svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ราเมศ" ชงรื้อกฎหมายราชทัณฑ์หลัง "ทักษิณ" พักโทษทำยุติธรรมถูกท้าทาย

19 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ราเมศ" เตรียมเสนอกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เพื่อฟื้นกระบวนการยุติธรรมและความศักดิ์สิทธิ์กฎหมาย จากกรณีที่ยังมีข้อกังขาถึงการพักโทษ "ทักษิณ ชินวัตร" หวั่นอนาคตมีคนใช้ "ทักษิณโมเดล" เพื่อให้รอดนอนคุก

KEY

POINTS

 

 

 

 

19 กุมภาพันธ์ 2567 กำลังกลายเป็นคำถามที่ถูกพูดถึงในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับการปล่อยตัว "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี หลังมีชื่อเข้าเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์พิจารณาให้ได้รับการพักโทษ จนถูกมองเป็นเรื่องของสองมาตรฐาน 

โดย "นายราเมศ รัตนะเชวง" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า หลักกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นที่พึ่งหวังให้กับประชาชน มีความน่าเชื่อถือ แต่กรณีของนายทักษิณ รัฐบาลไม่ตระหนักถึงหลักนิติธรรมตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทุกอย่างเป็นความลับ ช่วยปกปิดความจริงกันอย่างเป็นระบบ หลักนิติธรรมถูกทำลายอย่างไม่มีชิ้นดี อำนาจตุลาการถูกท้าทายจากอำนาจราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม 

 

"ที่บอกว่านายทักษิณได้รับโทษจำคุก ถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลารวม 6 เดือน ชัดเจนจากข้อเท็จจริงว่า นายทักษิณไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ป่วยจริงหรือไม่ รักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ประชาชนรู้ทัน บุคคลที่อยู่ในระบบทักษิณถวิลหาความยุติธรรมที่เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ก็เป็นแค่ลมที่ผ่านออกมาจากปาก ไม่ใช่คำพูดที่เกิดจากสามัญสำนึก แต่เป็นการเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน ไร้ความเท่าเทียม เหยียบย้ำอำนาจศาล ไร้ซึ่งหลักนิติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนการบังคับโทษเป็นเช่นนี้ แล้วหลักการของบ้านเมืองจะเหลืออะไร ประชาชนจะพึ่งหวังกระบวนการได้อย่างไร" นายราเมศ ระบุ

 

 


 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการพักโทษนั้นแม้จะเป็นหลักการที่ราชทัณฑ์ใช้กับนักโทษทั่วไป แต่ประชาชนมีความติดใจในเรื่อง "การจำคุกจริงหรือไม่" และในเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กับคณะ ต่อสภาชุดที่ผ่านมา แต่ญัตติได้ตกไปเนื่องจากหมดวาระของสภาชุดดังกล่าว ดังนั้น ตนในฐานะกรรมการบริหารพรรคจะนำกฎหมายฉบับนี้มาปรับปรุงและเสนอต่อที่ประชุม สส. โดยจะให้มีการแก้ไขในเรื่องอำนาจในบางเรื่องของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อพรรคพิจารณาแล้วจะได้ยื่นเป็นญัตติใหม่ในการประชุมสภาชุดนี้ 

สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขฉบับนี้ ได้มองเห็นถึงปัญหาของการบังคับโทษในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว แต่ศาลไม่มีอำนาจในการพิเคราะห์พิจารณา ว่าจะให้มีการลดโทษหรือพักโทษ กับนักโทษคดีนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ควรจะมีโครงสร้างที่มีตัวแทนจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

 

"เราถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการป้องกันการใช้อำนาจโดยอำเภอใจโดยองค์กรบางองค์กร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีเดียวกับที่เกิดขึ้นกับคุณทักษิณ จำคุกจริง-ไม่จริง ป่วยจริง-ไม่จริง รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล จริง-ไม่จริง ทุกอย่างเป็นความลับหมด" นายราเมศ กล่าว 

ขณะเดียวกัน การแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น ก็เพื่อให้คงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ปลายทางของกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจของกรมราชทัณฑ์อย่างแท้จริง ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องมีวุฒิภาวะในการตรวจสอบ และดำเนินการให้บ้านเมืองมีกฎเกณฑ์ มีกติกาภายใต้ระบบนิติรัฐ ฉะนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากถูกด้อยค่าให้ลดน้อยถอยลงจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ก็แสดงว่ากำลังเกิดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว

 

"ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าเป็นโรคเช่นเดียวกับนายทักษิณ ต่อไปอาจจะมีคนอ้างในระหว่างที่ถูกคุมขังได้ว่า ผมเป็นโรคนายทักษิณ เมื่อเป็นโรคนายทักษิณ ก็สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีใครรู้ ไม่ต้องมีใครทราบว่า จะรักษายังไง ผมไม่อยากให้เกิดทักษิณโมเดลในปลายทางของกระบวนการยุติธรรม" นายราเมศ กล่าว

 

"ชูศักดิ์" ยันพักโทษไม่ทำกระบวนการบิดเบี้ยว

ขณะที่ "นายชูศักดิ์ ศิรินิล" สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้ โดยยืนยันว่า กระบวนการที่เกิดขึ้น เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงแล้วว่าเป็นไปตามระเบียบ ไม่ได้ทำให้สังคมบิดเบี้ยว เพราะยังมีผู้ที่ได้รับการพักโทษอีกกว่า 900 คน ไม่ได้เป็นสองมาตรฐานตามที่มีการกล่าวหากัน 

ส่วนที่สมาชิกวุฒิสภากังวลถึงการพักโทษครั้งนี้จะทำให้กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่นั้น ตนย้ำว่านายทักษิณ ได้รับการปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมที่มี ไม่ได้ผิดไปจากมาตรฐาน และไม่ได้ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ได้ทำให้สังคมมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะเป็นไปตามกระบวนการ ไม่ได้ทำให้สังคมรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส

ส่วนเรื่องการไปเยี่ยมขอคำแนะนำจากนายทักษิณที่บ้านนั้น เห็นว่าขณะนี้ นายทักษิณยังป่วย จึงควรให้อยู่พักผ่อนกับครอบครัวก่อน และการขอคำแนะนำนั้นเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ซึ่งก็มีกรรมการบริหารพรรคอยู่แล้ว หรือรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ก็แถลงถึงการขอคำแนะแล้วว่าให้เป็นไปตามครรลอง จึงไม่น่าเป็นห่วง

ไม่ขอวิจารณ์ถึงกระแสข่าวปรับ ครม.

สำหรับกระแสข่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังนายทักษิณได้รับการพักโทษนั้น ตนไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากเป็นเรื่องของรัฐบาล และนายกฯ ย้ำมาตลอดว่า ตนมีอำนาจเต็มเพียงคนเดียว ซึ่งตนเองก็ยังมั่นใจในตัวนายกฯ จึงขอให้ฟัง ให้ความเชื่อมั่น และให้กำลังใจนายกฯ 

ไม่มีกฎหมายห้ามให้ใครเข้าพบอดีตนายกฯ

ส่วนการเดินสายไปพบปะกับกลุ่มผู้สนับสนุนภายหลังได้รับการพักโทษนั้น เห็นว่าเมื่อนายทักษิณ ได้รับการพักโทษ คนเสื้อแดงก็ดีใจ มีความสุข ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนายทักษิณ ถือเป็นปูชนียบุคคลของพรรค ทำประโยชน์ให้พรรคมานาน แต่การจะเดินสายนั้น ก็เป็นเรื่องการตัดสินใจของนายทักษิณ

 

"หาก สส.จะไปเข้าพบ เพื่อหารือกับนายทักษิณ หรือการที่ สส.หรือพรรคจะไปหารือใคร เป็นสิทธิเสรีภาพของ สส. และพรรคนั้น เพราะมีทั่วไป และถือเป็นการไปขอความรู้ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ที่ผ่านมา มักมีการโจมตีว่าเป็นการครอบงำพรรค แต่ในทางปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ เพราะเป็นการไปขอความรู้ เช่น เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นเรื่องปกติ" นายชูศักดิ์ ระบุ

 

ส่วนนายทักษิณแยกออกจากรัฐบาลแล้วชัดเจนใช่หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ ย้ำว่า นายทักษิณไม่มีตำแหน่ง ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาล และนายกรัฐมนตรี แต่ยอมรับว่า นายทักษิณ มีประสบการณ์ เคยเป็นผู้นำประเทศ จึงมีผู้ยอมรับในความรู้ความสามารถ

"เศรษฐา" ย้ำ พักโทษ “ทักษิณ”เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม 

ขณะที่ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีการพักโทษของนายทักษิณ ที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชนหรือสองมาตราฐาน ว่า ตอนที่นายทักษิณ ถูกคำพิพากษา ก็มีการเรียกร้องจากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ (19ก.พ.) ก็มีการเรียกร้องให้กลับเข้าสู่กระบวนการ และเมื่อเดือน ส.ค. 2566 นายทักษิณก็กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  

 

"เมื่อท่านกลับเข้ามาแล้วกรมราชทัณฑ์ก็มีการตรวจสอบ โรงพยาบาลตำรวจเองก็มีการตรวจสอบ  รวมถึงกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรก็มีการตรวจสอบ ขณะที่กระทรวงยุติธรรมก็มีมาตรฐานในการตรวจสอบอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อท่านถูกพิพากษาไป เราก็เชื่อในระบบอยู่แล้ว แล้ววันนี้เมื่อท่านเข้าสู่กระบวนการที่จะรับโทษ และได้รับการพักโทษตามเงื่อนไข ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายเขียนไว้อยู่แล้ว ดังนั้น เราจะต้องมาพูดกันเรื่องนี้ทุกวันหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎหมาย" นายเศรษฐา กล่าว

 

ส่วนที่มีการชี้แจงแล้วแต่ก็ยังเชื่อว่าเป็นสองมาตราฐานนั้น มันก็มีความเห็นต่างทั้งนั้น เมื่ออยู่ในสังคมที่เห็นต่างกัน หลายเรื่องก็มีคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทำอยู่ รวมถึงเห็นด้วยกับสิ่งที่ไม่ทำ แต่ก็ต้องอยู่ร่วมกันด้วยกฏหมาย เพราะวันนี้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเข้าสู่กระบวนการกฎหมายแล้ว ตนมองว่าก็ควรเดินหน้าดีกว่า เพราะวันนี้บ้านเมืองต้องการเดินหน้าอะไรอีกหลายอย่างจากรัฐบาลและทุกภาคส่วน เรื่องความขัดแย้งก็ต้องบริหารจัดการกันไปแต่ต้องตั้งอยู่บนความสงบ เพราะมีพื้นที่สภา มีสส. มีนักวิชาการ และควรใช้เวทีที่ปลอดภัย

"เศรษฐา" เมิน สว. แขวะดาวไร้แสงเดี๋ยวก็เช้าแล้ว

ส่วนกรณีที่ สว. ระบุว่า การพักโทษของนายทักษิณจะทำให้นายเศรษฐาเป็นดาวไร้แสงนั้น โดยนายกรัฐมนตรี หยุดคิด ยิ้ม ก่อนที่จะกล่าวว่า "จะคิดอะไรก็คิดกันไป เพราะพรุ่งนี้ 7 โมงเช้า ผมก็ตื่นไปทำงาน ประชุม ครม. อาทิตย์หน้าก็ลงพื้นที่ภาคใต้ อาทิตย์ถัดไปก็ไปต่างประเทศเพื่อเจรจา FTA และหานักลงทุนใหม่เข้าประเทศ จะพูดอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ผมสะทกสะท้านได้ เพราะผมก็จะทำงานต่อไป โดยยึดมั่นในผลประโยชน์และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน จะว่าอย่างไรก็ว่าไปไม่เป็นไร"

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าการเมืองจากนี้จะร้อนขึ้นและจะมีการปรับ ครม.เร็วๆนี้ หลังนายทักษิณได้รับการพักโทษ โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า มันก็ร้อนทุกวัน ทุกเรื่องก็ร้อนหมด  เพราะพื้นฐานทุกวันนี้เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ การใช้งบประมาณปี 68 ก็ยังไม่สามารถใช้ได้ ฉะนั้นถ้าเมีเงินในกระเป๋าทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการซัพพอร์ตจากรัฐบาล อาทิ การศึกษาและระบบสาธารณสุขที่ดี ก็เชื่อว่าชีวิตจะดีขึ้น

 

"แต่วันนี้เรื่องที่เป็นภาวะร้อนแรงขึ้นทุกวัน ผมก็ว่าท่านอาจจะหลีกเลี่ยงคำว่าเป็นนายกฯสองคนสามคน ดาวไม่มีแสง หรืออะไรซักอย่างมันก็เป็นเรื่องเดียวกันที่ผู้สื่อข่าวถาม แต่พรุ่งนี้ผมก็ตื่นเช้า 7 โมงไปทำงาน และจะพยายามพิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นการบั่นทอนอะไรทั้งสิ้น" นายเศรษฐา กล่าว

 

เมื่อถามย้ำว่า ไม่ได้รู้สึกด้อยค่าตัวเองใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่มี แต่ถ้าใครติมาแล้ว สามารถทำให้ดีขึ้นได้ก็จะพยายามทำ "แต่ถ้าให้ตัวผมเองรู้สึกด้อยค่าเพราะคำพูดอะไรที่จับต้องไม่ได้ ผมไม่เสียอารมณ์ตรงนั้นดีกว่า เพราะถ้ามาดูแววตาพี่น้องประชาชนที่สกลนคร อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู มันเป็นแรงกระตุ้นเป็นความหวังและแรงบันดาลใจให้ผมตื่นขึ้นมาทำงานในวันพรุ่งนี้เช้า"

ส่วนการปรับ ครม. ตนกับรัฐมนตรีพรรคร่วม ก็ยังทำงานร่วมกันด้วยดีกับ "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ยังคุยกันด้วยดี และก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน

ส่วนการย้ายเรือนจำและการเดินทางมาที่จ.อุดรธานี ครั้งนี้ ซึ่งมีการหารือเรื่องของการย้ายเรือนจำ ตนก็มีการพูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ซึ่งอยู่พรรคประชาชาติ ต่างพรรคกันหมด พร้อมย้ำว่าทุกคนมีความตั้งใจดีในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ทั้งนี้ หากถึงเวลาต้องปรับ ครม. ก็ต้องปรับ เพราะฉะนั้นที่ถามตนเองมาทุกอาทิตย์ก็ยังไม่ปรับ ครม.

เมื่อถามว่า มีการกำหนดหรือไม่ว่าต้องวัด KPI ของรัฐมนตรีแต่ละคนเมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกคนมี KPI หมด และเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนตั้งเป้าไว้สูง และก็ยังสามารถทำได้ดีกว่านี้ รวมถึงตนเองด้วย 

เมื่อถามย้ำว่า นายกฯยังเป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงหรือไม่  นายกรัฐมนตรี หัวเราะพร้อมกับส่ายหัว ก่อนจะระบุว่า เอาเป็นว่าพรุ่งนี้ต้นก็ตื่นเช้าไปทำงาน และเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

 

logoline