svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประธานวิปฝ่ายค้าน" รับสมัยประชุมนี้อาจไม่ยื่นซักฟอกรัฐบาล

27 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประธานวิปฝ่ายค้าน" ยอมรับมีโอกาสไม่ยื่นซักฟอกรัฐบาลในสมัยประชุมนี้ แต่อาจอภิปรายทั่วไป ย้ำเปิดแล้วข้อมูลอ่อนก็เสียเปล่า ชี้ ปชป. เห็นด้วย แต่ต้องรอคุยพรรคร่วมอีกครั้งหนึ่ง

27 กุมภาพันธ์ 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งอาวุธของฝ่ายค้าน คือ เวทีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ต่อการดำเนินนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นถึงความบกพร่องสำหรับการบริหารประเทศ

ทว่า "นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จากการพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่แล้วเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ได้มีการพูดคุยกัน โดยค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะเปิดอภิปรายทั่วไปปลายเดือน มี.ค. และในช่วงใกล้เคียงกัน จะมีวาระ 2 ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งดูจากไทม์ไลน์แล้วคิดว่าอาจจะยังไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไปในสมัยประชุมนี้  

"ต้องบอกตามตรงว่าซักฟอกที่เป็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ โอกาสมีน้อยมากจริงๆ เพราะว่าต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็เพิ่งมา ยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตนเองเป็นคนจะทำเลยแม้แต่บาทเดียว ก็ต้องพูดตามตรงว่ามีงบประมาณจริงๆ ก็หลังจากเดือน พ.ค. ถึงจะใช้งบประมาณที่รัฐบาลจัดทำขึ้นมาเป็นครั้งแรก" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

 

ขณะเดียวกัน ปลายเดือน พ.ค. ก็จะมีร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ตนคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนว่า ตกลงแล้วรัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่ตัวเองใช้อำนาจเต็มอย่างไรบ้าง และมีเวลาอยู่เกือบ 1 ปี ในการจัดทำงบประมาณ 68 ว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งคิดว่าตอนนั้นข้อมูลทุกอย่างก็น่าจะค่อนข้างชัดเจนขึ้น ทั้งในเรื่องการดำเนินนโยบายและเป็นไปตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์หรือวิสัยทัศน์ที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายไว้หรือไม่ รวมถึงการตามมาซึ่งทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ ที่จะตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อไป

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวตอนนี้ยังไม่ยืนยัน 100% แต่ต้องยอมรับว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงนี้ เป็นไปได้ยาก ส่วนการอภิปรายทั่วไปก็ยังพูดคุยกันอยู่ ว่าถ้ายังไม่มีเรื่องงบประมาณด้วย ช่วงเวลาที่รัฐบาลทำงานอาจจะยังไม่ได้เยอะมากพอ หรือยังไม่มีประเด็นที่ใหญ่มากที่จะเปิดอภิปราย แต่หากมีประเด็นก็พร้อม สมมติเปิดวันเดียว เปิด 2 วันก็เปิดได้ 

สำหรับข้อมูลที่จะเปิดอภิปรายพอมีอยู่บ้าง แต่ต้องพูดคุยกับพรรคร่วมอื่นๆด้วย ว่าเป็นประเด็นที่ใกล้เคียงกัน และเหมาะสมที่จะเปิดอภิปรายหรือไม่ เพราะมองว่าบางประเด็นก็สามารถใช้วิธีกระทู้สดถามในสภาได้

ส่วนจำเป็นต้องต่อเรื่องงบประมาณอย่างเดียวหรือไม่ เพราะมีเรื่องอื่นให้อภิปราย นอกเหนือจากการใช้งบด้วย นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนคิดว่างบประมาณเป็นเรื่องใหญ่ ก็ไม่อยากเป็นฝ่ายค้านที่หยิบยกประเด็นที่ไม่ได้สลักสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนมาพูดให้มันเป็นเรื่องใหญ่มากจนเกินไป ตนคิดว่าเรื่องงบประมาณ การทุจริตคอร์รัปชัน เป็น 1 เรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องตรวจสอบ ถ้าเป็นประเด็นการเมือง แล้วใช้โควตา โดยที่อาจจะต้องเว้นว่างไปอีก ก็อาจจะต้องคำนึงดีๆ

เมื่อถามว่า จะไม่เป็นการใจดีกับรัฐบาลเกินไปหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ถ้าเปิดแล้วไม่มีคุณภาพ ไม่เปิดดีกว่า ใช้วาระทั่วไปเหมือนกระทู้สดที่ถามทุกสัปดาห์ก็ได้ ควรใช้เมื่อเหมาะสม และมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

สำหรับเรื่อง "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกมองว่าฝ่ายค้านไม่กล้าแตะ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวสวนทันทีว่า ตนเพิ่งถามกระทู้ไป ลำพังพรรคก้าวไกลเอง ถามไป 2 รอบแล้ว ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ใจดีหรือโอนอ่อนอะไรไป ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล เวลาถามก็ต้องตั้งคำถามเรื่องของระบบ ว่าระบบนี้ ระเบียบนี้ เป็นธรรมกับทุกคนจริงๆหรือไม่

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เห็นตรงกันหรือไม่ เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เห็นค่อนข้างตรงกันว่า ถ้าเป็นเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์และเป็นข้อมูลที่หนักแน่นแล้ว ก็พร้อมจะเปิดอภิปราย

ส่วนการไม่เปิดอภิปรายจะสะท้อนไปถึงเสถียรภาพของฝ่ายค้าน นายปกรณ์วุฒิ ระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกัน หากย้อนไปในฝ่ายค้านครั้งที่แล้ว การอภิปรายที่เป็นทางการจริงๆ คือ ปี 2564 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อต้นปี 2563 เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งไม่ใช่เนื้อหาที่รัฐบาลปัจจุบันในขณะนั้นทำสะทีเดียว มันคือผลพวงที่มาจากการรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม

logoline