svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พงศ์เทพ" อ้าง 6 ตุลาการศาลรธน. ชี้ชัดจัดประชามติ 2 ครั้ง "ชัยธวัช" ยัน 3 ครั้ง

11 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พงศ์เทพ" อ้าง 6 ตุลาการศาลรธน. ชี้ชัดจัดประชามติ 2 ครั้ง แนะรัฐบาลเสนอเข้าสภาฯ เปิดช่องถามศาลรธน. ด้าน ''ชัยธวัช'' ยันต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ใช้เบิกทาง สว. แนะแนบคำถามพ่วงหาฉันทามติร่วมประเด็นเห็นต่าง

11 ธันวาคม 2566 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ 1 ในคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ชี้แจงถึงกรณี การเสนอความเห็นให้จัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกร่างใหม่ทั้งฉบับว่า

ในยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงมีปัญหาการจัดการออกเสียงประชามติกี่ครั้ง และต้องจัดการออกเสียงประชามติในขั้นตอนใด ซึ่งมีการอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่อ้างว่า จะต้องมีการจัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง ครั้งแรก คือ ก่อนรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากนั้นเมื่อรัฐสภา ให้ความเห็นชอบแล้ว ก็จัดการออกเสียงประชามติอีกครั้ง และเมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น ก็ให้จัดการออกเสียงประชามติอีกครั้ง 

นายพงศ์เทพ กล่าวต่อ ตนเองได้ศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งเขียนไว้ไม่ชัดเจน จึงได้ไปพิจารณาในคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน พบว่า ตุลาการ 6 คน เขียนไว้ชัดเจนว่า ทำประชามติแค่ 2 ครั้ง และตุลาการอีก 2 คน ระบุว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง และตุลาการอีก 1 คน วินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่ได้เลย

พงศ์เทพ เทพกาญจนา

ซึ่งเมื่อไปศึกษาเหตุผลการจัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง ในครั้งแรกก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเหตุผลใด ๆ เพราะแม้ประชาชนจะเห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ได้ผูกพัน สส.และ สว.ในการลงมติ ซึ่ง สส.และ สว.จะลงมติไปในทิศทางใดก็ได้ ดังนั้น การจัดการออกเสียงประชามติในครั้งแรก จึงไม่มีความหมายใด ๆ แต่เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำฉบับใหม่แล้ว

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ได้กำหนดให้จัดการออกเสียงประชามติ 1 ครั้ง จึงมีความชัดเจนแล้วว่า ประชาชนจะรับทราบแล้วว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะดำเนินการอย่างไร เช่น มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนผู้ลงประชามติจึงจะเห็นประเด็นชัดเจน ต่างจากการออกเสียงประชามติครั้งแรก ที่ประชาชนยังไม่ทราบว่า หากเห็นชอบแล้ว จะมีกระบวนการยกร่างอย่างไร และใครจะเป็นผู้ยกร่าง 

ปัญหาขณะนี้คือ จะมีสมาชิกรัฐสภา หรือ สว.บางคนจะอ้างว่า หากไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติครั้งแรก จะไม่สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่ได้ และใช้เป็นเหตุผลในการลงมติไม่รับหลักการ ฉะนั้น จะต้องมีกลไกที่ทำให้ปัญหานี้ยุติ โดยที่ใครก็ไม่สามารถอ้างได้ จึงได้เสนอวิธีการว่า เมื่อ สส.หรือรัฐบาล หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา

ไม่ว่าประธานรัฐสภา จะบรรจุวาระ หรือไม่บรรจุก็ตาม สส.หรือ สว.ก็มีสิทธิ์ที่จะยื่นญัตติด่วนว่า กรณีดังกล่าวนี้มีปัญหา เพราะหากประธานรัฐสภาบรรจุวาระ ผู้ที่ค้านก็จะเห็นว่า ประธานรัฐสภา ไม่สามารถบรรจุวาระได้ หรือแม้จะบรรจุวาระก็ไม่สามารถพิจารณาได และหากประธานรัฐสภา ไม่บรรจุวาระ ผู้เสนอก็จะบังคับให้ประธานรัฐสภา บรรจุวาระและพิจารณา จึงเกิดเป็นปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจ และหน้าที่ของรัฐสภา

ซึ่งหากสมาชิกรัฐสภา สส.และ สว.เห็นว่า มีปัญหาเกิดขึ้นจริง ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน เพราะตามคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ใช้เวลาวินิจฉัยไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยกลับมาแล้ว และมีโอกาสเป็นไปได้มากว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า รัฐสภา สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างฉบับใหม่ได้ แม้จะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเช่นนี้ ก็จะทำให้ประเทศประหยัดเงินไปกว่า 3,000 ล้านบาท และประหยัดเวลาในการจัดการออกเสียงประชามติครั้งแรกไป 4-5 เดือน โดยจะเหลือการจัดการออกเสียงประชามติเพียง 2 ครั้ง

นายพงศ์เทพ กล่าวต่อ ในกรณีนี้จำเป็นจะต้องมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาก่อน เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย จึงต้องเป็นคดีที่เกิดขึ้นจริง และมีกรณีเกิดขึ้นจริง คือ มีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เสนอไปยังประธานรัฐสภา และไม่ว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุวาระหรือไม่ ก็มีจะช่องทางในการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้

ส่วนข้อเสนอดังกล่าวนี้ จะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญฯ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หรือจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้หรือไม่นั้น นายพงศ์เทพ ชี้แจงว่า ตนเองได้เสนอความเห็นดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ แล้ว ซึ่งนายภูมิธรรม ระบุว่า ในการเสนอความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรี ก็จะเสนอไปเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่เป็นความเห็นที่เกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับว่า คณะรัฐมนตรี จะเห็นควรดำเนินการอย่างไร

นายพงศ์เทพ ยังกล่าวถึงข้อเสนอของ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 แทนการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพื่อลดขั้นตอนการจัดการออกเสียงประชามติว่า การแก้ไขเฉพาะบางหมวดสามารถทำได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรค้าวไกล ได้เสนอให้มีการยกร่างฉบับใหม่ทั้งฉบับ

จึงเชื่อว่า เป็นความต้องการของคนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มา และคำปรารภที่ทิ้งไว้แล้ว อาจเป็นทายาทอสูร แล้วอาจเห็นว่า ควรจะยกร่างฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนจริง ๆ ซึ่งก็ถือว่า มีเหตุผล แต่ยอมรับว่า วิธีการตามที่นายโภคินเสนอนั้น อาจจะง่าย แต่ขึ้นอยู่กับว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ จะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งตนเองก็ไม่ทราบ

ชัยธวัช ตุลาธน

ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อเสนอจาก นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะ 2 ตัวแทนคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้สมาชิกรัฐสภา เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับต่อรัฐสภา เพื่อให้เกิดปัญหาการตีความอำนาจของรัฐสภา ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยที่ยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติได้หรือไม่

โดยจุดยืนของพรรคก้าวไกล เห็นว่า รัฐสภามีอำนาจโดยสมบูรณ์ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา หากพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติ เพียงแต่แนะนำให้ทำประชามติก่อน ซึ่งข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ให้จัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง

ตั้งแต่ก่อนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ด้วย และที่ผ่านมา สว.ก็มีจุดยืนชัดเจนว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือให้มี ส.ส.ร.มายกร่างฯ ใหม่ ทั้งฉบับ ควรจะต้องทำประชามติ ดังนั้น จึงเห็นว่า ควรจัดการประชามติตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เสียเวลาในขั้นตอนของ สว.จนเสียโอกาส 

นายชัยธวัช กล่าวต่อ แม้การถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน จะเป็นการสร้างความชัดเจนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลามากจนเกินไป และไม่ควรทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นทุกอย่าง หรือเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภาสามารถมีคำวินิจฉัยได้ เพียงแต่ว่า ประเด็นสำคัญไม่ใช่การตีความรัฐธรรมนูญ หรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะหาแนวทางทำให้ได้เสียง สว. 1 ใน 3 อย่างไร ผลการออกเสียงประชามติครั้งแรก จะทำให้ สว.ยอมรับได้ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญ 

ดังนั้นควรใช้โอกาสการออกเสียงประชามติในครั้งแรก หาฉันทามติร่วมของประชาชนได้ว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ต่อข้อเสนอการตั้ง ส.ส.ร. และบางประเด็นที่สังคมยังมีความเห็นแตกต่างกัน ก็สามารถทำเป็นคำถามพ่วงได้ เพื่อหาข้อยุติความเห็นต่างร่วม บนกระบวนการประชาธิปไตย

ทั้งนี้ยอมรับว่า การแนบคำถามพ่วงนี้ เป็นจุดยืน และข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง ๆ ดังนั้น จึงไม่อยากให้มีการออกแบบคำถามหลัก ที่มีเงื่อนไขยิบย่อย จนทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นยิบย่อย จนลงมติไม่เห็นชอบ หรือไม่ลงคะแนน ดังนั้น หากอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง คำถามหลักควรจะเป็นคำถามที่กว้าง และมีจุดร่วมมากที่สุด ส่วนประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน สามารถถามได้ในคำถามย่อย 

logoline