svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กฎหมายสมรสเท่าเทียม"กับความหวังบนชีวิตที่เสมอภาค

26 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 369 ต่อ 10 เสียง รับหลักการ"ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" หรือ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ในวาระแรก จำนวน 4 ฉบับ ไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับเนื้อหาในร่างกฎหมายที่สำคัญทั้ง 4 ฉบับ อาทิ การสมรส และการหมั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย อายุ 17-18 ปีบริบูรณ์แล้ว โดยการสมรสจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ได้มีการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนแล้ว ซึ่งในการหมั้นแล้ว ฝ่ายใดผิดสัญญา อีกฝ่ายมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน

ส่วนกรณีผู้รับหมั้นผิดสัญญา จะต้องคืนของหมั้นแก่ผู้หมั้นด้วย และคู่หมั้นอีกฝ่าย อาจเรียกค่าเสียหายจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นตนภายหลังการหมั้นได้ และคู่สมรสทุกเพศ ยังมีสิทธิในสินสมรสเหมือนคู่สมรสชายหญิง สิทธิในการฟ้องหย่า การจัดการสินสมรสหลังหย่า สิทธิในมรดก

"กฎหมายสมรสเท่าเทียม"กับความหวังบนชีวิตที่เสมอภาค

โดยหลังจากนี้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ เตรียมจะส่งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในวาระที่ 2-3 ตามขั้นตอนต่อไป 

รายการ "หาเรื่องคุย" ซึ่งดำเนินรายการ โดย "ยอร์ช" ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์" ได้เชิญ "อรรณว์ ชุมาพร" หรือ "วาดดาว" นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ พร้อมด้วย "ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์" หรือ "ครูธัญ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาร่วมพูดคุยในประเด็น "คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์! คนมีค่าเท่ากัน ความหวัง LGBTQ "ชายรักชาย - หญิงรักหญิง" 

ความหวังกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมหลังจากนี้?

วาดดาว บอกว่า ถือเป็นชัยชนะของกลุ่มเพศทางเลือกในบ้านเรา และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ และหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่น ๆ ที่ยังไม่เปิดรับเพศทางเลือกได้ตื่นตัวมากขึ้น อย่างน้อยก็ช่วยเรื่องการท่องเที่ยว เพราะกลุ่มเพศทางเลือก จะมั่นใจในความปลอดภัยหากมาเที่ยวที่บ้านเรา 

 

"หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราเห็นทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ต่างช่วงชิงความเป็นผู้นำในการร่างบทกฎหมายให้ก้าวหน้า จนไปสู่ความสำเร็จ ยอมรับดีใจที่เห็นหลายภาคส่วน รวมไปถึงนายกฯ ยอมเร่งเครื่องกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม"

ภาคประชาชนหวังอย่างไรกับกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และการปราบปรามการค้าประเวณี? 

วาดดาว ยอมรับว่า แน่นอนว่ามันเป็นกฎหมายคนละหมวด และคนละมาตรากันกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่เกี่ยวข้องกันในเชิง "Sex work" ที่ต้องยอมรับว่า มีจริงในสังคมไทยมานานแล้ว รัฐบาลและภาคประชาชนเห็นด้วยที่จะส่งเสริมกฎหมายเรื่องนี้ให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษ เพื่อให้มีการคุ้มครองเรื่อง Sex work เช่น สวัสดิการแรงงาน รวมถึงหวังจะให้ยกเลิก พ.ร.บ.การค้าประเวณี เพื่อป้องกันการถูกจับ หรือโดนสังคมตีตรา ส่วนตัวมองว่า พวกเขาเหล่านี้ก็แค่ประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ ไม่ได้ด้อยไปกว่าอาชีพอื่น ๆ ด้วยซ้ำ 

ทั้งนี้ ที่ต้องจับตาหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ กฎหมายรับรองเพศสภาพ หลายคนเกิดมาไม่ต้องการใช้คำนำหน้าตามกฎหมายเดิมกำหนดให้ เช่น เกิดมาก็เป็นเด็กชาย เด็กหญิง นางสาว นาย แต่ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เขาคิดแค่ว่าอยากจะเป็นทอม กะเทย ทรานซ์ สามารถเลือกเพศได้แบบชัดเจน 

"กฎหมายสมรสเท่าเทียม"กับความหวังบนชีวิตที่เสมอภาค

หลังทราบว่าผ่านวาระแรก สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม?

ธัญวัจน์ กล่าวว่า กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ หลังคนจำนวนมากเห็นพ้องต้องกัน แม้กระทั่งได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส่วนตัวไม่หวังว่าจะต้องเป็นผลงานของพรรคใดพรรคหนึ่ง หวังแค่ให้เป็นชัยชนะของประชาชนที่กำลังจะมีความสุขกับกฎหมายนี้มากกว่า 

ในการอภิปรายล่าสุดทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันโดยที่ไม่ต้องมีการโน้มน้าว แน่นอนว่าทำแล้วย่อมได้คะแนนเสียง แต่ก็จะมีเรื่องที่ทำแล้วไม่ได้คะแนนเสียง เช่น เรื่องเปลี่ยนคำหน้าชื่อตามความสมัครใจ เพราะยังมีข้อโต้เถียงจากสังคมอีกเยอะ ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่ทำในอนาคต เชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในระยะยาว แม้แต่เรื่องกฎหมาย Sex Worker ก็อยากจะช่วยให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
 

"จึงเป็นทั้งเรื่องง่ายและเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลง และเรื่องที่ทำแล้วอาจไม่ได้คะแนนเสียง เพราะเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนที่อาจจะลุกขึ้นมาต่อต้าน หวังว่าเราจะได้อธิบายในเหตุผลของการต่อสู้ที่ว่าทำไปแล้วได้อะไร"

 

"กฎหมายสมรสเท่าเทียม"กับความหวังบนชีวิตที่เสมอภาค

 

แต่ยังมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการลงมติ แม้จะผ่านวาระแรกแบบฉลุยไปแล้วก็ตาม เหตุเพราะขัดหลักศาสนา?

"ครูธัญ"
ระบุว่า ในเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องของพรรคประชาชาติ ส่วนตัวเข้าใจในมุมของหลักศาสนาอิสลาม ก็ได้รับปากในการประชุมสภาว่า จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ จะพยายามหาทาออกเกี่ยวกับการห้ามสมรสเท่าเทียมในสามจังหวัดชายแดนใต้ 

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้ในอนาคตมีการจัดงานไพรด์ทุกจังหวัด รัฐบาลควรส่งเสริมผ่านกระทรวงการท่องเที่ยว โดยนำงบประมาณบางส่วน มาช่วยส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดได้จัดงานไพรด์ เผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชนมากขึ้น จากการลงพื้นที่หลายจังหวัด พร้อมและอยากให้รัฐเปิดกว้างในส่วนนี้ด้วย 

logoline