svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วุฒิสภา"ส่งสัญญาณถึงรัฐปมจัดงบประมาณ67-วอนทบทวนใหม่เงินหมื่นดิจิทัล

08 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมาชิกวุฒิสภา" เผยพรุ่งนี้เตรียมตั้ง กมธ. 41 คน พิจารณางบประมาณ67 คู่ขนาน สส. หลังช้ากว่าไทม์ไลน์ไปมาก มองรัฐจัดเงินไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าควร พร้อมขอให้ทบทวนโครงการเงินหมื่นดิจิทัลใหม่

8 มกราคม 2566 จากการที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติ 311 ต่อ 177 เสียง เห็นชอบรับหลักการวาระแรก ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยจะมีการนำเนื้อหาในร่างดังกล่าวเข้าสู่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ซึ่งประชุมนัดแรกกันในวันนี้ (8ม.ค.) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

ขณะที่ "พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช" สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 กระบวนการถือว่าช้ามาก ทำให้มีเวลาทำงานน้อย ตามกำหนดการต้นเดือน เม.ย. จะต้องผ่านสภาในช่วงต้นสัปดาห์ และต้องส่งให้ สว. พิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 9-10 เม.ย. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประมาณวันที่ 17 เม.ย. แต่กรอบเวลาของ สว. ในการพิจารณามีน้อยมาก แค่ 6-7 วัน 

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ประธาน สว. จึงมีดำริให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ในส่วนของวุฒิสภา ในวันพรุ่งนี้เช้า (9 ม.ค.) จำนวน 41 คน มีทั้งจากคณะกมธ. จากวิป และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 5 คน และจะเริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. คู่ขนานไปกับคณะกมธ.วิสามัญของสภา เพื่อจะช่วยให้ส่วนราชการได้มาชี้แจงคู่ขนานกันไปอย่างสะดวก

 

"คาดว่าประมาณวันที่ 20 มี.ค. กมธ.ของ สว. ก็จะจบการพิจารณา พร้อมกับกมธ.ของสภา จากนั้นจึงเข้าสู่การแปรญัตติ และนำเข้าสู่วุฒิสภา เพื่อเปิดอภิปรายงบประมาณในวันที่ 9 เม.ย. ต่อไป เพื่อให้ข้อเท็จจริงและรู้รายละเอียดเพียงพอ ซึ่งตอนนี้ทยอยแจกเอกสารรายละเอียดไปแล้ว เพื่อให้สมาชิกทยอยมารับ" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว 

สำหรับภาพรวมของงบประมาณปี 2567 นั้น ส่วนตัวมองว่า แม้จะมีข้อจำกัดมาก แต่รัฐบาลก็ดันวงเงินไปได้ถึง 3.48 ล้านล้าน ประเด็นแรกมองว่างบลงทุนเพียง 20% อาจไม่มากพอที่จะผลักดันประเทศให้พ้นจากปัญหา รวมถึงการดัน GDP ให้ถึง 5% ตามที่รัฐบาลมุ่งหวัง ด้วยงบที่จัดสรรมาอาจยังน้อยไป

นอกจากนี้ รวมถึงเข็มมุ่งในทางนโยบายของรัฐบาล ก็ยังไม่สะท้อนออกมาในงบประมาณเท่าที่ควร ส่วนใหญ่งบทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น 9% จากปีที่ผ่านมา จึงเป็นการกระจายออกไปทั่ว ดังนั้น การผลักดันนโยบายต่าง ๆ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องไปหวังพึ่งกลไกภายนอก เช่น พ.ร.บ.เงินกู้ จึงได้แต่หวังว่างบประมาณปี 2568 ที่จะออกมาไม่นานนี้ จะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น

ส่วนแนวโน้มของดิจิทัลวอลเล็ต ก็คงต้องรอวันพรุ่งนี้ (9ม.ค.) ที่รัฐบาลจะออกมาชี้แจงว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นอย่างไร แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ตอนที่รัฐบาลคิดนโยบายนี้ อาจจะยังอยู่ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จึงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินให้ประชาชนไปใช้สอย ซึ่งหลายประเทศในโลกก็ทำ 

 

"แต่ถึงวันนี้วิกฤตของเศรษฐกิจก็ยังไม่เลวร้ายนัก เงินเฟ้อต่าง ๆ ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์โลกประมาณการไว้ ดังนั้น การจะเอาเงิน 500,000 ล้านบาท ไปแจกประชาชน หากปีหน้าหรือปีถัดไปเกิดขึ้นมา ก็จะเป็นปัญหา จึงอยากให้รัฐบาลคิดอีกครั้ง ว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปหรือไม่" พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุ

ส่วนกรณีวุฒิสภาเตรียมรวมรายชื่อขอเปิดการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และยังไม่เห็นรายละเอียดว่า สว. ส่วนใหญ่ติดใจเรื่องอะไร จึงต้องขอความชัดเจนก่อน เพราะต้องใช้รายชื่อ สว. 84 คน ลงนามเพื่อเปิดอภิปราย ซึ่งไม่ใช่น้อย

 

"ก่อนหน้านี้ก็ได้พูดคุยกับเพื่อน สว. บางคน บอกว่า รัฐบาลชุดที่แล้วทำงานมา 4 ปี ทำไม สว. ไม่เปิดอภิปรายเลย รัฐบาลชุดนี้ทำงานมา 3 เดือนกว่า กลับเปิดอภิปรายแล้ว ก็ต้องดูประเด็น ว่าจะใช้มาตรานี้หรือไม่" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

 

ส่วนจะให้เวลารัฐบาลทำงานนานแค่ไหนนั้น ขอให้สิ้นปีงบประมาณนี้ไปก่อน แต่พวกตนก็คงไปก่อนเหมือนกัน ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า การเปิดอภิปรายตอนนี้ยังเร็วไป

เมื่อถามย้ำว่า จะเป็นการทิ้งทวนของ สว. หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ ตอบติดตลกว่า "ผมไม่มีทวนที่จะทิ้ง"

"สถิตย์"จวก รบ. จัดงบสวนทางนโยบายไม่ทำศก.โต 

ด้าน "นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" สว. กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ เพราะมีเวลาในการมาดูแลงบจำกัด ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผลมากนัก  เพราะในหลักการ เวลาที่ผ่านมา 100 กว่าวัน จะสังเกตเห็นว่า รัฐบาลขยันทำงานมากแต่ไม่ได้ให้เวลาเพียงพอในการดูแลงบประมาณซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการบริหารประเทศ 

ทั้งนี้ เมื่อมองภาพรวมนอกจากที่ไม่ได้นำนโยบายสำคัญ มาบรรจุในงบประมาณแล้ว ยังไม่ได้มองในระยะปานกลางหรือยาว ที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาขึ้นกว่าเดิม เพราะเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย คือ ต้องการให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือหลายคนใช้คำว่าพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง 

 

" ณ เวลานั้นประเทศไทย จะต้องเติบโตพัฒนาอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี ถึงจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในปี 2580 แต่จากการคาดการณ์งบประมาณปานกลางของรัฐบาล ปรากฏว่ายังไม่ถึงร้อยละ 5 ต่อปี แม้ในรายจ่ายงบประมาณจะมีการกำหนดไว้ว่า จะทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกประมาณร้อยละ 3.4 ต่อปี ไปจนถึงปี 2570 ก็ตาม แต่ไม่ได้แสดงนัยยะอะไรที่ให้เห็นว่าการทำงบประมาณเหล่านั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้โตได้ถึงร้อยละ 5 เพื่อเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่ยุทธศาสตร์ของการทำให้ประเทศไทย ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว" นายสถิตย์กล่าว


อย่างไรก็ดี เพราะงบการลงทุนมีเพียงร้อยละ 20.6 เท่านั้น และงบประมาณส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทางเป็นหลัก แต่เรื่องอื่น ๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ก็สำคัญเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ควรสร้างความสมดุลของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า ด้วยระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพิ่มเติมจากระบบปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน งบที่น่าสังเกต คือ งบการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่ควรให้งบประมาณกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีรายได้น้อยมากกว่าให้งบประมาณกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีรายได้ดีอยู่แล้วหาทางจัดเก็บรายได้ของตนเองให้มากขึ้น หากโครงสร้างของงบประมาณยังเป็นอย่างนี้ การปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่เต็มศักยภาพ การกระจายไปสู่ท้องถิ่นที่ยากจน ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น โครงสร้างจึงต้องรื้อกันขนานใหญ่ เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

logoline