svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนเส้นทาง "ทักษิณ" กับข้อหา 112 บนวิบากกรรมทางการเมือง

06 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เส้นทางชีวิต "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ดูจะไม่ราบเรียบหลังได้กลับเข้าประเทศเพื่อรับโทษจากคำวินิจฉัยศาล ซึ่งได้ตัดสินไปหลายคดีก่อนหน้านี้

ทว่า ยังมีอีกหนึ่งเรื่องร้อนๆ โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นอีกชนักปักหลัง จากผลคำให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ กำลังตามมาหลอกหลอน   

จุดเริ่มต้นของคดี ม.112

ย้อนกลับไปประเด็นนี้สืบเนื่องจาก เมื่อปี 2558 โดย “ทักษิณ ชินวัตร” ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558  ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีเนื้อหาบางช่วงบางตอนกระทบต่อสถาบันฯ

ทำให้ต่อมา "พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร" รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เวลานั้น มอบหมายสำนักพระธรรมนูญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 ต่อศาลอาญา

กระทั่งวันที่ 12 ต.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน แต่ "ทักษิณ" ในฐานะจำเลย ไม่ได้เดินทางมา เพราะยังคงลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ทำให้ศาลอาญาจึงมีการออกหมายจับเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดี พร้อมสั่งจำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะติดตามตัวมาได้

จนต่อมา เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ส่งเรื่องให้กับอัยการสูงสุด กระทั่งในวันที่ 19 ก.ย. 2559 อัยการสูงสุดได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง

ขณะที่ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 "ทักษิณ" เดินทางกลับประเทศ โดยพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งอายัดตัวต่อกรมราชทัณฑ์ และในวันที่ 17 ม.ค. 2567 ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ "ทักษิณ" รับทราบ แต่เจ้าตัวให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม
 

สำหรับแนวทางการดำเนินดคี

โดย "ประยุทธ เพชรคุณ" โฆษกอัยการสูงสุด ได้ชี้แจงไว้ 3 แนวทาง

  1. สั่งสอบเพิ่มถ้าเห็นว่ามีประเด็นต้องสอบสวนให้สิ้นสงสัย
  2. เห็นว่าสำนวนพร้อมสมบูรณ์และไม่มีประเด็นสอบสวนเพิ่ม ให้ยืนตามคำสั่งเดิมที่ฟ้องไว้ และเปลี่ยนจากเห็นควรสั่งฟ้องเป็นสั่งฟ้อง
  3. สั่งไม่ฟ้องถ้าพยานหลักฐานจากการสอบเพิ่มไปในทิศทางผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด


สำหรับคดีดังกล่าวมีอายุความ 15 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 21 พ.ค. 2573

จับ 112 พันธนาการ "ทักษิณ" เป็นตัวประกัน

ขณะที่ "รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายในมิติทางการเมือง เปรียบเสมือนสัญญาณหวาดระแวงจากคนชนชั้นนำ โดยกังวลว่า "ทักษิณ" อาจหักหลังและหันไปร่วมมือกับก้าวไกล จากท่าทีของทั้ง 2 พรรคก่อนหน้านี้เหมือนเป็นคู่จิ้น

นอกจากนี้ ที่เป็นแรงกระเพื่อมต่อมา คือ กรณี "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" ซึ่งนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องคุณสมบัติ ทำให้ภูมิใจไทยอยู่ในเงื่อนไข รวมถึงอีกแรงกระเพื่อมของรวมไทยสร้างชาติกับเรื่องของ "สุชาติ ชมกลิ่น" เรื่อยมาจนถึง "เจ๋ง ดอกจิก" ซึ่งทั้งหมดเป็นสัญญาณ และ ม.112 ทำให้ "ทักษิณ" ถูกจับเป็นตัวประกัน

 

"ทั้งหมดเริ่มเห็นอาการเจ้าของดีล ต่อไปให้จับตาสถานะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ดี"

 

อย่างไรก็ตาม จากนี้หากรัฐบาลเริ่มดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ แล้วหากต้องเลือกรัฐบาลใหม่ ให้ "อุ๊งอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้ามา แต่กระแสตอบรับก็ไม่ถึงขนาดนั้น ซึ่งถ้าดีลแบบนี้ และยังมี สว. อีก ดังนั้น พล.อ.ประวิตร จะมา ก็ต้องก่อน สว.หมดอายุ ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นแล้ว

 

"การที่ธนาธร บอกก้าวไกล เพื่อไทย เป็นพันธมิตร คนชั้นนำไม่สบายใจมากนัก และท่าที 1-2 เดือนก่อนหน้า ซึ่งเพื่อไทยเองเคยไม่เอา 112 แม้ตอนนี้จะมีการปฏิเสธจาก ภูมิธรรม เวชยชัย นพดล ปัทมะ หากนิรโทษกรรมต้องไม่ร่วมคดี 112 ก็ตาม"

 

ทั้งหมดเป็นเพียงฉากทัศน์เสี้ยวหนึ่งของ "ทักษิณ" ที่กำลังต้องเผชิญบนเส้นวิบากทางการเมือง 

logoline