svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ศาลรัฐธรรมนูญ"นัด 31 ม.ค.ชี้ชะตา"พิธา-ก้าวไกล"ปมหาเสียงเลิก ม.112

25 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศาลรัฐธรรมนูญ" นัด 31 ม.ค. 67 ชี้ชะตา "พิธา-ก้าวไกล" ปมหาเสียงแก้มาตรา 112 ล้มล้างการปกครองหรือไม่ ด้าน "ธีรยุทธ" บอกไม่ติดค้างใจในการไต่สวน ชี้ร้องให้ยกเลิกการกระทำ ไม่ได้ร้องยุบพรรค "ชัยธวัช" มั่นใจผ่าน "พิธา" พร้อมยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น

25 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ 

ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน รวม 2 ปาก คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายชัยธวัช ตุลาธน โดยตอบข้อชักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน ศาลนัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น.กับนัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น.

ด้าน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เปิดเผยภายหลังการเข้าให้คำไต่สวนว่า วันนี้ไม่มีสิ่งใดที่ติดค้างใจ เพราะศาลก็เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างสูง ตนก็รอคำวินิจฉัยเพราะจะได้ทราบแนวทาง และไว้เป็นความรู้ ที่จะอยู่กับแผ่นดินนี้ไปอีกนาน  

ส่วนในชั้นศาลได้มีการใช้หลักฐานอะไร ที่เป็นการอ้างอิงว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกล ดำเนินการเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง นายธีรยุทธ ชี้แจงว่า สิ่งแรกคือ ได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักการไว้ ในการวินิจฉัยกรณีการชุมนุมงวดวันที่ 10 สิงหาคม เป็นการล้มล้างการปกครอง มาเป็นตัวตั้ง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการหาเสียง การชูนนโยบาย การเผยแพร่นโยบายผ่านสื่อ facebook, เว็บไซต์หรือช่องทางการสื่อสาร ที่เป็นช่องทางหลักของพรรคก้าวไกล

ประกอบกับมีพฤติการณ์ของสมาชิกพรรคก้าวไกลหรือสส.ของพรรคที่มีลักษณะอาจเข้าข่ายสนับสนุนการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะก่อการที่มีการยุยงปลุกปั่นอยู่ด้านนอก 

ส่วนภายหลัง หากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยสั่งให้ พรรคก้าวไกล ยุติการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรา 112 จะยื่นให้ร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อไปหรือไม่นั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนยังไม่คิดถึงขนาดนั้น เพราะโดยหลักของการมาศาล จะมีข้อกำหนดว่า จะปรารถนาอย่างอื่นเกินกว่าสิ่งที่ได้ยื่นคำร้อง หรือยื่นฟ้องไว้นั้นไม่ได้ หากศาลเห็นว่าเราปรารถนายิ่งไปกว่าอย่างอื่นที่จะวินิจฉัย ศาลอาจจะไม่ให้ความยุติธรรมกับเราได้

ซึ่งตามคำร้องตนปรารถนาเพียงว่า ให้เกิดการหยุด ให้เกิดการยกเลิก ที่จะเปิดช่องทางให้มีการก้าวล่วงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ คือสิ่งที่ตนต้องการ โดยนายคำร้องไม่ได้มีการให้ศาลพิจารณาถึงการยุบพรรค เพราะประเด็นปัญหาตามคำร้องของตน อยู่ที่การที่จะมีช่องทางใดก็ตามแต่ ที่จะให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ก้าวล่วงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้มีการบ่อนเซาะหรือบ่อนทำลายแม้แต่เพียงเล็กน้อย อาจจะขยายวงกว้างได้ในภายหน้านั้น ตนเห็นเพียงแค่ว่า จะต้องหยุดยั้ง โดยเห็นว่ามีเพียงศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีอำนาจวินิจฉัยและสั่งหยุดยั้งการกระทำนั้นได้ ตนจึงเลือกที่จะเดินทางนี้เพราะเป็นช่องทางที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เมตตารับไว้วินิจฉัย

ขณะที่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่ว่าผลวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ ก็ยังคงทำงานกับ พรรคก้าวไกลต่อไป ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่หากผลวินิจฉัยเป็นคุณก็จะได้กลับไปปฎิบัติหน้าที่ สส. ส่วนบทบาทในพรรคก้าวไกล รอความชัดเจนในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีช่วงเดือนเมษายน 2567 ทั้งนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะต้องรอผลคำวินิจฉัยของศาลออกมาก่อน ส่วนจะส่งผลอย่างไรต่อจุดยืนพรรคและ สส. เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน

"ในตอน ยื่นปี 2564 บริบทของการเมืองขณะนั้น มีการใช้ความรุนแรงและมีคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลัก 100 หรือจำนวน 268 คดี ในปี 2563 และมีการดำเนินคดีกับเยาวชน 20 คนในปี 64 พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าการเสนอแก้กฎหมายเป็นทางสายกลางและเป็นทางออกทางการเมืองในขณะนั้นเพราะฉะนั้นในแต่ละเรื่องแต่ละเวลาจะต้องดูว่าสิ่งสำคัญในระบบยุติธรรมจะต้องได้สัดส่วนเมื่อมีการละเมิดเสรีภาพกับการลงโทษก็ต้องให้ได้สัดส่วนและพื้นที่ที่ดีที่สุดคือรัฐสภา" นายพิธากล่าว

ด้าน นายชัยธวัช กล่าวว่า การไต่สวนผ่านไปได้ด้วยดี เรายังมั่นใจ ทำด้วยข้อเท็จจริงของกฎหมายและเจตนาของเรา สามารถชี้ได้ว่า ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการทำคำชี้แจงมาก่อนแล้ว ในประเด็นสำคัญ วันนี้เป็นการตอบคำถาม ประเด็นที่ทางตุลาการต้องการซักถามเพิ่มเติม ซึ่งการถามคำถามในวันนี้ มีความหลากหลาย แต่เราไม่สามารถพูดได้ทั้งหมด เพราะระหว่างไต่สวน นายพิธากับตนเอง ไม่ได้อยู่ในห้องเดียวกัน ทั้งนี้ศาลได้นัดฟังคำวินิจฉัยวันที่ 31 มกราคม 2567

"เรายังเชื่อมั่นเหมือนเดิมว่า การเสนอร่างกฎหมายใช้กระบวนการยุติธรรม ในการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวกับหมิ่นประมาทและทุกๆกฎหมาย มั่นใจว่า ไม่สามารถนำไปสู่การทำลายระบบการปกครองได้ เพราะการเสนอร่างใดๆมีกระบวนการทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวาระที่ 1, 2 หรือ 3 ซึ่งจะต้อง ใช้เสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ และยังต้องใช้คณะกรรมาธิการที่จะพิจารณาคัดกรอง เนื้อหา

อีกทั้งยังมีกระบวนการการตรวจสอบ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่ร่างกฎหมาย ผ่านสภาฯก่อนที่จะประกาศใช้ หรือหลังประกาศใช้ไปแล้ว ก็สามารถตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวมันเอง การเสนอร่างกฎหมายไม่มีทางที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้" นายชัยธวัช กล่าว

logoline