svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เศรษฐา-พิธา" โพสต์ผลงานดูไฟป่า หมอกควันเชียงใหม่ ไว้เจอกันในศึกอภิปราย

17 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เศรษฐา-พิธา" โพสต์ผลการลงพื้นที่ดูปัญหาไฟป่า หมอกควัน ที่เชียงใหม่ งานนี้เจอกันในศึกอภิปรายฯ ที่รัฐสภา วันที่ 3 – 4 เม.ย. 67 นี้

แม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากันโดยตรง แต่ต้องถือว่า ทริปเช็กอินเชียงใหม่ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นทริปแห่งการเมืองอย่างแท้จริง 

เนื่องจากทั้งคู่ ที่เป็นตัวแทนฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างลงพื้นที่จริง เพื่อรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นพิษ และหมอกควันไฟป่า ที่ในขณะนี้ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ วิกฤตหนักที่สุดในรอบปี 

ภายหลังเสร็จภารกิจ ทั้งสองฝ่ายต่างมีการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อสรุปภาพรวมการดำเนินงาน โดยนายพิธา ได้มีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า 

“10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น”

ต้องขอขอบคุณ พี่หนูหริ่ง - สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด และทุกๆ ท่านจากมูลนิธิกระจกเงาที่พาผม และทีมงาน ไปดูปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งปฎิบัติงานในสถานการณ์จริง และถ่ายทอดประสบการณ์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของไฟป่า และ PM 2.5 ให้ผมได้ซึมซับ นำกลับไปใช้ อภิปรายในสภาได้ 

พอได้อยู่หน้างานจึงได้เข้าใจอะไรที่มากขึ้น ที่ได้นั่งฟังจากอธิบดี หน่วยงานต่างๆ ว่าทำไม่ได้ อันตรายแค่ไหน? ร้อนแค่ไหน? เดินสูงแค่ไหน? เทคโนโลยีเพิ่มความแม่นยำ ประสิทธิภาพ ลดเวลาหน้างานได้อย่างไร?

ขอขอบคุณเจ้าหน้าป่าไม้ และเหยี่ยวไฟ ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกท่านที่ทำงานอย่างหนัก ทั้งๆ ที่ค่าตอบแทนน้อย อุปกรณ์น้อย แต่มีความเสี่ยงสูงมากครับ 

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการโพสต์ผ่าน x @Thavisin ถึงการลงพื้นที่เชียงใหม่ เพื่อติดตามปัญหาฝุ่นพิษและหมอกควัน โดยระบุว่า 

เราต้องยอมรับกันก่อนว่า ปัญหา PM 2.5 ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ผม ท่านรองนายกฯ และส่วนที่เกี่ยวข้องได้พยายามหาแนวทางกำจัดซากใบไม้ และซากพืชผลทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ หรือเอาซากพืชนำไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่

นอกจากนี้ ผมขอเคลียร์ก่อนว่า 

1. งบกลางที่ตั้งไว้เพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าตอนนี้เบิกจ่ายได้จริงแล้ว 
2. แต่ผมขอว่าต้องเป็นคนในพื้นที่เท่านั้น เพราะคนพื้นที่จะรักและเข้าใจในพื้นที่ของตัวเอง 
3. ขอฝากเรื่องความปลอดภัยของอาสาสมัครดับไฟป่าด้วย อุปกรณ์ต่าง ๆ ขอให้มีครบถ้วนสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ครับ

ขณะที่ปัจจัยภายนอก ซึ่งก็คือฝุ่นที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผมและรัฐบาลก็จะเร่งหาแนวทางเพิ่มเติมในการเจรจาความร่วมมือในการหยุดเผา ซึ่งถ้าหยุดได้ PM 2.5 จะลดลงไปถึง 40-100% รัฐบาลอาจจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการออกมาตรการเด็ดขาด เรื่องการห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงไฮซีซั่นของฝุ่น คือ ม.ค.- เม.ย. ในปีหน้า หากมีตัวชี้วัดชัดเจนว่านี่คือสาเหตุหลักของปัญหา PM 2.5 ของเรา

ที่ผ่านมาเราทำได้ดีขึ้น แต่เรายังต้องทำให้ได้ดีกว่านี้อีก พี่น้องประชาชนยังหายใจไม่ได้ เราต้องทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่น่าเที่ยว สำคัญที่สุดคือสุขภาพของคนเชียงใหม่ของคนไทยที่เป็นข้อกังวลของผมและรัฐบาลครับ
\"เศรษฐา-พิธา\" โพสต์ผลงานดูไฟป่า หมอกควันเชียงใหม่ ไว้เจอกันในศึกอภิปราย
 

และ เห็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวังและดับไฟป่ากันอย่างแข็งขันกันตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมจึงอยากมาให้กำลังใจครับ 

ผมขอขอบคุณพวกเราทุกคนที่ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งอดทน เพราะว่าเราทราบกันดีอยู่ว่า PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ และยังต้องทำการแก้ไขกันต่อไป นอกจากนี้ ผมขอชื่นชมการทำงานของทั้งกระทรวงทรัพยากร ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกระทรวงมหาดไทย ที่ช่วยกันดูแลและควบคุมการเผาป่า การที่พี่น้องประชาชนต้องหาเงิน เขาจึงเผาเพื่อหาเห็ด หรือหาผักหวานต่าง ๆ เราเข้าใจได้ แต่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้น ท่านผู้ว่าฯ จึงออกกฎมาว่าใครจับคนเผาป่าได้ก็จะให้รางวัลนำจับ 10,000 บาท ซึ่งก็มีการจับแล้ว ตรงนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้การเผาป่าลดลงถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ 

ส่วนการเผาจากต่างประเทศ รัฐบาลเราต้องพิจารณามาตรการที่เด็ดขาด คืออาจจะต้องห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านในช่วง High Season ของฝุ่น คือช่วงต้นปีถึงประมาณสิ้นเดือนเมษายน ผมกำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปลองทำการศึกษาว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไรบ้าง และลดความหนาแน่นของการจราจร ควบคู่ไปกับมาตรการของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ใช้รถ EV ด้วย ผมเชื่อว่าเราน่าจะทำได้ดีสำหรับปัญหาภายในประเทศครับ
\"เศรษฐา-พิธา\" โพสต์ผลงานดูไฟป่า หมอกควันเชียงใหม่ ไว้เจอกันในศึกอภิปราย
 



กำหนดการณ์อภิปรายระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน

สำหรับศึกการอภิปรายระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน คณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณากำหนดวันเวลาในการอภิปราย ในวันที่ 3- 4 เม.ย. 67 นี้ เป็นการอภิปรายเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 152

มีกำหนดกรอบเวลาการพิจารณา ดังนี้

- วันที่ 3 เม.ย. 67 เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. แล้วพักการประชุมหลังเวลา 01.00 น. ก่อนเริ่มประชุมในวันถัดไป

- วันที่ 4 เม.ย. 67 เริ่มประชุมเวลา 09.00 – 23.00 น. โดยจัดสรรเวลา ดังนี้

ประธานของที่ประชุม จำนวน 2 ชั่วโมง
ครม. และพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 6 ชั่วโมง
พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 22 ชั่วโมง
ส่วนกรณีผู้ประท้วงให้หักเวลาจากฝ่ายของผู้ประท้วง


 

logoline