svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเหตุผล "พิธา" รอดคดีหุ้นไอทีวี

24 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดละเอียด คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 "พิธา" ครองหุ้นสื่อไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้กลับเข้าทำหน้าที่ในสภา เหตุ "ไอทีวี" ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ

24 มกราคม 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 23/2566)

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกส.ภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 วรรคหนึ่ง (2)

เปิดละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเหตุผล \"พิธา\" รอดคดีหุ้นไอทีวี

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำร้องถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 42 จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง หลักฐานทะเบียนผู้ถือหุ้น วัตถุประสงค์
ตามหนังสือบริคณห์สนธิและงบการเงิน (แบบ ส.บช. 3) ของบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุเพียงพอ ให้ผู้ร้องควรเชื่อว่าผู้ถูกร้องเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิด ปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ผู้ถูกร้องยื่นคำร้อง ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ออกไปอีก 3 วัน นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2566 และคำร้องฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ครั้งที่ 2 ออกไปอีก 30 วันนับถัดจาก
วันครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งแรกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ

เปิดละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเหตุผล \"พิธา\" รอดคดีหุ้นไอทีวี

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงและเอกสารหลักฐานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไต่สวนพยานและรับคำแถลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีรวมไว้
ในสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่ จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่นับแต่เมื่อใด

ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชี
รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริงในทางแต่สวนรับฟังได้ว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ผู้ถูกร้องจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยจำนวน 1 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

เปิดละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเหตุผล \"พิธา\" รอดคดีหุ้นไอทีวี

ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ แจงเหตุคดี "พิธา" ถือหุ้นสื่อล่าช้า

ทั้งนี้ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงสาเหตุความล่าช้าของคดีนี้ว่า ศาลฯ เคยแจ้งคู่ความในคดีนี้ ให้ทราบว่า ผู้ถูกร้อง หรือนายพิธา ได้ขอขยายเวลาการชี้แจงต่อศาล 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน รวม 60 วัน ทั้งที่คดีดังกล่าว ควรเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ 60 วันที่แล้ว โดยยืนยันว่า ศาลไม่ได้ล่าช้า และยังตำหนิการแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีในผ่านสื่อมวลชน ซึ่งถือว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร และไม่เหมาะสม เพราะอาจเป็นการชี้นำกดดันศาลได้

logoline