svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘มาราธอน’ การวิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวเรา แต่เปลี่ยนเมืองทั้งเมือง

19 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มันอาจจะเป็นวันที่ตื่นเช้าที่สุดของปี การวิ่งมาราธอนผลักให้เราออกไปก้าวเท้าท่ามกลางเมือง พาตัวเองไปออกกำลังเพื่อรอดูพระอาทิตย์ยามเช้า นอกจากจะส่งผลกับสุขภาพของเรา อีเวนต์วิ่งมาราธอนยังส่งผลกับภาพลักษณ์ของเมือง

11 ปีที่แล้วมีหนังไทยพูดถึงความพิเศษของการวิ่งมาราธอน การที่เรายอมลุกขึ้นแต่เข้า ฝึกฝนวิ่ง และสุดท้ายได้ลงสนามวิ่งจริงในวันงาน การวิ่งมาราธอนทำให้เราได้รับรู้เมืองในมุมใหม่ๆ เราได้วิ่งอยู่ท่ามกลางคนนับร้อยกลางสะพาน เช้าตรู่วันนั้น คงเป็นหนึ่งในไม่กี่โอกาสที่เราจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นบนสะพานพระราม 8 อย่างแช่มช้า 

งานวิ่งมาราธอน ถ้าเรามองย้อนไปที่ รัก 7 ปี ดี 7 หน ตอน 42.195 (พ.ศ.2555) หนังอันเป็นที่มาเรื่องพระอาทิตย์ขึ้นบนสะพานพระราม 8 มาราธอนนับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก เป็นกระแสกิจกรรมเพื่อสุขภาพทั้งในบ้านเราเองรวมไปถึงในระดับโลก และดูเหมือนว่างานมาราธอนก็ซบเซาลงไปจากโควิด-19 และตอนนี้ก็ดูเหมือนว่ากิจกรรมการปิดเมืองหรือปิดบางส่วนของเมืองเพื่อจัดงานวิ่งมาราธอนกำลังกลับมาหลังจากโรคระบาดผ่านพ้นไป นอกจากโรคระบาดแล้วการหมดช่วงฤดูฝน เข้าสู่ฤดูหนาวก็เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่เราจะพาตัวเอง ตื่นเช้า ออกไปสัมผัสเมืองในมุมใหม่ๆ เป็นการเปลี่ยนจังหวะชีวิตและอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่หลายคนเลือกจะหันกลับมาดูแลสุขภาพตัวเองอีกครั้ง

รัก 7 ปี ดี 7 หน

มาราธอนนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมใหญ่ที่แน่นอนว่าสัมพันธ์กับพื้นที่เมือง เป็นกิจกรรมพิเศษที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับปัจเจกบุคคลคือเป็นโอกาสที่เราจะได้ไปวิ่งเล่นออกกำลังบนถนนสาธารณะ หรือเป็นโอกาสที่เราจะได้มาเจอบรรยากาศของเมืองและผู้คนในยามเช้า ในทางกลับกันกิจกรรมการจัดมาราธอนก็นับเป็นเรื่องของการบริหารจัดการของเมือง 
 

มาราธอนเกี่ยวข้องกับการจัดการถนนหนทาง หลายแห่งเป็นการจัดกิจกรรมในระดับเมือง ในกระแสที่ผู้คนกำลังฮิตวิ่งมาราธอน แน่นอนว่าการจัดมาราธอนช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และถ้าเรามองย้อนกลับไป หนึ่งในมาราธอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเมืองที่เป็นที่รักมากที่สุดคือ New York City Marathon งานมาราธอนที่นิวยอร์กเคยเป็นตัวช่วยชีวิตเมืองนิวยอร์ก งานวิ่งนำเสนอภาพเมืองและบรรยากาศนิวยอร์กที่สดใส กระฉับกระเฉง สนุกสนานให้กับโลก และช่วยให้นิวยอร์กมีรูปโฉมที่ดีต่อสุขภาวะ กระทั่งช่วยให้พ้นจากวิกฤติทางเศรษฐกิจได้ ในที่สุดมาราธอนกลายเป็นกิจกรรมที่เมืองทั่วโลกดำเนินรอยตาม

นี่คือประวัติศาสตร์บางส่วนของเมืองและมาราธอน จากการพัฒนาเมืองสู่การขบคิดเรื่องความสัมพันธ์และสิทธิในการใช้พื้นที่เมือง การออกแบบเมืองที่ดีกับการเดิน วิ่งและสุขภาพของผู้คน สิทธิในการใช้ถนนหนทางของการเดินเท้า สิทธิในความปลอดภัยในเมืองใหญ่


ประวัติศาสตร์บางส่วนของมาราธอนกับเมือง

ถ้าเรามองเรื่องเมืองกับกิจกรรมการวิ่งมาราธอน มาราธอนสมัยใหม่นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีพื้นที่เมืองเป็นพื้นที่เพื่อการวิ่ง การวิ่งมาราธอนในฐานะกีฬาสมัยใหม่เกิดขึ้นในการกีฬาเอเธนส์โอลิมปิก หรือ 1896 Summer Olympics การจัดโอลิมปิกที่กรีซเป็นครั้งแรกของโลกสมัยใหม่ คือการฟื้นฟูตำนานการแข่งกีฬาในยุคกรีกโบราณขึ้นมาใหม่
 

สิ่งที่หลงเหลือและถูกนำกลับมาคือตำนานเรื่องการวิ่งมาราธอน ตำนานที่เล่าถึงการวิ่งทางไกลเพื่อนำข่าวจากเมืองมาราธอนไปแจ้งยังกรุงเอเธนส์ เรื่องการมาถึงของเรือของพวกเปอร์เซีย ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกจึงมีการแข่งวิ่งมาราธอนโดยใช้เส้นทางที่เชื่อว่าเป็นเส้นทางในตำนานคือวิ่งจากเมืองมาราธอนถึงกรุงเอเธนส์ ในการแข่งขันมาราธอนครั้งแรกมีระยะทางทั้งหมดราว 40 กิโลเมตร ซึ่งก็ส่งอิทธิพลด้านมาตรฐานระยะทางมาราธอนมาจนถึงปัจจุบัน

การวิ่งระหว่างเมืองหรือในพื้นที่เมืองจึงนับเป็นกิจกรรมใหม่ ในปี 1897 ปีถัดมาจากโอลิมปิกครั้งแรก เมืองบอสตันจึงลงมือจัดงานแข่งมาราธอนขึ้นและนับเป็นงานและเส้นทางวิ่งมาราธอนประจำปีที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดงานหนึ่งของโลก นับจากบอสตันแล้ว ในปี 1970 เกือบสิบปีหลังจากบอสตัน เมืองนิวยอร์กก็มีความคิดจะจัดมาราธอนขึ้นด้วยเช่นกัน โดยงานนิวยอร์กมาราธอนสัมพันธ์กับภาพลักษณ์และการพัฒนาเมืองของนิวยอร์กเองด้วย

อย่างแรกที่สุดคือ ทศวรรษ 1970s-1980s การพัฒนาเมืองโดยเฉพาะเมืองอเมริกันอย่างเช่นนิวยอร์กนั้น ไม่ได้เป็นเมืองที่สวยงามแต่เต็มไปด้วยปัญหา เพราะเมืองไม่ใช่ที่ของคน ถนนเป็นพื้นที่ของการขับรถ เมืองไม่ได้สวยงามแต่เป็นพื้นที่ของอุตสาหกรรม เต็มไปด้วยซอกมุมและการซุกซ่อนปัญหาแบบเมือง เช่น ขยะ อาชญากรรม มลพิษ รวมถึงปัญหาสุขอนามัยต่างๆ เอาไว้

ทีนี้การจัดงานวิ่งของนิวยอร์กก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจและมีความสดใหม่ในหลายด้าน การจัดวิ่งมาราธอนนิวยอร์กจริงๆ เริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษคือปี 1970 แต่ในช่วงห้าปีแรก มาราธอนนิวยอร์กคือการวิ่งรอบเซ็นทรัลพาร์ก (Central Park) ในปีแรกมีคนเข้าแข่งขันร้อยคนเศษและมีคนชมราวร้อยกว่าคน ความเปลี่ยนแปลงของนิวยอร์กมาราธอนสู่งานวิ่งในระดับเมืองคือการวิ่งผ่านห้าเขตสำคัญ เริ่มต้นในช่วงกลางทศวรรษและเกี่ยวข้องกับการแก้ภาพลักษณ์และวิกฤติทางการเงินที่เมืองเผชิญ

 

ปี 1976 นิวยอร์กกับการเปิดเมืองเพื่อการวิ่ง

ในปี 1975 ในบรรยากาศที่เมืองนิวยอร์กเต็มไปด้วยความอึมครึม สกปรก และเป็นดินแดนของอาชญากรรม ในปีนั้นนิวยอร์กมีสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ พื้นที่กลางเมืองจริงๆ กลายเป็นที่ๆ ผู้คนไม่อยากย่างกรายเข้าใกล้ คนชั้นกลางเลือกที่จะหลีกหนีอยู่ในย่านชานเมืองที่โดดเดี่ยวและรายล้อมด้วยสนามหญ้าสีเขียว ปัญหาทางการเงินของนิวยอร์กและพื้นที่กายภาพของเมืองจึงสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของเมือง

ในปีนี้ 1975 นี้เองที่นิวยอร์กมีการตัดสินใจปรับรูปแบบให้กลายเป็นมาราธอนที่วิ่งผ่านเขตทั้งห้าของเมืองนิวยอร์ก (Boroughs) การปรับตรงนี้ทำให้นิวยอร์กมาราธอนที่จัดในปีต่อมาคือ 1976 เป็นงานมาราธอนในเมืองที่แท้จริงแห่งแรกของโลก งานก่อนหน้านั้นทั้งบอสตันและชิคาโก เส้นทางวิ่งส่วนใหญ่เป็นการวิ่งเชื่อมระหว่างพื้นที่นอกเมืองเข้าสู่ตัวเมือง การปรับเส้นทางของนิวยอร์กนี้จึงนับเป็นการวิ่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ในเขตเมืองอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก

คำถามคือ แล้วการปรับตรงนี้สำคัญตรงไหน แน่นอนว่าสำคัญมาก นึกภาพว่ายุคหนึ่งนิวยอร์กมีภาพจำที่ย่ำแย่ไม่น่าอยู่ แต่การเปิดถนน ปรับพื้นที่ผิวทาง และการจัดบรรยากาศถนนให้ผู้คนได้ออกมาวิ่ง มาสัมผัสเมืองเป็นเส้นทางยาวๆ ไปยังเขตสำคัญของเมืองทำให้ความรู้สึกของผู้ร่วมแข่งขันที่มีต่อพื้นที่เมืองเปลี่ยนแปลงไป การลงมือจัดงานในครั้งนั้นนับเป็นจินตนาการใหม่ของกิจกรรมของเมือง กระทั่งคนต้นคิดเรื่องงานวิ่งห้าเขตยังนึกฝันไปไม่ถึงว่าจะลงมือทำอย่างไร

ทว่า การจัดมาราธอนกลางเมืองของนิวยอร์กนั้นกลายเป็นความสำเร็จสำคัญอย่างหนึ่งของนิวยอร์กเอง ผู้เข้าร่วมเล่าความรู้สึกอันแปลกประหลาดที่วิ่งผ่านสะพานแล้วก้าวเข้าสู่ย่านแถวๆ บรูกลิน ที่พื้นที่ชุมชนผู้เข้าร่วมจะพบกับฝูงชนที่โห่ร้องให้กำลังใจ มาราธอนให้บรรยากาศที่เต็มไปด้วยชีวิต เป็นการใช้กิจกรรมกีฬาที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันผ่านพื้นที่เมือง จากพื้นที่ที่เคยเหินห่างกัน พื้นที่ที่เคยเป็นของรถยนต์และความเร่งรีบ พื้นที่ที่ไม่มีคนเดินเท้า ไม่มีสุขภาพ และไม่มีเสียงโห่ร้องยินดีอยู่ในนั้น เมืองทั้งเมืองของนิวยอร์ก เขตสำคัญทั้งห้า สะพาน ลาน จัตุรัส กลายเป็นพื้นที่ของผู้คนผ่านกิจกรรมการวิ่งมาราธอน

นิวยอร์กมาราธอน

 

รับรู้เมืองด้วยสองขา แตกต่างจากหน้าต่างรถยนต์

ความน่าประหลาดใจของนิวยอร์กมาราธอนคืองานวิ่งครั้งแรกของนิวยอร์กในปี 1976 เป็นไปอย่างราบรื่น นิวยอร์กมาราธอนได้รับความสนใจในพื้นที่สื่อระดับนานาชาติ เมืองนิวยอร์กถูกถ่ายทอดไปอย่างเฉิดฉาย สดใสน่าประทับใจไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ภาพของเมืองที่กระฉับกระเฉง ผู้คนที่ทั้งออกมาวิ่งหรือมาชื่นชมโห่ร้องในการวิ่งในพื้นที่เมือง ถนนทางเท้าที่ได้รับการจัดการ รถยนต์ที่ถูกกันออกจากพื้นนิวยอร์กเองนอกจากจะกลายเป็นปลายทางใหม่ประจำปีทั้งของคนอเมริกันและประเทศที่ร่วมในโอลิมปิกมาราธอน เมืองต่างๆ ทั่วโลกก็เริ่มจัดมาราธอนของตัวเองด้วย

เบื้องต้นมาราธอนทำให้เรามีจินตนาการต่อเมืองในรูปแบบใหม่ ถนนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการกีฬาและเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพของผู้คน นิวยอร์กมาราธอนเองยังมีนัยอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมเช่นงานวิ่งมาราธอนกลายเป็นพื้นที่ที่ไร้การแบ่งแยกของคนทุกชาติพันธุ์และทุกศาสนา บางครั้งพื้นที่มาราธอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปรากฏตัวของคนผิวดำ เป็นพื้นที่เกียรติยศและเป็นพื้นที่หนึ่งของการร่วมเรียกร้องสิทธิพื้นฐานทั้งของคนผิวดำ ไปจนถึงการเข้าร่วมของผู้หญิง และในชั้นหลังก็เริ่มมีกราปรากฏตัวของกลุ่มหลากหลายอื่นๆ เช่นการเข้าร่วมของผู้ใช้รถเข็น

ดังนั้น การปิดถนน เปิดเส้นทางให้ผู้คนแม้จะเป็นงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว งานมาราธอนและการวิ่งในพื้นที่เมืองนั้น เป็นทั้งการรับรู้เมืองในรูปแบบใหม่ๆ เป็นการเชื่อมโยงของเราเข้ากับบริบทพื้นที่อย่างที่เมืองซึ่งเคยออกแบบเพื่อรถยนต์มอบให้ไม่ได้ เราได้ลัดเลาะไปตามย่าน ตามตรอกซอกซอย ได้มองเห็นสีหน้า เห็นเรื่องราวระหว่างทาง ได้เห็นความหมายของเมืองในฐานะพื้นที่ของความเคลื่อนไหว ในฐานะดินแดนของผู้คนและความแข็งแรง

การสร้างจินตนาการใหม่ของเมืองนั้นย่อมนำไปสู่แนวทางการพัฒนาเมืองที่เน้นสุขภาวะมากขึ้น เน้นความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้าเหนือความสำคัญของรถยนต์ เมืองที่คนวิ่งออกกำลังได้ย่อมต้องเป็นเมืองที่ปลอดภัย ร่มรื่น อากาศสะอาด ท้ายที่สุดเมืองที่ผู้คนปลอดภัย กระฉับกระเฉง ยิ้มและให้กำลังใจกันด้วยนิยามของกีฬา เมืองที่ผู้คนและชุมชนแข็งแรงก็ย่อมนำไปสู่ภาพรวมของเมืองที่มีความแข็งแรงด้วยเช่นกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

ภาพประกอบโดย Pathita Wasana

logoline