svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สภามีมติเสียงข้างมากเห็นชอบรายงาน กมธ.โครงการแลนด์บริดจ์

15 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สภาผู้แทนราษฏร" มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์  ขณะที่สมาชิกขอให้นำ "อีสเทิร์นซีบอร์ด" และ "มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา" มา ทบทวนกันซ้ำรอยรัฐขาดทุน รวมถึงปัญหาคนไร้สัญญาต้องถูกไล่ออกนอกพื้นที่

15 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฏร ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว

โดยสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เช่น นายราชิต สุดพุ่ม สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนะให้มีความชัดเจน หากต้องการนำโครงการเดิมอย่างโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด มาพัฒนาควบคู่กับโครงการแลนด์บริดจ์ ควรจะเป็นไปในทิศทางใด รวมทั้งควรถอดบทเรียนและนำผลกระทบที่เกิดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด มาเปรียบเทียบกับโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะดำเนินการ

นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ถือเป็นโลจิสติกส์การคมนาคมขนส่ง จึงต้องมองภาพรวมว่าในการเชื่อมระบบขนส่งจากภาคใต้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ จะสอดคล้องและเกิดประโยชน์อย่างไร และการจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์ต้องมีการก่อสร้างท่าเรือ ถมทะเล ทั้ง 2 ฝั่ง คือ อ่าวไทยและอันดามัน ประมาณ 70,000 ไร่ รวมไปถึงยังต้องมีการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร สร้างอุโมงค์ นิคมอุตสาหกรรมอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ดังนั้น ต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดและรอบด้าน ที่สำคัญต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์กับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

ด้าน "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า โครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่ม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการอนุมัติเงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท การจัดการความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม การวางวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนาภาคใต้ให้เหมาะสม เพราะโครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งหากดำเนินโครงการที่ยังไม่ชัดเจน อาจจะทำให้รัฐต้องแบกรับภาระเงินลงทุนแทนเอกชนเหมือนกับโครงการมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้ประสบความสำเร็จ ควรจะส่งเสริมให้ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ที่สามารถเชื่อมต่อโยงระบบจ่ายการไฟฟ้ากับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ต้องส่งเสริมให้ภาคใต้มีระบบชลประทานเพียงพอกับพื้นที่ทางการเกษตร 24 ล้านไร่ และต้องเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและยางพารา ซึ่งหากดำเนินการได้จริงจะสามารถลดเม็ดเงินลงทุนได้มากกว่าครึ่ง 

ขณะที่ "นายกัณวีร์ สืบแสง" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า การสร้างท่าเรือจากโครงการดังกล่าวในฝั่งอันดามัน จ.ระนอง และฝั่งอ่าวไทย ในพื้นที่ จ.ชุมพร พื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ ของ 2 จังหวัดนี้ และการเชื่อมโยงของ 2 ท่าเรือ ยังส่งผลกระทบไปยังเกษตรกรสวนทุเรียน ที่สามารถสร้างรายได้ต่อปีกว่า 4,500 ล้านบาท ที่สำคัญโครงการนี้จะส่งผลกระทบไปถึงอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ ที่กำลังเรียกร้องขอสัญชาติ หากถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ จะไม่สามารถมีตัวตนได้อีก ดังนั้น ต้องพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ให้ละเอียดรอบคอบ 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเปิดให้สมาชิกแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ก่อนที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 269 เสียง ไม่เห็นด้วย 145 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการต่อไป

logoline