกิ่งต้อนรับจีนฟรีวีซ่า

04 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในที่สุดเราคนไทยก็ได้ฟรีวีซ่าสู่ประเทศจีน นับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ไปเที่ยวเมืองแห่งมังกร ซึ่งแน่นอนว่ามีทีเที่ยวไม่น้อย แต่ถ้าจะไม่ให้ซ้ำใคร ขอแนะนำ 8 สถาปัตยกรรมน่าไปเยือนที่ทั้งสวย และน่าจะได้ประสบการณ์พร้อมรูปถ่ายดีๆ กลับบ้าน

ต้อนรับฟรีวีซ่า คอลัมน์ ‘CuriousCity’ จะชวนผู้อ่านเยี่ยมชมปักกิ่ง ไปดูอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่จัตุรัสเทียนอันเหมินหรือพระราชวังฤดูร้อน เพราะในทศวรรษที่ผ่านมา จีนค่อนข้างลงทุนด้านสถาปัตยกรรมจนหลายชิ้นกลายเป็นหมุดหมายที่เปลี่ยนโฉมหน้าอาคารไปจนถึงพื้นที่ด้านการออกแบบ รวมถึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความน่าสนใจและได้รับการจับตามองในระดับโลก

ในวันที่หลายท่านอาจกำลังดูตั๋วและวางแผนไปเยือนประเทศจีน เราขอพาทุกท่านเยี่ยมชมอาคารที่อาจใส่ไว้ในแผนการท่องเที่ยว จากสนามรังนกที่จันยังใช้งานต่อหลังจากการแข่งขันโอลิมปิก ห้องสมุดใหม่ล่าสุดที่พาเราไปอ่านหนังสือใต้ต้นแปะก๊วยยักษ์ ไปจนถึงห้องน้ำที่ออกแบบโดยคิดถึงแม่และเด็กโดยได้แรงบันดาลใจจากอะมีบา 

เราจะพาไปเยี่ยมชมเหล่าอาคารที่เป็นผลงานของสตูดิโอระดับโลกจาก ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) ถึงโซเนตตา (Snøhetta) ซึ่งแนวโน้มการออกแบบของจีนคือการเน้นรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมและใช้พลังสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติเพื่อตีความไปสู่สถาปัตยกรรมร่วมสมัย
 

Beijing National Stadium: พักหย่อนใจที่สนามรังนก

Beijing National Stadium

สนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่งเป็นอาคารที่โลกเรียกชื่อเล่นว่าสนามรังนก พื้นที่สนามกีฬาและพื้นที่รอบๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดโอลิมปิกในปี 2008 ความมหัศจรรย์ของสนามกีฬานี้คือการสร้างอาคารขนาดยักษ์ที่สานขึ้นด้วยโครงตาข่ายเหล็กและมีการออกแบบระบบคานที่ซ่อนโครงสร้างรับน้ำหนักไว้ ทำให้ตัวโครงเหล็กดูโปร่งเบาเหมือนกับรังนกจริงๆ

ตัวโปรเจกต์นอกจากจะได้สตูดิโอ Herzog & de Meuron เป็นสตูดิโอสถาปนิกหลักแล้ว ยังได้ อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) มาเป็นศิลปินที่ปรึกษาด้วย อนึ่งพื้นที่พัฒนาของสนามรังนกก็เจอปัญหาเหมือนกับการสร้างพื้นที่สนามกีฬาเพื่อโอลิมปิกอื่นๆ นั่นคือการใช้พื้นที่หลังจากแข่งขันจบลง ดังนั้นสำหรับสนามและอาคารรอบๆ เช่นสนามกีฬาทางน้ำ ทางจีนเองก็ได้เพิ่มพื้นที่หย่อนใจเช่นโรงแรมและพื้นที่จับจ่ายใช้สอย เปิดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นสนามกีฬาและพื้นที่หย่อนใจ ปัจจุบันพื้นที่สนามรังนกคือที่พื้นที่ที่ได้รับการตอบรับทั้งจากคนท้องที่และนักท่องเที่ยว
 

Sub-Center Library: อ่านหนังสือในห้องสมุดป่าแปะก๊วย

Beijing National Stadium

Sub-Center Library เป็นห้องสมุดใหม่ของปักกิ่งที่สร้างเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยและเพิ่งประกาศว่าสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ความพิเศษของห้องสมุดใหม่ของกรุงปักกิ่งคืองานออกแบบโดย Snøhetta สตูดิโอจากนอร์เวย์ผู้เชี่ยวชาญการจำลองความเป็นธรรมชาติสู่รูปทรงอาคารร่วมสมัยใหม่ ห้องสมุด Sub-Center Library ถ้าพูดอย่างโรแมนติกคือห้องสมุดป่าแปะก๊วย ซึ่งต้นแปะก๊วยเป็นตัวแทนของปัญญา เป็นการเชื่อมต่อจินตนาการพื้นที่แห่งความรู้ดั้งเดิมสู่ห้องสมุดร่วมสมัย

พื้นที่ของห้องสมุดของ Sub-Center Library นอกจากจะอ้างอิงป่าแห่งปัญญาและความรอบรู้เดิมแล้ว ตัวพื้นที่ยังเน้นการเปิดพื้นที่สาธารณะแห่งความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้วยเทคนิคการก่อสร้างทำให้ป่าแปะก๊วยเป็นอาคารที่โปร่งโล่ง มีเสาที่ผอมบางเหมือนลำต้นของต้นไม้ จำลองพื้นที่ธรรมชาติขึ้นผ่านเนินเขาภายในและเชื่อมต่อสายตาของผู้ใช้งานสู่พื้นที่สีเขียว—สวนสีเขียวที่ตั้งอยู่ภายนอกห้องสมุดแห่งนี้


Galaxy Soho: เดินเที่ยวในอาคารหน้าตาสุดล้ำ

Galaxy Soho

ซาฮา ฮาดิด เป็นอีกสตูดิโอเจ้าของเส้นสายที่พาเราไปยังโลกอื่น ออกแบบอาคารที่เหมือนหลุดออกมาจากนิยายไซไฟ ซึ่งซาฮาเองมีผลงานสำคัญในจีนทั้งในปักกิ่งและเมืองอื่นๆ หลายชิ้นงาน ที่ปักกิ่งกลุ่มอาคารสุดล้ำคือ Galaxy Soho อีกหนึ่งอาคารกลางกรุงปักกิ่งที่พาเราไปยังเส้นสายของสถาปัตยกรรมระดับโลกได้

เจ้า Galaxy Soho เป็นห้างยักษ์ที่ประกอบด้วยกลุ่มอาคารสำนักงานซึ่งเชื่อมต่อกันทั้งหมด โดยตัวอาคารแห่งนี้แม้จะหน้าตาล้ำสมัยตามสไตล์ซาฮา แต่จุดเด่นของอาคารคือการสืบทอดแนวคิดเรื่องลานบ้าน (Chinese courtyard) โดยออกแบบพื้นที่ตรงกลางที่แม้จะอยู่ในอาคารขนาดใหญ่ให้มีลักษณะต่อเนื่องและเชื่อมต่อกันตามแนวคิดสถาปัตยกรรมคลาสสิกของจีน


Chaoyang Park Plaza: เยี่ยมชมตึกแห่งอนาคตและลานขนาดยักษ์

Chaoyang Park Plaza

Chaoyang Park Plaza เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาที่นำเอาแนวคิดดั้งเดิมคือลานและสวนแบบจีนมาตีความและออกแบบเป็นตึกคู่กับลานขนาดยักษ์ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางของพื้นที่เมืองใหม่ ตัวจัตุรัสและอาคารที่เหมือนมาจากโลกอนาคตนี้ตั้งอยู่พื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง เป็นการขยายเมืองไปสู่ธรรมชาติและดึงธรรมชาติกลับเข้าสู่เมือง

ความเท่อย่างยิ่งของการพัฒนานี้นอกจากอาคารล้ำสมัยแล้ว ทีมได้ออกแบบลานด้านนอกโดยดึงเอาองค์ประกอบและรูปลักษณ์ให้ล้อไปกับภาพภูเขาดั้งเดิมในศิลปะจีนโบราณ นอกจากอาคารสีดำที่ตั้งใจออกแบบและใช้วัสดุที่ดูเรียบเนียนแปลกตา ทำให้บรรยากาศของอาคารและจัตุรัสล้ำยุคนี้ดูลึกลับแล้ว ลานที่อาคารตั้งอยู่ก็ตั้งใจออกแบบไปตามศิลปะและปรัชญาของจีน เป็นการรวมกันของฉากธรรมชาติเข้ากับสถาปัตยกรรม และทำให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นธรรมชาติ


Phoenix International Media Center: ทึ่งไปกับรังเหล็กของนกฟีนิกซ์

Phoenix International Media Center

นี่คือรังเหล็กของนกฟีนิกซ์ อีกหนึ่งอาคารที่พาจีนไปสู่พื้นที่ของสถาปัตยกรรมและความสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยุคสมัย ตัวอาคาร Phoenix International Media Center เป็นสตูดิโอของสถานีโทรทัศน์ ซึ่งจริงๆ ตึกที่เหมือนฝาชียุบนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนสาธารณะเจ้าหยาง ตัวอาคารเองก็เป็นอีกหนึ่งอาคารนวัตกรรมด้านวิศวกรรมเหล็กและงานโครงสร้างที่สำคัญมากอาคารหนึ่ง

ตัวอาคารถ้ามองจากด้านนอกจะมีรูปทรงเหมือนโดนัท ภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่หอคอยสองอาคารย่อย พื้นที่ผิวอาคารถูกคลุมด้วยเหล็กที่ออกแบบให้ถักเป็นทรงโค้งและกรุด้วยกระจกซึ่งนับเป็นการออกแบบโครงสร้างเหล็กที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากพื้นที่ด้านนอกที่ดูอ่อนนุ่มและยวบยาบอย่างประหลาดแล้ว พื้นที่ด้านในที่บางส่วนเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการนั้นก็ดูยิ่งใหญ่ เหล็กสีขาวที่พันเกลียวกันไปมาทำให้เกิดพื้นที่ที่ดูแปลกประหลาดและน่ามหัศจรรย์ 

อย่างไรก็ตามอาคารนี้อาจจะแปลกประหลาดเกินไป ในปี 2014 ประธานสี จิ้นผิง ถึงกับกล่าวว่าจีนจะต้องถึงยุคสิ้นสุดของสถาปัตยกรรมแบบแปลกๆ ซึ่งกลุ่มอาคารล้ำสมัยจนดูประหลาดของจีนสัมพันธ์กับการบูมขึ้นของนวัตกรรมและเทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่ในประเทศจีนเอง สิ่งที่น่าสนใจคือ สี จิ้นผิง พูดถึงการสร้างสถาปัตยกรรมโดยมีแกนกลางหรือแรงบันดาลใจที่ดี และพูดถึงนักคิดหรือศิลปินที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบสร้างสรรค์


Chapel of Sound: ฟังคอนเสิร์ตในวิหารหิน

Chapel of Sound

จากอาคารยักษ์ใหญ่ในจีน เราขอพาเดินทางออกจากตัวเมืองปักกิ่งเล็กน้อยมาสู่พื้นที่กลางหุบเขาที่มีการสร้าง ‘วิหารแห่งเสียง’ ไว้ โขดหินอันแปลกประหลาดนี้ตั้งอยู่ที่ตีนกำแพงเมืองจีนฝั่งทิศเหนือของกรุงปักกิ่ง เป็นพื้นที่การออกแบบที่แสนแปลกประหลาดแต่ก็งดงามในตัวเอง วิหารแห่งเสียงเป็นพื้นที่คอนเสิร์ตฮอลแบบกลางแจ้ง ไม่มีการติดตั้งระบบปรับอากาศ เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ขยายประสบการณ์การฟังและแสดงดนตรีที่ดึงเอาบรรยากาศและธรรมชาติของหุบผาภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีและสรรพเสียง ตามชื่อวิหารของเสียง ตัวอาคารแห่งนี้ตั้งใจสร้างพื้นที่ที่พาผู้คนไปสู่ความสงบ และไปสู่ดนตรีที่จมลงในพื้นที่ของความเป็นธรรมชาติโดยรอบ


YueCheng Courtyard Kindergarten: พบปะผู้คนบนสะพานสีส้ม

YueCheng Courtyard Kindergarten

YueCheng Courtyard Kindergarten เป็นพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ที่ปรับพื้นที่แบบดั้งเดิมคือลานแบบจีนให้กลายเป็นพื้นที่แห่งจินตนาการ และเป็นพื้นที่ที่รวมผู้คนทั้งผู้สูงอายุและเด็กๆ เข้าสู่พื้นที่ ชักชวนคนทุกวัยเข้าสู่แสงแดดและการพบปะกัน ตัวการพัฒนาเป็นการออกแบบโรงเรียนอนุบาลซึ่งตั้งอยู่ในโลเคชั่นที่แปลกประหลาดคือมีลานบ้านโบราณและมีอาคารพักอาศัยของผู้สูงอายุอยู่ในพื้นที่ ในการออกแบบทาง MAD Architects จึงไม่ได้แค่สร้างโรงเรียน แต่สร้างโรงเรียนที่มีลานลอยฟ้าสีส้มสดใสที่พลิ้วไหวเหมือนดาวอังคาร ตัวพื้นที่จะเป็นพื้นที่สนามเด็กเล่นของเด็กๆ เชื่อมต่อลานโบราณที่ตายไปแล้วให้กลับมามีชีวิต และเป็นลานที่จะพาผู้สูงอายุในบ้านพักให้ออกมาใช้เวลากลางแจ้ง

เจ้าทางเดินสีส้มตัวมันเองยังเป็นเหมือนหลังคา ถ้าเราดูการออกแบบ ตัวลานสีส้มที่เป็นเหมือนพื้นที่ใหม่นี้มีความมหัศจรรย์มาก บางมุมจะเชื่อมต่อและสัมพันธ์กับกลุ่มบ้านแบบจีน บางด้านปกคลุมไปด้วยต้นไม้ การออกแบบพื้นที่เน้นความเข้าใจบริบทและผู้ใช้งานคือผู้สูงอายุและเด็ก ดังนั้นการข้ามช่วงวัยและช่วงเวลาจึงเป็นหัวใจหนึ่ง เราจะเห็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความนุ่มนวลของไม้ เจือปนด้วยความเรียบง่ายทันสมัยของรูปทรงสมัยใหม่และกระจก หรือหลังคาสีส้มที่กลายเป็นลานก็เป็นเหมือนดินแดนในจินตนาการใหม่ที่จะพาทั้งเด็กๆ และผู้คนในย่านมาให้ออกมาใช้เวลาด้วยกัน


Sky Light Public Restroom: แวะเข้าห้องน้ำรูปทรงอะมีบา

Sky Light Public Restroom

โปรเจกต์สุดท้ายเป็นโปรเจกต์เล็กๆ ในสวนที่เป็นที่เที่ยวยอดนิยมของปักกิ่งคือ Moofland ตัวสวนเป็นที่เที่ยวที่น่าสนใจ ประกอบด้วยเนินที่มีจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ตลาดนัด นิทรรศการ การแสดงต่างๆ ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว (2023) ที่สวนมีการออกแบบและสร้างห้องน้ำหน้าตาแปลกประหลาดชื่อ Sky Light Public Restroom ตัวห้องน้ำหน้าตาเหมือนอะมีบา เป็นรูปทรงออร์แกนิกที่จริงๆ แล้วตัวห้องน้ำออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการอันหลากหลาย โดยเฉพาะความต้องการของคุณแม่ที่เดินทางมากับเด็กอ่อน และความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้หญิงที่มาใช้งานสวนและห้องน้ำ

จุดเด่นของตัวห้องน้ำคือตัวมันเองแทบจะไม่เหมือนห้องน้ำสาธารณะที่เรารู้จัก การออกแบบห้องน้ำมีกำแพงและเพดานที่สูง ออกแบบให้แสงธรรมชาติทอดเข้าสู่พื้นที่และใช้รูปลักษณ์ของอาคารที่มีความคดโค้งเหมือนกับเซลล์หรือรูปทรงที่เป็นองค์กระกอบของพื้นที่ธรรมชาติ จุดเด่นของห้องน้ำนี้จึงอยู่ที่ความโค้งที่กลายเป็นส่วนสำคัญของการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวภายในพื้นที่สาธารณะ เป็นห้องน้ำที่กระเปาะต่างๆ คือพื้นที่ใช้งานที่แยกพื้นที่ทำธุระส่วนตัวออกจากกันทั้งพื้นที่สุขารวมถึงการแบ่งพื้นที่อ่างล้างหน้า มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางเพียงพอสำหรับการทำธุระส่วนตัว เช่น การเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือดูแลทารก

ห้องน้ำแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งการใช้รูปทรงออร์แกนิก และการเปิดพื้นที่ห้องน้ำสู่พื้นที่ทางศิลปะและสถาปัตยกรรม สัมพันธ์กับบริบทของสวนสาธารณะร่วมสมัยที่ประกอบด้วยพื้นที่การออกแบบและพื้นที่กิจกรรมสันทนาการที่มีความหลากหลาย


 
ข้อมูลอ้างอิง

logoline