svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เช็กเสียง สว. พร้อมเปิดอภิปรายรัฐบาลเศรษฐา-แย้ม 7 ประเด็นต้องเคลียร์ชัดๆ

08 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กิตติศักดิ์" หนุนวุฒิสภาเปิดอภิปราย ม.153 สะท้อนการทำงาน ไม่เกี่ยวบริหารงานนานแค่ไหน ขณะที่ "ดิเรกฤทธิ์" ย้ำรัฐมี 7 ประเด็นต้องไขข้อสงสัย ชี้ต่างสมัยรบ.ลุงตู่ รายงาน สว. ทุก 3 เดือน เลยไร้ความจำเป็นต้องซักฟอก ด้าน "เศรษฐา" พร้อมให้สภาสูงตรวจสอบ

8 มกราคม 2567 "นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ" สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยถึงการขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (8ม.ค.) จะมีการประชุมคณะ กมธ. พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ก็น่าจะมีข้อยุติ แต่ส่วนตัวมองว่าเรื่องระยะเวลาในการทำงาน ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่กี่วัน หากทำไม่ดีก็มีค่าเท่ากัน ดังนั้น จะมาบริหาร 3-4 เดือน หรือ 3-4 ปี ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลว่าบริหารประเทศชาติได้ดีหรือไม่ 
         
นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกันกับเพื่อน สว. ก็เห็นว่าพฤติกรรมของรัฐบาลในขณะนี้ มีเสียงสะท้อนเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องของ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ และเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังไม่มีใครตอบคำถามประชาชนที่สงสัยได้เลย ดังนั้น สิ่งที่ยังปกปิดอยู่ จะต้องมีความชัดเจนต่อประชาชนให้ได้

 

"ขณะนี้จากการลงพื้นที่ พบว่าประชาชนที่ค้าขายกำลังจะตายแล้ว จากที่ไม่เคยค้างค่าเช่า เกือบทุกจังหวัดกลายเป็นหนี้แล้ว ไม่มีเงินจ่ายค่าแผง จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลด้วย" นายกิตติศักดิ์ กล่าว

 

เมื่อถามว่า ไม่เกรงว่าจะเกิดข้อครหาหรือ เพราะ สว. ไม่อภิปรายรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" แต่กลับอภิปรายรัฐบาล "นายเศรษฐา ทวีสิน" ที่บริหารประเทศมาเพียง 4 เดือน นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ก็เทียบกันได้ แต่คิดว่าถ้าด้วยความเป็นธรรม ตอนนี้ผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 8-9 ปี ที่ผ่านมา ได้เกิดมรรคผลอะไรบ้าง ในขณะที่รัฐบาลของนายเศรษฐา 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทำอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์จับต้องได้บ้าง

ด้าน "นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม" สว. ในฐานะ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ กล่าวด้วยว่า กรณีที่ สว. ส่วนหนึ่ง สนับสนุนให้เกิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี หาก สว.สามารถเข้าชื่อกันได้เกิน 84 คน และมั่นใจว่า สว.ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนด้วย มากกว่าจำนวนที่จะต้องลงชื่อ และกมธ.พัฒนาการเมืองฯ ที่มี "นายเสรี สุวรรณภานนท์" สว. เป็นประธาน ก็เห็นพ้อง โดยมี 7 ประเด็นคำถามสำคัญ ที่รัฐบาลควรจะต้องอธิบาย

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งรวมไปถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ว่าสามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดกฎหมายหรือไม่ มีความจำเป็น หรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจริงหรือไม่ รวมถึงขั้นตอน และวิธีการที่รัฐบาลจะใช้ดำเนินการ รวมถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังไม่โปร่งใส และมีการเลือกปฏิบัติในภาพรวม ไม่เฉพาะบุคคลที่อยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจเท่านั้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเฉพาะวิธีการประชามติ และการเลือกตั้ง สสร. รวมไปถึงประเด็นอื่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการอภิปรายดังกล่าว จะเป็นโอกาสให้รัฐบาล ได้ให้ข้อเท็จจริง และชี้แจงข้อเคลือบแคลงสงสัยให้สังคมได้เข้าใจ และถือเป็นสิทธิ น้าที่อำนาจของวุฒิสภา ที่เป็น 1 ในนิติบัญญัติ ในการติดตามการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เพราะ สว.ก็มีหน้าที่ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ ดังนั้น เมื่อ สว.จะหมดวาระแล้ว จึงอยากทราบทิศทางของรัฐบาลในการดำเนินการปฏิรูปประเทศต่ออย่างไร เพื่อประโยชน์ประเทศ และประชาชน 
 

ส่วนสาเหตุใด สว. ตัดสินใจเปิดอภิปรายรัฐบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยมีการขอเปิดอภิปรายมาก่อนทั้งที่มีอำนาจนั้น ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้มารายงานต่อวุฒิสภา ทุก ๆ 3 เดือน และยังมีการทำงานร่วมกับกมธ.ของวุฒิสภา โดยตลอด แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน ที่มาจากการเลือกตั้ง และมีนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ต่อประชาชน เมื่อมีพันธะสัญญา ประชาชนให้ความคาดหวังที่แตกต่างกันไปแล้ว จึงต้องขับเคลื่อน ดังนั้น เวทีนี้รัฐบาลก็จะได้โอกาสชี้แจง เพื่อไม่ให้ใครมากล่าวหา ให้ร้าย อคติรัฐบาลได้ 

ด้าน "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าเกิดฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตรวจสอบต้องการความกระจ่าง หรืออะไรก็ต้องชี้แจง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องระยะเวลาในการบริหารประเทศมีเพียงแค่ 4 เดือน แต่ถือว่ามันเป็นหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับจำนวนเดือน หรือจำนวนวัน ซึ่งมีความพร้อม และยินดี

 

logoline