svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ภูมิธรรม" ย้ำจุดยืนเพื่อไทยไม่แตะ ม.112 ชี้ยุบก้าวไกลแล้วโตแค่วาทกรรม

05 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ภูมิธรรม" ชี้ "ก้าวไกล" ยิ่งยุบยิ่งโตแค่วาทกรรม ย้ำจุดยืนเพื่อไทยไม่ยุ่ง ม.112 ชี้สังคมยังเห็นต่าง หวั่นสร้างขัดแย้งใหม่ ลั่นเคยถาม ชัยธวัช เอาเวลาไปแก้ปัญหาปากท้องดีกว่าไหม โยนถามรายละเอียด "ปิยบุตร" หลังเสนอลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

5 กุมภาพันธ์ 2567 ยังต้องจับกันต่อสำหรับการเมืองไทย ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเอกฉันท์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 โดยเฉพาะ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เนื่องจากนำเรื่องนี้มาใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ขณะที่บรรดานักร้องก็ได้ยื่นเรื่องต่อ กกต. เพื่อส่งศาลมีคำตัดสินยุบพรรค รวมถึงมีการยื่นให้ ป.ป.ช. พิจารณา สส. ที่ลงชื่อสนับสนุนให้แก้ไข ว่าเข้าข่ายความผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ 

โดย "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับพรรคก้าวไกล ที่มีคนมองว่ายิ่งยุบ พรรคยิ่งโต ว่า เป็นวาทกรรม จะยุบแล้วโตหรือเล็ก ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงขออย่า คาดการณ์ดีกว่า จะยุบหรือไม่ก็ยังไม่รู้ ยุบแล้วยุบแบบไหน ยุบแล้วหมดเลยหรือไม่ มันมีหลายปัจจัย อย่าไปให้ความสำคัญมาก เอาความเป็นจริงดีกว่า

ส่วนที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ วางหลักเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ไว้ ถือว่าเรื่องนี้ปิดประตูหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องนำคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญมาดู ถ้าการพูดถึงหรือดำเนินการเรื่องนี้ เป็นเรื่องของการล้มล้างการปกครอง ก็ชัดเจนว่ามติของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ก็คงต้องหยิบเรื่องนี้มา แต่ก็ต้องดูในรายละเอียด

ส่วนจุดยืนของพรรคเพื่อไทยมองเรื่องนิรโทษกรรมอย่างไร นายภูมิธรรม ระบุว่า พรรคพูดชัดเจนเรื่องมาตรา 112 มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น ว่าเรื่องนี้สามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ได้ เพราะยังมีประชาชนหลายส่วนที่เห็นแตกต่างกัน ดังนั้นจุดยืนของเพื่อไทย เรื่องใดที่ยังมีความอ่อนไหว ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ และคนยังเห็นแตกต่าง ก็ควรต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อน ถ้ายังสรุปไม่ได้ ก็ไม่ควรหยิบยกขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจึงได้เสนอเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1  หมวด 2 จนกว่าทุกอย่างชัดเจน ถ้ายังเป็นแบบนี้ก็ไม่ควรไปแตะต้อง ซึ่งสถาบันอยู่นอกเหนือการเมือง ดังนั้น เมื่อสภาพเป็นอย่างนี้ก็ไม่ควรหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาให้ไปกระทบกระเทือนสถาบัน หน้าที่ตอนนี้คือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่มีปัญหาเศรษฐกิจของประเทศหลายอย่าง ที่ควรหันมาสนใจและแก้ปัญหา ตนเคยตอบกระทู้ถามของ "นายชัยธวัช ตุลาธน" หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยถามกลับไปว่า ทำไมต้องหมกมุ่นเรื่องนี้ ทำไมไม่สนใจแก้ปัญหาให้กับประชาชน

เมื่อถามย้ำว่า ไม่ควรจะแก้ไขตอนนี้ หรือไม่เหมาะสมที่จะแก้ นายภูมิธรรม ย้ำอีกครั้งว่า ตนพูดชัดเจน ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะหยิบยกมา เพราะยังเป็นเรื่องที่เห็นต่างอยู่ในสังคมอย่านำมาสร้างความขัดแย้งใหม่

เมื่อถามว่า รวมถึงเรื่องนิรโทษกรรม คนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเอามาเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา

ส่วนความเห็นของ "นายปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่เสนอให้ออกกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อลดอำนาจนั้น นายปิยบุตรเป็นนักกฎหมาย ก็ต้องไปถามรายละเอียดจากนายปิยบุตร ส่วนตนเป็นนักรัฐศาสตร์ ไม่เข้าใจรายละเอียดที่นายปิยบุตรพูด แต่คิดว่าทุกอย่างต้องมีเหตุผลรองรับ กลไกทางการเมืองทั้งหมดเป็นเรื่องหลักการอยู่แล้ว คือ การกระจายอำนาจและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน ตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน และก็เป็นเรื่องของสภาด้วย ไม่ใช่ความเห็นของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น ความเห็นคนใดคนหนึ่งไม่ใช่สาระที่สังคมต้องเอามาดำเนินการ แต่ถ้าเป็นความคิดเห็นก็เสนอเข้าสภา ให้รัฐสภาพิจารณา เพราะถึงอย่างไรก็เป็นตัวแทนประชาชนส่วนหนึ่ง

เมื่อถามว่า อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีมากไปหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนยังไม่ดูรายละเอียด แต่คิดว่าศาลก็ทำหน้าที่ของศาล ทุกองค์กรก็ล้วนมีหน้าที่ตามสถานการณ์ตามเงื่อนไข ถ้าหากว่าเหมาะสมก็ดำเนินการต่อเป็นที่ยอมรับของทุกคน ถ้ามีปัญหาก็ไปพิจารณาจัดการอีกครั้ง แต่โดยพลวัฒน์ของการเปลี่ยนแปลง ทุกหน่วยงานทุกองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

"กรุณพล" ย้ำกฎหมายมาจากมือคนต้องแก้ได้

ด้าน นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งกมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่หลายฝ่ายออกมาไม่เห็นด้วยเนื่องจากมีการรวมคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีทุจริตและคดีอาญาต่างๆนั้น ต้องมีการถกเถียงหาข้อยุติในข้อสงสัยของแต่ละพรรค ซึ่งความเห็นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

 

"แต่หากไม่เปลี่ยนเราก็ยังยืนยันในหลักการว่าการนิรโทษกรรมควรรวมความผิดมาตรา 112 ไปด้วย แต่ไม่รวมผู้ก่อการทั้งหลายที่เป็นแกนนำ เพราะเห็นว่ามีหลายกรณีที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 สุดท้ายในบั้นปลายศาลก็ยกฟ้องให้กับผู้ถูกกล่าวหา" นายกรุณพล กล่าว

 

ทั้งนี้ ในกรณีที่หลายคนไม่ได้รับการประกันตัวและถูกขังคุกในช่วงที่สืบพยานนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่มีความเป็นธรรมเพราะหลักการทางเสรีภาพของประชาชน ทางกฎหมาย ก็บอกอยู่แล้วว่าหากศาลยังไม่มีคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด ให้ถือว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ก็สามารถประกันตัวมาต่อสู้ทางกฎหมายได้ ดังนั้น มาตรา 112 จึงไม่ได้แตกต่างจากกฎหมายแบบอื่น ที่จะมีโอกาสในการต่อสู้คดี 

 

"หากเราจะนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมด เราจะเห็นว่าคดี 112 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นการเรียกร้องที่มีการลงถนน หรือบางคนมีการพูดบางคำที่ทำให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้มีความไม่สบายใจ เราจำเป็นที่จะต้องยืนยันในหลักการนี้" นายกรุณพล ระบุ

 

ส่วนมองว่าการตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้เป็นการถ่วงเวลา นายกรุณพล กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการถ่วงเวลา แต่ย้ำว่าคดีทางการเมืองควรต้องรวมมาตรา 112 ด้วย หากสุดท้ายต้องลงมติ และไม่สามารถโน้มน้าวให้มีความเห็นแบบเดียวกันได้ ก็ถือว่ายังยืนอยู่ในจุดยืนที่ต้องการชี้ให้สังคมเห็นว่า ทำไมต้องการให้มาตรา 112 รวมอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นความเข้าใจในอนาคต กฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็ได้ปลูกฝังความเชื่อ ความคิด เหตุผล ให้คนได้ฟังว่ากฎหมายมาตรา 112 คือการกลั่นแกล้งทางการเมือง 

ส่วนพรรคก้าวไกล จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ขอให้ยุติการกระทำที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่ง จริงๆ ไม่ต้องระมัดระวัง เพราะศาลเองก็ได้บอกว่ามาตรา 112 สามารถแก้ให้เพิ่มหรือลดโทษได้ในสภาฯ ซึ่งก้าวไกลเป็นพรรคการเมือง มีหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถแก้ไขกฎหมายล้าหลังให้ทันสมัย ที่ไม่เป็นธรรมเกิดความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันได้ และมาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายที่มีคนเขียนขึ้น ไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้า ในเมื่อคนเขียนขึ้น คนก็ต้องแก้ไขได้

เมื่อถามย้ำว่า ทางพรรคได้มีการหารือในการเดินหน้ามาตรา 112 ว่าควรจะมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายกรุณพล กล่าวว่า จริงๆ ก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น และต้องรอคำวินิจฉัยตัวเต็มของศาลรัฐธรรมนูญว่าเหตุใดจึงออกคำวินิจฉัยเช่นนี้ มีข้อกำหนดใดๆ หรือไม่ที่ต้องห้ามทำ ตอนนี้ก็ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่มีออกมาเบื้องต้นก่อน แต่ยืนยันว่าการพูดนอกสภาฯ คือ การอธิบายให้เห็นถึงการแก้ไขกฎหมายทุกมาตราของประเทศนี้ ไม่ใช่เป็นการล้มล้าง

logoline