svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สภาไฟลุก! หลังฝ่ายค้านถามถึงคนชั้น 14 ปมได้รับอภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่น

11 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาระอุ! "ผู้นำฝ่ายค้าน"ถามรัฐบาลมีบุคคลได้อภิสิทธิ์รักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน ด้าน "ภูมิธรรม" ย้ำแพทย์วินิจฉัยสิ้นสุด ขณะที่ สส.มหาสารคาม เพื่อไทย สวมวิญญาณองครักษ์พิทักษ์นายใหญ่

11 มกราคม 2567 ประเด็นเรื่องการเข้ารับการรักษาตัวของ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 ณ โรงพยาบาลตำรวจ กำลังเผชิญกับคำถามประเด็น "อภิสิทธิ์ชน" ซึ่งได้รับเหนือกว่านักโทษรายอื่นๆ จนเข้าสู่คำว่าสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม  

โดย "นายชัยธวัช ตุลาธน" สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งกระทู้ถามสดถึงนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ที่มีบุคคลได้รับอภิสิทธิ์การรักษาพยาบาลนอกเรือนจำบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ เกินกว่า 120 วัน 

ขณะที่ "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯ ในการตอบกระทู้นี้ โดยเห็นว่า นายชัยธวัช ไม่ได้ทำความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายเท่าที่ควร เพราะพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม และเป็นกฎหมายฉบับนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว โดยที่พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ได้เป็นผู้เสนอ หรือสร้างมาเพื่อใคร และผู้ที่อยู่ในเรือนจำหากแพทย์วินิจฉัยว่าป่วย ก็ต้องดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ดังนั้น เรื่องชั้น 14 เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วก็ถือเป็นอันสิ้นสุด

"ผมเห็นว่าหากผู้นำฝ่ายค้าน ต้องการเรียกร้องใด ๆ ก็ขอให้เรียกร้องกับแพทย์ผู้รับผิดชอบ อย่านำกระบวนการที่ทำโดยปกติ มาโยนใส่รัฐบาล และทำให้กลายเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เสมอภาคกัน และขอให้ฝ่ายค้านใจกว้าง และใจเย็น และคิดให้ดี เพราะหากยังจุกจิกเช่นนี้ การแก้ปัญหาอื่นของประเทศ จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้" นายภูมิธรรม กล่าว

 

ทั้งนี้ ระหว่างการถาม-ตอบกระทู้ดังกล่าวนี้ มีการประท้วงจาก นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เป็นระยะ เช่น ขอให้ผู้นำฝ่ายค้าน รักษาเวลาการถาม เนื่องจากเวลาถามได้หมดลงไปแล้ว

ซึ่ง "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้วินิจฉัยอนุโลมเวลาให้ แต่นายไชยวัฒนา ยังคงประท้วงต่อ โดยระบุว่า ผู้นำฝ่ายค้านถามนอกประเด็น   

จนทำให้ "นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงนายไชยวัฒนา ว่าประธานการประชุมได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว แต่นายชัยวัฒนา ยังดื้อดึงไม่จบไม่สิ้นเพราะเหตุใด และ "ทำไมชั้น 14 แตะไม่ได้เลยหรือ ตนจะเอาข้าวผัดกับโอเลี้ยงไปฝาก" 

ด้านนายไชยวัฒนา ตอบโต้นายวิโรจน์กลับ และย้ำว่า เวลาการถามของผู้นำฝ่ายค้าน ได้หมดลงไปแล้ว ก่อนที่นายวันมูหะมัดนอร์ จะให้นายภูมิธรรม ตอบกระทู้ถาม โดยที่นายชัยธวัช ทักท้วงว่า ตนเองยังไม่ได้ทันตั้งคำถามใด ๆ 

"รพ.ตำรวจ"ปิดทางกมธ.ขึ้นชั้น 14 หวั่นกระทบผู้ป่วยรายอื่น

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นเข้ารับการรักษาตัวของนายทักษิณ โดยวันพรุ่งนี้ (12ม.ค.) ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี "นายชัยชนะ เดชเดโช" สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน มีกำหนดการไปศึกษาดูงาน ในเวลา 10.00 น.

โดยทาง "พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า" โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ "พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์" นายแพทย์ใหญ่ (สบ8) โรงพยาบาลตำรวจ ได้มีหนังสือตอบรับไปยัง กมธ.ตำรวจ เพื่อให้เข้ามาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการนำตัวผู้ต้องขัง ที่ส่งจากราชทัณฑ์มารักษาตัวที่โรงพยาบาล ในวันดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

 

"ย้ำว่าการเข้ามาศึกษาดูงานจะต้องไม่กระทบการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ ไม่กระทบสิทธิ์หรือละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ และไม่ทำความเสียหายให้โรงพยาบาลตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ระบุ 

 

ส่วนเรื่องนายทักษิณ ซึ่งรักษาตัวอยู่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ไม่สามารถขึ้นไปดูได้ เพราะการจะไปดูผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณ หรือผู้ป่วยรายอื่น โรงพยาบาลตำรวจคงไม่อนุญาต ส่วนการดูงานมีหลายรูปแบบซึ่งทางกองอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ จะมีการนำเสนอหรือให้ข้อมูลตามทุกอย่างที่กมธ.ตำรวจสงสัย หรืออยากทราบ
ข้อมูลส่วนไหนก็สามารถตอบได้ทุกคำถาม โดยไม่กระทบกับคนไข้ และย้ำว่าสามารถให้ข้อมูลในภาพรวมและอธิบายได้ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังมารักษา แต่การจะขอไปดูคนไข้รายใดรายหนึ่ง แค่คิดก็ไม่เหมาะสมแล้ว 

ส่วนจะมีการให้วิดิโอพูดคุยหรือเยี่ยมคนไข้ได้หรือไม่นั้น รูปแบบดังกล่าวทางโรงพยาบาลตำรวจ ไม่เคยทำ เพราะเกรงจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของคนไข้ โดยเฉพาะหากคนไข้ไม่อนุญาต ก็ไม่สามารถทำได้ทุกกรณี อีกทั้ง การขอมาศึกษาดูงานของ กมธ. ก็ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งแต่เป็นการขอดูงานในภาพรวมเท่านั้น ดังนั้น ย้ำว่าไม่สามารถพาขึ้นไปดูที่ชั้น 14 ที่พักรักษาตัวของ นายทักษิณได้ รวมถึงการขอดูผ่านกล้องวงจรปิดในห้องควบคุม

 

"หากมีการขอดู ทางแพทย์ใหญ่ได้มอบหมายผู้เกี่ยวข้อง เป็นคนอธิบายและให้ข้อมูลไว้แล้ว โดยจะต้องเป็นไปตามความเหมาะสม โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการจัดห้องประชุมชั้น 6 อาคารศรียานนท์ โรงพยาบาลตำรวจให้กมธ.ตำรวจได้รับทราบ" พ.ต.อ.หญิงศิริกุล กล่าว 

 

"เศรษฐา"ชี้"ทักษิณ"อยู่รพ.ตำรวจต่อเป็นไปตามขั้นตอน 

ด้าน "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบนายทักษิณ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยตนเชื่อว่าทางกรมราชทัณฑ์ได้รับการเสนอเรื่องมาจากโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งสิทธิของผู้ป่วยต้องมีด้วย และตนก็มั่นใจว่ากรมราชทัณฑ์พิจารณาดูดีแล้ว และทางกระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงหรือไม่เนื่องจากจะมีกลุ่มผู้ชุมนุม คปท. นัดชุมนุมปักหลักในวันที่นายกฯนอนค้างทำเนีบบรัฐบาล จะขอผู้ชุมนุมหรือไม่ว่าอย่าเอาการเมืองมาโยงให้เกิดความไม่สงบในช่วงที่กำลังฟื้นตัวเศรษฐกิจ นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่า พวกท่านรู้ ว่าเราทำหน้าที่อะไรในตอนนี้ และก็เเป็นไปตามกระบวนการ ทางกรมราชทัณฑ์ก็ทำเรื่องแล้วโรงพยาบาลตำรวจก็ตอบแล้ว ขณะที่ทางกมธ.ตำรวจ ก็จะเข้าไปตรวจสอบ ถือว่ามีกระบวนการตามกฎหมายที่ถูกต้อง ตนว่าอย่าให้เกิดความไม่สงบเกิดขึ้นเลย ซึ่งก็แล้วแต่ เพราะก็ถือเป็นสิทธิของแต่ละคน

 

"ผมย้ำว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ ขอใช้คำว่าไม่อยากให้เกิดบรรยากาศทำนองนี้เกิดขึ้นจะดีกว่า เพราะเราเองก็พยายามจะทำให้มันดีขึ้น ผู้สื่อข่าวก็เห็นว่าเราพยายามทำอย่างเต็มที่ทุกรายละเอียด ขณะเดียวกันปลีกย่อยเราก็พยายามทำอย่างเต็มที่ และต้องเข้าใจว่ามีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำต่อ แล้วผมก็พยายามทำต่อ ก็ไม่ได้หยุดยั้ง หลังจากลงพื้นที่วันนี้ ก็ต้องไปประชุมเพื่อสรุปว่าต้องทำอะไรกันต่อซึ่งในที่ประชุมที่สื่อเข้าไปด้วยก็เห็นว่า ไม่ใช่ว่าหลายเรื่องนั้นราบรื่น บางเรื่องงบประมาณยังขาดดุลต้องใช้งบสนับสนุนจากภาครัฐ" นายเศรษฐา กล่าว   

 

เมื่อถามว่า ต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมสถานการณ์หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนมั่นใจฝ่ายความมั่นคงจะดูแลอย่างดี ไม่เป็นไร 

เมื่อถามต่อว่า กังวลหรือไม่ที่จะทำให้การทำงานไม่ราบรื่น นายกเศรษฐา กล่าวว่า กังวลทุกเรื่อง ทั้ง PM 2.5 การท่องเที่ยว และม็อบ กังวลเหมือนกันทุกเรื่องเพราะแบกความคาดหวังของประชาชน 70 ล้านกว่าคน มีหน้าที่ที่ต้องทำ ก็ต้องทำกันไป หน้าที่ของตนก็พยายามทำให้ดีที่สุด และหน่วยงานต่างๆของก็พยายามทำดีที่สุด ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ตรงไหนให้คำแนะนำได้ ตรงไหนที่ต้องพูดก็ต้องพูด 

"ทวี"ย้ำคุมขังนอกเรือนจำไม่ใช่กลายปล่อยตัว

วันเดียวกัน "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงข้าราชการระดับสูงในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี โดยมี 1 ในวาระสำคัญ คือ การพิจารณาการออกหลักเกณฑ์การคุมขังนอกเรือนจำ 

โดย พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ในวันนี้ได้มีการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้า ของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่มีการออกระเบียบดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา จึงนำเข้าให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ร่วมรับทราบ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ได้รับทราบและพิจารณาร่วมกันแล้วว่าระเบียบดังกล่าวออกโดยชอบ

ส่วนหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการคัดกรองผู้ต้องขังให้กรมราชทัณฑ์ไปดำเนินการออกรายละเอียดหลักเกณฑ์ โดยไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา แต่จะต้องออกมาให้พร้อมกันทั้ง 4 หลักเกณฑ์ 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในประชุมวันนี้ไม่ได้มีการระบุถึงตัวบุคคลหรือสถานที่ โดยเฉพาะนายทักษิณ ที่รักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน แต่เป็นการพูดถึงภาพรวมของระเบียบ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ออกมา ซึ่งได้กำชับให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไปทำความเข้าใจกับประชาชน กรณีที่มีการออกระเบียบมาในช่วงเวลานี้พอดี ว่าเป็นไปตามวาระที่ต้องมีการขับเคลื่อน และเป็นจังหวะที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามา

ส่วนของนายทักษิณ จะเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วยหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่าให้เป็นไปตามอำนาจของ ผบ.เรือนจำแต่ละแห่ง ไปพิจารณาคัดเลือก ว่าผู้ต้องขังรายใดที่จะเข้าหลักเกณฑ์บ้าง พร้อมย้ำการให้ไปคุมขังที่อื่น ไม่ใช่การปล่อยตัวออกไป เพราะหากจะปล่อยตัวต้องขอศาลออกหมาย ซึ่งการออกระเบียบลักษณะนี้ ในต่างประเทศก็มีการดำเนินการเหมือนกัน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์เมินถูกฟ้องฐานละเว้นหน้าที่ 

ด้าน นายสหการณ์ กล่าวด้วยว่า การประชุมวันนี้เป็นไปตามวาระ ซึ่งจะเป็นการประชุมขับเคลื่อนงานในส่วน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ส่วนการนำวาระต่างๆ เข้ามาในที่ประชุม เป็นวาระที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาล และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ทั้งเรื่องสถานที่ การควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดี และระเบียบที่จะต้องรายงานกรรมการและอนุกรรมการให้ทราบ ซึ่งผู้ต้องขังรายใดบ้าง รวมถึงนายทักษิณ จะเข้าหลักเกณฑ์ในกฎระเบียบที่ราชทัณฑ์ออกมา ที่มีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2566 หรือไม่นั้น เรื่องนี้ให้อำนาจผู้บัญชาการแต่ละเรือนจำ เป็นผู้พิจารณา ว่าผู้ต้องขังรายใดเข้าหลักเกณฑ์

ส่วนนายทักษิณ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เกิน 120 วัน ก็เป็นไปตามกฏกระทรวง ของการพิจารณาผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยายาลภายนอก ซึ่งเป็นอำนาจที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ และกรณี ที่ กมธ.ตำรวจ จะขอเข้าไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาบตำรวจ ในวันพรุ่งนี้ (12ม.ค.) กรมราชทัณฑ์ได้ตอบรับไปแล้ว ว่าเป็นการตัดสินใจของผู้บัญชาการเรือนจำที่จะต้องพิจารณาตามระเบียบที่เหมาะสม 

 

"การจะพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ จะมีระยะเวลานานเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและความเห็นของแพทย์ และยืนยันว่าไม่มีความกังวลจะถูกดำเนินคดี ม.157 หลังมีหลายฝ่ายร้องกับ ป.ป.ช. ยืนยันไม่ได้ดำเนินการโดยพลการ ทำงานตามที่หลักกฎหมายกำหนดไว้ และการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ระเบียบภายใต้กฎหมาย ที่จะต้องขับเคลื่อนเดินหน้านโยบายต่างๆ ส่วนที่มีการกล่าวหา เช่น ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เลือกปฏิบัติตัวบุคคล มองว่าเป็นมุมมองของแต่ละบุคคล" นายสหกรณ์ กล่าว  

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการชุมนุมของกลุ่ม ศ.ป.ป.ส. และ คปท. ในวันพรุ่งนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ไม่ได้จัดกำลังดูแลเพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยยังคงเป็นตามหลักเกณฑ์เดิม และไม่ได้มองว่าเป็นการกดดันการทำงานกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้ ในส่วนของกรทราชทัณฑ์ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่รักษาตัวอยู่นอกเรือนจำเกิน 120 วัน จำนวน  3 ราย เป็นการไปรักษาตัวจากอาการป่วย ที่ไม่สามารถรักษาตัวในโรงพยาบาลเรือนจำได้ ซึ่งรวมถึงนายทักษิณ ด้วย

logoline