svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

Romantic City เมืองที่ทำให้การตกหลุมรักเป็นเรื่องง่าย

06 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมืองที่อาศัยอยู่ในตอนนี้มันช่วยให้เรามีความรักง่ายขึ้นรึเปล่า? หันไปทางไหนมีใครพอที่จะเข้ากันได้บ้างไหม? มีไหมเมืองที่จะสร้างเมจิกโมเมนต์ให้เราได้สบตาใครสักคน และตกหลุมรักคนคนนั้นโดยไม่ทันตั้งตัว

กรุงเทพไม่โรแมนติก?

คำตอบที่เราคิดขึ้นได้ทันทีกับเป็นประเด็นขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือการที่เราขบคิดว่า กรุงเทพเป็นเมืองแบบไหน และกรุงเทพเป็นเมืองที่โรแมนติกไหม ซึ่งเราเองก็น่าจะได้ข้อสรุปว่า ‘กรุงเทพไม่ใช่เมืองที่โรแมนติก’ ถ้าคิดถึงเมืองที่โรแมนติก เราคงนึกถึงเมืองเช่นปารีส โรม เมืองเล็กๆ ในยุโรป หรือเมืองเช่นโซลหรือโตเกียวก็ดูจะมีศักยภาพในด้านความโรแมนติกมากกว่ากรุงเทพ

Chungking Express (1994). ภาพจาก: IMDb

ประเด็นว่าเมืองโรแมนติกหรือไม่ ด้านหนึ่งสัมพันธ์กับการตื่นตัวจากมิติทางสังคม คือคนเมืองอาจจะเป็นโสดมากขึ้น เหงามากขึ้น เมืองจึงเป็นพื้นที่กายภาพที่ถูกมองว่าส่งผลสำคัญกับการใช้ชีวิต และแน่นอนการตกหลุมรักก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่พื้นที่กายภาพ—เมือง—สามารถอำนวยหรือบั่นทอนความสัมพันธ์ของผู้คนได้

ความสนใจว่าเมืองน่าจะส่งผลกับเราจริงๆ นั้นก็มาจากประสบการณ์ของเราที่ว่า ในบางบริบทหรือบางพื้นที่ เมืองนั้นๆ มันอำนวยใจให้เราได้มีความรัก ได้สบตากัน จูงมือกัน หรือมีเวลาไปเดต ดังนั้นจากข้อสังเกตโดยคร่าว นักวิชาการไปจนถึงนักออกแบบก็พยายามหาความรู้เรื่องเมืองแห่งความโรแมนติกว่า เมืองหรือพื้นที่กายภาพ (built environment) มีเงื่อนไขอะไร อันที่จริงเมืองแห่งความรัก ต้องเริ่มจากการที่เรารักเมืองนั้นๆ เมืองต้องอำนวยให้เราใช้ชีวิตเบื้องต้นให้ได้ก่อน และในลำดับถัดไปคือองค์ประกอบพิเศษของเมือง นั่นคือการดึงตัวตนไปจนถึงการออกแบบที่ส่งเสริมให้เมืองเมืองหนึ่งเป็นเมืองแห่งความรัก

Eat Pray Love (2010). ภาพจาก: IMDb
 

กลับไปที่พื้นฐาน: ขอชีวิตดีก่อนค่อยมีรัก

อันที่จริง เมืองกับความรัก หรือความเป็นไปได้เรื่องความรักเป็นเรื่องที่หลายคนอาจเข้าใจได้เป็นอย่างดี เมืองที่ส่งเสริมเราให้มีความรักได้ สาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราอยู่ในเมืองที่ทำงานแปดชั่วโมง แต่ไม่พอแค่นั้น เรายังต้องใช้เวลาไปกับการเดินทางวันละสองถึงสามชั่วโมง ด้วยงานหนัก เวลาเดินทางที่กินเวลาและพลังงานต่อวัน สุดท้ายเมืองเช่นกรุงเทพเลยเป็นเมืองที่เราลืมตาขึ้นมามีแรงแค่วันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งหลายคนก็เต็มไปด้วยภาระอื่นๆ ที่ต้องทำอีก

ดังนั้นการจะมีคนรัก มีเวลาไปเดตได้ เงื่อนไขของการหาคนที่แมตช์กันได้ก็อาจจะยากแล้วในเมืองที่ไม่ดีต่อใจ การมีคู่ครองได้จึงมีเงื่อนไขอื่นๆ มากำหนด โดยเฉพาะประสิทธิภาพและราคาของระบบขนส่งสาธารณะ ถ้าคู่เดตของเราบ้านอยู่ไกล โอกาสการไปเดต การเจอกันบ่อยๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของความรักก็ลดน้อยลง

My Tomorrow, Your Yesterday (2016). ภาพจาก: IMDb

ไม่นับบรรยากาศและการมีสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่เราพอจ่ายได้ เพราะกลับกัน พื้นที่ทำกิจกรรมของบ้านเรามักเป็นห้างหรือพื้นที่ที่มีค่าใช้จ่าย หน้าตาของเมืองเองก็อาจไม่ส่งเสริมให้เราเดินเล่น ไม่ได้มีลมเย็นๆ และบรรยากาศที่เรียกว่าเมจิกโมเมนต์เหมือนกับเมืองอื่นๆ
 

รายละเอียดของเมืองที่ให้เรารักกัน

ความเข้าใจทั้งหมดนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับงานศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของรักโรแมนติกกับพื้นที่กายภาพ (‘Romantic relationships and the built environment’) เผยแพร่ในปี 2021 งานศึกษานี้ศึกษาเมืองมหาวิทยาลัยในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ และใช้ข้อมูลจากความสัมพันธ์และตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าคู่รักชื่นชอบหรือใช้เวลาไปกับสถานที่แบบไหน และองค์ประกอบของเมืองในด้านไหนบ้างที่ช่วยให้ความสัมพันธ์งอกงามขึ้น

ผลการศึกษาบอกว่าสิ่งสำคัญของการส่งเสริมความรักจากเมืองมาจากทางเท้าและระบบขนส่งสาธารณะ หรือการเดินทางที่เหมาะสมในหลายระยะทาง การมีกิจกรรมที่พอจ่ายได้ (affordable activities) การมีร้านอาหาร มีพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ภายนอก ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขที่คู่รักระบุว่าสำคัญกับความสัมพันธ์ของคู่ตน นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นงานศึกษาในเขตเมืองมหาวิทยาลัย ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่มีจุดเด่น เป็นพื้นที่ดึงดูดใจ รวมถึงยังส่งผลเป็นพื้นที่พบปะหรือออกเดตของผู้คนด้วย

My Tomorrow, Your Yesterday (2016). ภาพจาก: IMDb

งานวิจัยชิ้นนี้ค่อนข้างให้ภาพที่ละเอียด เช่น คู่รักมักเลือกให้ร้านอาหารเป็นพื้นที่ยอดนิยมของการใช้เวลาร่วมกัน จากร้านอาหาร กลุ่มคู่รักตัวอย่างชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะกิจกรรมในธรรมชาติเช่นการไปเดินเขาที่ภูเขาใกล้ๆ กลับได้รับความนิยม ในขณะที่สนามกอล์ฟหรือลานสกีที่แม้จะไปง่าย แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่า

การเดินก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการขุดพราวความสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้อยู่ร่วมกันให้ค่ากับการเดิน ซึ่งคือสาธารณูปโภคที่อยู่ระหว่างที่อยู่อาศัย เช่น คุณภาพถนน เส้นทางเดิน ไปจนถึงไฟส่องสว่างที่เพียงพอ ในแง่นี้ผู้วิจัยให้สัมภาษณ์ไว้กับมหาวิทยาลัย Georgia Institute of Technology ว่า ตรงนี้เองที่เมืองสามารถทำความเข้าใจระหว่างพื้นที่กับผู้อยู่อาศัยได้ เช่นการมองเห็นกลุ่มประชากรและพิจารณาเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน จากถนน ทางเท้า ระบบแสงและความปลอดภัยไปจนถึงโครงข่ายการเดินทาง การเชื่อมต่อที่ทำให้การเชื่อมโยงของผู้คนเชื่อมเข้ากันได้ง่ายขึ้น

Call Me by Your Name (2017). ภาพจาก: IMDb

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในความโรแมนติกของเมือง

ความพิเศษของความเข้าใจเรื่องความโรแมนติกของเมืองคือการที่เรามองเห็นเรื่องเล็กๆ ในพื้นที่เมือง และในทางกลับกันคือภาคบริหารและการออกแบบสามารถส่งเสริมความโรแมนติกนั้นๆ ได้อย่างไร เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อันดับแรก ซึ่งเป็นมิติที่มองเห็นยาก คือการสร้างบรรยากาศของความใกล้ชิด และการที่เมืองส่งเสริมให้คนมีปฏิสัมพันธ์อย่างโรแมนติกต่อกัน

ในบทความของ Greater Greater Washington สื่อที่ส่งเสริมพื้นที่เมืองและสุขภาวะของวอชิงตันชี้ให้เห็นเงื่อนไขที่ซับซ้อนของความชิดใกล้ในเมือง เช่น การเกิด ‘เมจิกโมเมนต์’ ต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ เช่น ในจังหวะที่เราซื้อของ บรรยากาศของแสงหรือจังหวะที่อีกฝ่ายช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เมจิกโมเมนต์จะเกิดขึ้นเมื่อเมืองเปิดโอกาสให้ผู้คนแสดงความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

La La Land (2016). ภาพจาก: IMDb

ตรงนี้เองที่ ‘ความเล็กๆ น้อยๆ’ ของเมืองเข้ามามีบทบาทของความสัมพันธ์ องค์ประกอบเล็กๆ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้คนสองคนมีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งตัวกระตุ้นมักมาจากบริบทเล็กๆ รอบๆ ความรื่นรมย์จากกลิ่นหอมของดอกไม้ กลิ่นขนม แสงแดดหรือสายลมอ่อนๆ เสียงนกร้อง เสียงอึกทึกจากที่ไกลๆ ความโรแมนติกของเมืองมีพื้นฐานจากเมืองที่มีความพอเหมาะ สะอาด ปลอดภัย นึกภาพเมืองที่มีร้านขนม มีที่นั่งเล่น มีสวน มีพื้นที่เปิดโล่ง กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เปิดโอกาสให้เราเป็นตัวเราเอง เราชอบกินขนม ชอบต้นไม้ใบหญ้าแบบไหน การเข้าสู่กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเชื่อมโยงเข้าหากันและเห็นเรื่องราวเล็กๆ ของกันและกัน

บริบทเล็กๆ ของเมืองจึงสัมพันธ์กับความคิดในการออกแบบเมือง จุดเล็กๆ น้อยๆ บางครั้งเกี่ยวข้องกับการที่เมืองนั้นๆ สามารถรักษาอดีตหรือตัวตนของเมืองนั้นๆ ไว้ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ตลาดเปิดโล่ง พื้นที่ริมน้ำ ดอกไม้และต้นไม้ที่ผลัดเปลี่ยนกันบางและร่วงตามฤดูกาล อดีตและตัวตนของเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขของความโรแมนติก และเป็นสิ่งที่ชวนหรือเปิดบทสนทนาให้กับคนสองคนได้ง่ายขึ้น

รักแห่งสยาม (2007). ภาพจาก: IMDb

ในความเล็กๆ น้อย สิ่งที่ซับซ้อนของเมืองหรือพื้นที่กายภาพที่มีต่อความสัมพันธ์คือความพอดี ความโรแมนติกสัมพันธ์กับความพอดี เมืองที่โล่งจนเกินไปหรืออึกทึกจนเกินไปให้ความรู้สึกโรแมนติกน้อยกว่าเมืองที่มีเสียงอื้ออึงพอประมาณ ในขณะเดียวกัน ความพอดีของเมืองสัมพันธ์กับการที่ความรักเป็นเรื่องของพื้นที่ส่วนตัว นึกภาพว่าเมืองทีมีพื้นที่ให้เราจูงมือกัน อย่างแรกต้องมีพื้นที่สาธารณะก่อน แต่ในความสาธารณะนั้นก็ต้องมีจุดโรแมนติก มีพื้นที่ให้ความเป็นส่วนตัวซึ่งกันและกัน มีสะพาน มีลานกว้าง มีจุดที่คนสองคนจะได้มองตาหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกซึ่งกันและกัน

Bangkok Nites (2016). ภาพจาก: IMDb

สุดท้ายแล้ว ในงานศึกษาและประสบการณ์ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เมืองค่อนข้างสัมพันธ์กับความโรแมนติก เราเองนึกภาพย่านต่างๆ ที่เมือง—เช่นกรุงเทพ—อาจเต็มไปด้วยบรรยากาศที่น่าจะโรแมนติกได้ แต่ปัจจัยอื่นๆ อาจยังไม่ช่วยให้เรามองว่ากรุงเทพเป็นเมืองแห่งความโรแมนติก การเดินในกรุงเทพอันหมายถึงท้องถนนและย่านเป็นที่ที่เดินได้ยากไม่ว่าจะเป็นย่านไหน

พื้นที่สำคัญๆ เช่นพื้นที่ริมน้ำ พื้นที่ประวัติศาสตร์แง่หนึ่งกรุงเทพก็เต็มไปด้วยความรุ่มรวย แต่องค์ประกอบอื่นๆ อาจยังไม่ชวนให้เราได้สร้างโมเมนต์โรแมนติกซึ่งกันและกันนัก ย่านเมืองเก่าริมน้ำอาจยังเข้าถึงไม่ได้ ถนนหนทางยามค่ำอาจยังไม่ให้ความรู้สึกที่ปลอดภัยนัก กิจกรรมในพื้นที่สาธารณะก็อาจจะยังไม่หลากหลายและเข้าถึงไม่ได้

ดังนั้นแล้ว ในโอกาสของวันแห่งความรักที่ใกล้จะถึง ไปจนถึงประเด็นเรื่องจำนวนประชากรที่รัฐส่งเสริมให้มีลูก เมืองหรือพื้นที่กายภาพที่โรแมนติกขึ้นหน่อย—เปิดโอกาสและให้เวลาในการจูงมือดูใจกัน—ก็อาจเป็นเงื่อนไขพื้นฐานหนึ่งที่ทำให้ทั้งผู้คนได้รักกัน และในทางกลับกันก็เปิดโอกาสให้เราได้รักเมืองที่โรแมนติกและดีกับการใช้ชีวิตของเราด้วยได้

La La Land (2016). ภาพจาก: IMDb

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline