svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตา"เงินดิจิทัล"จะผ่านฉลุยหรือลงเอยที่ศาลรัฐธรรมนูญ

09 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐบาลลุ้นความเห็นกฤษฎีกาตีความดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นายกฯอุบตอบรอพูดหลังคณะรัฐมนตรี ด้าน "วราวุธ" ย้ำไม่ผิดวินัยการคลังก็พร้อมสนับสนุน ก้าวไกลประกาศตรวจสอบเข้มข้น ขณะที่ วันชัย มั่นใจไร้เรื่องสะดุด ด้าน ตวง มองโอกาสซ้ำรอย"มาร์ค-ปู"จบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ

9 มกราคม 2567 นับเป็นอีกเรื่องสำหรับรัฐบาลที่ต้องลุ้น โดยเฉพาะความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการตีความ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้สำหรับเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อประเทศ ในภาวะวิกฤต ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากฝ่ายค้านที่มองการออกกฎหมายดังกล่าว ไม่สอดรับกับสถานการณ์ความเป็นจริง  

โดย "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ก่อนการขึ้นประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการหารือถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นกับเรื่องหรือไม่ แต่ได้ระบุเพียงสั้นๆ ว่า เดี๋ยวให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.

ด้าน "นายชัย วัชรงค์" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย รับฟังความเห็นจากผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และประชาชนอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดี อยากให้ทุกฝ่ายมั่นใจ เข้าใจในแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการทำงานเต็มระบบ พัฒนาเต็มสูบ เต็มศักยภาพ 

 

"รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจของประเทศ ต้องการนำประเทศออกจากหล่มทางเศรษฐกิจ ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง ศักยภาพของประเทศ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งระบบ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ จะดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย ข้อบังคับที่กำหนดไว้ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง ทำความเข้าใจให้ทุกส่วนเข้าใจการทำงานของรัฐบาล และขอขอบคุณการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันเดินหน้า พัฒนาชาติบ้านเมือง" นายชัย กล่าว

 

ด้าน "นายวราวุธ ศิลปอาชา" รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งข้อเสนอเเนะเรื่องพ.ร.บ.กู้เงิน มาให้รัฐบาล ซึ่งไม่ชี้ชัดสามารถทำได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านรายละเอียดในความเห็นดังกล่าว และต้องรอคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตพิจารณา ก่อนที่ ครม. จะพิจารณาว่า คณะกรรมการมีแนวทางจะดำเนินการอย่างไร 

ส่วนพรรคร่วมจะให้ความเห็นชอบร่างดังกล่าวหรือไม่นั้น ย้ำว่าหากตรงตามเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 มาตรา 57 ทุกพรรคร่วมรัฐบาล คงไม่ปฏิเสธ ซึ่งนโยบายที่รัฐบาลนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคใด ล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชน พรรคก็ยินดีสนับสนุนเพียงแต่อยากให้ดูเงื่อนไข ให้ครบตามที่กฤษฎีกาแนะนำมา

"นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การที่ ครม. เตรียมเดินหน้าเรื่องนี้นั้น โดยฝ่ายค้านขอรอท่าทีอย่างเป็นทางการ ขณะที่พรรคก้าวไกลมีท่าทีต่อเรื่องดังกล่าวตั้งแต่แรกแล้ว จึงจะรอตรวจสอบอย่างเข้มข้นอีกครั้ง

ขณะที่ "นายวันชัย สอนศิริ" สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ยังผ่านอีกหลายขั้นตอน ถ้าผ่านกฤษฎีกา ผ่านครม. ก็ยังต้องผ่านสภาอีก ซึ่งเชื่อว่าถ้าครม.มีมติว่าเห็นชอบอย่างไร วาระที่หนึ่งก็ต้องผ่าน เพราะคุมเสียงข้างมาก โดยอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลมี 300 กว่าเสียง อย่างไรก็ต้องผ่าน ส่วนในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) เชื่อว่าการที่คุมเสียงส่วนใหญ่ได้นั้นวาระ 2-3 ก็น่าจะไปได้ ไม่น่าจะอะไรสะดุด หยุดชะงัก ถ้าผ่านมาถึงระดับนี้แล้วในชั้นวุฒิสภา ตนมีความมั่นใจ แต่อาจจะมีบางคนตั้งข้อสังเกต และไม่เห็นด้วย แต่ถึงขนาดผ่านสภามาแล้ว และเชื่อว่าการที่ สว. โหวตให้ นายเศรษฐา เป็นนายกฯก็แปรว่า สว. ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนรัฐบาลนี้ให้มาเป็นรัฐบาล 

 

"ฉะนั้นเมื่อ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านผ่านสภามาแล้วถ้าไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อกระบวนการใดๆ ผมมีความมั่นใจว่าคงจะผ่านไปได้ เพราะกระบวนการที่ผ่านสภาและกมธ. ก็ผ่านมาด้วยความรอบคอบ ถ้ากระบวนการเหล่านี้ไม่รอบคอบรัดกุม คงถูกสกัดตั้งแต่ชั้นกฤษฎีกา และชั้นสภาไปเรียบร้อยแล้ว" นายวันชัย กล่าว

 

ส่วนพ.ร.บ.ฉบับนี้จะไปติดที่ชั้นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการออกพ.ร.บ.ในลักษณะนี้ได้เลยนั้น ซึ่งตนคิดว่าฝ่ายค้านคงทำหน้าที่เต็มที่ เพราะมีช่องให้ยื่น รวมทั้ง สว. ก็อาจจะมีช่อง เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าหากไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และทุกอย่างผ่านกระบวนการต่างๆมา ก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร และเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ทำเหมือนโครงการจำนำข้าวที่ประกาศมาแล้วทำเลย แต่ครั้งนี้ออกเป็น พ.ร.บ. เมื่อพ.ร.บ.ผ่านสภาและผ่านวุฒิสภาแล้ว ก็เชื่อว่าไม่น่าจะไปสะดุด หยุดชะงัก เพียงแต่จะเป็นไปตามหาเสียง 100 เปอร์เซ็นหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะยังมีขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขอีกมาก

สำทับด้วย "นายตวง อันทะไชย" สว. กล่าวถึงกรณีที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาเปิดเผยความเห็นของกฤษฎีกา ในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา การออกพ.ร.บ.เงินกู้ในลักษณะนี้ ไม่เคยประสบความสำเร็จ ตั้งแต่สมัยรัฐบาล "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และรัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ซึ่งสุดท้ายเรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการออกพ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้ของรัฐบาลนายเศรษฐา ก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องอธิบายให้ได้เป็นอันดับแรก คือ เรื่องของประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร เพราะถ้าดูจากตัวเลขงบประมาณ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต อีกทั้งนายกฯได้เดินสายไปเชิญชวน ทุกประเทศทั่วโลกมาลงทุน แต่มาบอกคนในประเทศว่า กำลังวิกฤต

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถานการณ์ช่วงปีใหม่ที่มีการเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนกลับภูมิลำเนา พบว่ามีความคึกคักเป็นอย่างมาก สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้ว่าไม่ใช่ช่วงวิกฤตของประเทศ ไม่เหมือนช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือช่วงภาวะสงคราม และส่วนตัวมองว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ปกติ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยวิธีอื่น

 

"มันยากที่จะบอกประเทศที่ปกติให้วิกฤต ถามหน่อยว่าจะบอกว่าประเทศเราวิกฤตเรื่องอะไร วิกฤตเศรษฐกิจหรือการเมือง เพราะหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ผมว่ามันดาวน์ลง เป็นธรรมชาติทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เราอยู่ในภาวะปกติธรรมดา เหมือนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน เรากำลังเป็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ถ้าเราจะบอกว่าประชาชนเดือดร้อน ลำบาก เราจะใช้เงินเข้าไปให้เกิดการหมุนของเงิน เป็นเรื่องที่ต้องอธิบายยากพอสมควร" นายตวง ระบุ

 

ส่วนความเห็นกฤษฎีกา ไม่ได้เป็นการบอกตรงๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่ากฤษฎีกาฉลาด พร้อมขอให้ย้อนกลับไปดูความเห็นของกฤษฎีกาในอดีต ในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เคยบอกว่าโครงการไหนทำไม่ได้ แม้แต่การเขียนจดหมาย กฤษฎีกาก็จะไม่บอกว่าผิดหรือถูก อยู่ที่คนบริหารราชการแผ่นดินว่าจะใช้วิจารณญาณอย่างไร จึงอยากฝากไปยังรัฐบาล ว่าให้ยอมรับความจริง และทบทวน

อย่างไรก็ดี ยกตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งกฤษฎีก็ไม่ได้บอกว่าผิด แต่หากรัฐบาลนายเศรษฐา จะเดินหน้าต่อ เชื่อว่าเรื่องจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลให้วินิจฉัย ทั้งฝ่ายค้านหรือภาคประชาชน และศาลเคยวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้มาแล้ว ซึ่งมองว่ารัฐบาลอาจจะรู้อยู่แก่ใจ ว่าเป็นเรื่องยาก และอาจจะมีธง หรืออาจเป็นข้ออ้าง เพื่อเดินหน้าต่อในทางการเมือง เพราะทุกเรื่องต้องมีทางลง เห็นใจรัฐบาลเหมือนกันว่าจะลงอย่างไร เพราะประกาศตั้งแต่หาเสียง แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะลงอย่างไร ให้มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรีและสง่างาม ถ้าลงไม่ได้ในอดีตมีทางที่คนเคยลงคือไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตอบก็รู้อยู่แล้ว

 

logoline