svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อสส. ยันอายัด "ทักษิณ" ปม 112 เดินหน้าตามกระบวนการยุติธรรม

06 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สำนักงานอัยการสูงสุด" แถลงยืนยันการอายัดตัว "ทักษิณ ชินวัตร" ฐานความผิด ม.112 ได้แจ้งต่อกรมราชทัณฑ์เรียบร้อย ชี้ผลทางคดียังไม่สิ้นสุด เพราะเจ้าตัวมีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ อสส.

6 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีการแถลงข่าวต่อกรณีที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง หลังมีเอกสารราชการเผยแพร่บนโลกโซเชียลมีเดีย ในการอายัดตัว "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดตามประกมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

โดย "นายประยุทธ เพชรคุณ" โฆษก อสส. กล่าวว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา นายทักษิณ ผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ 

ทั้งนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของ อสส. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2559 หลังตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ตามข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อสส. จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับและพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญา และออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว

นายประยุทธ กล่าวด้วยว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 นายทักษิณ ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาอื่น ซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว และต่อมาวันที่ 17 ม.ค. 2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาให้กับนายทักษิณ ทราบ แต่ปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ซึ่งอธิบดีอัยการ จึงได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา ให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอสส. พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการ อสส. เพื่อตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนอ อสส. เพื่อพิจารณามีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป และยืนยันว่าขณะนี้พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัวนายทักษิณ ไว้กับทางกรมราชทัณฑ์ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ส่วนผลความคืบหน้าทางคดีเป็นประการใด สำนักงาน อสส. จะแถลงให้ทราบต่อไป

ด้าน "นายณรงค์ ศรีระสันต์" อัยการพิเศษฝ่ายแผนและช่วยเหลือทางกฎหมาย ในฐานะรองโฆษก กล่าวว่า วันที่แจ้งข้อหาก็มีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมมาด้วย ซึ่งก็จะนำความเห็นไปพิจารณาต่อไป ส่วนเรื่องวันพักโทษก็จะต้องมีการแจ้งกับพนักงานสอบสวนก่อน 7 วัน ว่าประสงค์รับหรือไม่ หากไม่รับก็จะได้รับการปล่อยตัวพักโทษ และไปอยู่ในสถานที่กำหนดคดีนั้น และไปรายงานตัว หากไม่มารายงานตัว หลบหนี ก็ต้องออกหมายจับ

ขณะที่ "นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์" อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกฯ กล่าวว่า การพิจารณาพักโทษนั้น ซึ่งคำสั่งนั้นทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่มีคำสั่ง แต่ทางพนักงานสอบสวนแจ้งอายัด และกรมราชทัณฑ์ตอบรับแล้ว เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 ซึ่งผลทางคดีนี้ถ้ามีการพักโทษ เรือนจำต้องแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อรับตัวนายทักษิณ มาควบคุม เพราะเป็นอำนาจดุลพินิจของพนักงานสอบสวน หรือพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน หรือฝากขัง เพื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการ แจ้งมาพนักงานอัยการ ว่าได้มีการควบคุมตัวอย่างไร และการสั่งฟัองเป็นข้อเท็จจริงขณะนั้น และได้แจ้งต่อนายทักษิณ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 67 แต่มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เป็นไปตามระเบียบให้กับผู้ต้องขังทุกคน

"พิชิต" มั่นใจทุกอย่างดำเนินการถูกต้องล้านเปอร์เซ็น

ขณะที่ "นายพิชิต ชื่นบาน" ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวนายทักษิณจะถูกอายัดตัวในคดีมาตรา 112 นั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่มี ข่าวค่อนข้างจะคลาดเคลื่อน ส่วนที่มีการระบุว่าเป็นคดีในปี 59 นั้น เป็นกรณีที่นายทักษิณพูดที่ประเทศเกาหลีใต้ เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร และเท่าที่ตรวจสอบในขณะนั้น ที่นายทักษิณถูกแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับ ก็ไม่มีโอกาสได้แก้ตัวหรือชี้แจง เพราะฉะนั้นตนคิดว่ายังไม่มีความเป็นธรรมกับนายทักษิณ

นายพิชิต กล่าวต่อว่า เพราะในกฎหมายนั้นกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ แต่กรณีดังกล่าว นายทักษิณอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้มีโอกาสชี้แจงในส่วนที่เป็นคุณ ว่าไม่ได้กระทำความผิด และคิดว่ากระบวนการนี้ค่อนข้างจะสมบูรณ์แล้ว แต่เป็นรายละเอียดในชั้นของพนักงานสอบสวนและอัยการ ก็คงไม่อยากจะให้เป็นข่าว เพราะจะทำให้เป็นกระแส และเกิดความคลาดคลื่อนกับสังคมได้ ซึ่งคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องตามกระบวนการยุติธรรมปกติ และนายทักษิณได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าคดีมาตรา 112 อยู่ในระหว่างชี้แจงและสอบสวนว่านายทักษิณไม่ได้กระทำความผิด ตามที่มีการกล่าวหาใช่หรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า ก็คงเป็นเช่นนั้น แต่ตนมั่นใจว่ามีหลายประเด็นที่นายทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเหตุเกิดต่างประเทศ และคลิปที่นำมาเผยแพร่เป็นเพียงบางท่อนบางตอนไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งตนไม่อยากกล่าวหาว่าเป็นการตัดต่อ และยังมีบางส่วนที่ขาดหายไป

 

"ในหลายเรื่องทราบว่าก็ยังไม่ได้มา รวมถึงการสอบสวน ผู้สื่อข่าวที่สัมภาษณ์ท่าน ก็ไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้ พ.ร.บ.ความร่วมมือคดีอาญาระหว่างประเทศ ในการสอบสวน ผมไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนหรืออัยการ ได้ดำเนินการขั้นตอนนี้แล้วหรือยัง เพราะเป็นกฎหมายสากล ไม่ใช่ว่ามีข่าวแล้วมาสรุปความกันว่ากระทำผิด" นายพิชิต กล่าว 

 

เมื่อถามว่า หากนายทักษิณได้รับการพักโทษ กรณีนี้ไม่สามารถอายัดตัวได้ใช่หรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า คิดว่าเรื่องหมายจับและกระบวนการต่างๆ มีการดูแลแล้ว คงไม่มีหมายอะไรมาจับหรอก พนักงานสอบสวนและอัยการได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว คงไม่ปล่อยปละละเลย เพียงแต่ว่าไม่อยากให้เป็นข่าวเพราะว่ามีสังคมอีกส่วนหนึ่ง ต้องการที่จะทำให้เกิดบางอย่าง และทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ยืนยันว่ากระบวนการในการดำเนินการกับนายทักษิณ เป็นไปด้วยดี ไม่มีอะไรพิเศษ เป็นการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ที่นายทักษิณ ไม่เคยได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเลย ขอให้สบายใจได้

เมื่อถามว่า หากนายทักษิณได้พักโทษ จะครอบคลุมคดีอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า การพักโทษเป็นไปตามหมายแดง ที่นำนายทักษิณเข้ามาสู่ประเทศไทย ว่ามีกี่คดีที่ถูกใบแดงแจ้งโทษ ตรงนี้คือตัวตัดสิน ส่วนที่มีหลายฝ่ายออกมาถกเถียงกันว่านายทักษิณได้รับโทษหรือยังนั้น ตนขอยืนยันในประเด็นข้อกฎหมายว่า ตอนที่เดินทางกลับประเทศไทยและถูกนำตัวไปศาล ศาลจะออกใบแดงแจ้งโทษ ส่วนกระบวนการบังคับโทษต้องแยก

 

"ขณะนี้มีหลายฝ่ายมากล่าวหา ว่านายทักษิณทำลายกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมได้ยุติแล้ว ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ขณะนี้เขาเรียกว่ากระบวนการบังคับโทษ และบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ศาลได้ออกใบแดง ซึ่งอยากให้จำไว้สองคำ คือ การบังคับโทษและบริหารโทษ ท่านอยู่ในกระบวนการนี้ ไม่ใช่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม" นายพิชิต ระบุ


อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นต่างได้ แต่อยากให้ไปดูข้อกฎหมาย นี่คือขั้นตอนที่นายทักษิณอยู่ ดังนั้น เรื่องการพักโทษก็ดี หรือที่มีข่าวว่ามีการออกระเบียบราชทัณฑ์เพื่อให้คุมขังอยู่ด้านนอกเรือนจำ มันเกิดไม่ได้ มันเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครกล้ากระทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าไม่เข้าใจว่าขั้นตอนนี้คืออะไร ก็จะพูดกันไปเรื่อยและหาจุดจบ อันนั้นเรียกว่ามีวาระซ่อนเร้น

อย่างไรก็ดี การบังคับโทษหรือการบริหารโทษ เป็นการดำเนินงานโดยคณะบุคคล ไม่มีคนหนึ่งคนใดทำได้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ทำไม่ได้ อยากให้รับฟังข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ และได้คิดวิเคราะห์ ว่าจะเป็นตัวทำให้สังคมแตกแยกหรือไม่ ยืนยันว่านายทักษิณยังยึดมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรม และได้เข้าสู่กระบวนการการรับโทษ และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพักโทษและการบริหารโทษก็ต้องดูให้เหมาะสมกับฐานะ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และสุขภาพของนายทักษิณ

เมื่อถามว่า มั่นใจใช่หรือไม่ว่าหากออกมาแล้วจะไม่ถูกอายัดหรือถูกควบคุมตัว นายพิชิต เอามือตบอกก่อนระบุว่า มั่นใจว่าทำถูกต้องทุกอย่างล้านเปอร์เซ็นต์ และได้รับโทษ 1 ใน 3 ครบกำหนดเรียบร้อย เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามว่าจะได้ออกมาในเดือน ก.พ. นี้แน่นอนใช่หรือไม่ นายพิชิต ได้แต่ยิ้ม แต่ไม่ตอบคำถาม

นายกฯโยนเจ้ากระทรวงยุติธรรมแจงปมอายัดตัว

"นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ปฏิเสธตอบคำถามกรณีที่อัยการสูงสุด แถลงเอกสารหลุดของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ที่อาจจะแจ้งดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 กับนายทักษิณ โดยขออายัดตัวนายทักษิณไว้ก่อน ซึ่งอาจทำให้นายทักษิณ ไม่เข้าข่ายถูกพักโทษว่า เรื่องนี้ ตนเองไม่ทราบ และขอให้ไปถาม รมว.ยุติธรรม เพราะเรื่องของนายทักษิณอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรมจะแถลงชี้แจงเอง

"ทวี"ชี้สั่งฟ้องหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาคำให้การ

ด้าน "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การอายัดตัวนายทักษิณ ในคดี ม.112 นั้น ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งการสอบสวนทางอัยการสูงสุดจะประสานตำรวจมาร่วมการสอบสวน ซึ่งการอายัดตัวถือเป็นขั้นตอนหนึ่ง หากมีผู้กระทำผิดอยู่ในคดีอื่น และถูกควบคุมตัวก็จะมีการอายัดตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวน แต่หากสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการสั่งสำนวนฟ้องหรือไม่ ซึ่งในส่วนของกรมราชทัณฑ์ก็มีเรื่องการขออายัดตัว และจะอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานสอบสวนและอัยการ โดยเมื่อสอบสวนเสร็จแล้วก็จะเป็นเรื่องของอัยการสูงสุดตำรวจก็หมดหน้าที่ไป

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีทางอัยการจะต้องนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาไปพิจารณาคดีด้วย ซึ่งเมื่อได้รับการสอบสวนแล้ว การอายัดตัวก็จะสิ้นสุดลง อาจจะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้ เพื่อรอการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งก็จะกลายเป็นคดีใหม่


 

logoline