svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ไทย-จีน" ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเดินหน้าซื้อเรือดำน้ำต่อเพื่อรักษาสัมพันธ์

"คณะทำงานไทย-จีน" ได้ข้อสรุป ไม่เลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำ เพื่อรักษาสัมพันธ์ 2 ชาติ ด้านจีนพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือทางทหาร เลี่ยงใช้คำ "ชดเชย" อุบตอบรายการให้เพิ่มเติม รอ ครม. ไทยเห็นชอบก่อน

16 พฤษภาคม 2567 การเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำเบื้องต้น ระหว่าง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำจีนของกระทรวงกลาโหม นำโดย "พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา" ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม กับตัวแทนหน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมจีน และตัวแทนบริษัท CSOC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต ที่กระทรวงกลาโหม ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ค. 2567 ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ มีข้อสรุปเบื้องต้น จะเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนต่อ โดย "นายสุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมด้วย

สำหรับการเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่างไทย-จีน ดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาการเจรจาอาจจะล่าช้า เพราะทางฝ่ายจีน อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างกองทัพ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่ขณะนี้ได้รวมศูนย์หน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ เป็นหน่วยงานเดียว ขึ้นกับกระทรวงกลาโหมจีน

ซึ่งได้เดินทางมาร่วมพูดคุยหาทางออกในครั้งนี้ด้วย โดยหน่วยงานของจีนที่ส่งมา คือ The Bureau of Military Equipment and Technology Cooperation (BOMETEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองการขายอาวุธที่มีใช้ในกองทัพจีนให้กับต่างประเทศ และ The State administration of Science, Technology and Industry for national Defense (SASTIND) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองบริษัทที่ขายอาวุธให้ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ทางออกในการแก้ปัญหาโครงการเรือดำน้ำ มี 2 ทาง คือ

  1. เดินหน้าต่อ
  2. ยกเลิก ซึ่งการเปลี่ยนจากเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ก็เท่ากับการยกเลิกโครงการเรือดำน้ำด้วยเช่นกัน


ทั้งนี้ จากการหารือและประเมินข้อดี-ข้อเสีย พบว่า การยกเลิกโครงการจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยฝ่ายไทย อาจต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องเงินค่างวดที่จ่ายไปล่วงหน้า และอาจได้คืนเพียงบางส่วน ไม่ครบตามจำนวนที่จ่ายไปทั้งหมด  

ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเลือกเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำต่อ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยฝ่ายจีนยินดีที่จะสนับสนุนทางการทหาร เช่น การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ทั้งเครื่องช่วยฝึก หรือ Simulator และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงเรื่องระบบประกัน การฝึกศึกษา ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แต่ทางจีนยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เพราะต้องการให้โครงการเรือดำน้ำเดินหน้าอย่างชัดเจนก่อน

สำหรับขั้นตอนต่อไป กระทรวงกลาโหมจะสรุปผลการเจรจานำเสนอ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี พิจารณาเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะต้องมีการแก้สัญญา 2 ส่วน ได้แก่ การขยายเวลาสัญญาต่อเรือดำน้ำออกไปอีกราว 1,200 วัน และ การเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเยอรมัน MTU 396 เป็นเครื่องยนต์จีน CHD 620 เพื่อให้ ครม. เห็นชอบต่อไป

ส่วนข้อมูลเครื่องยนต์ CHD 620 ได้ผ่านมาตรฐานจากสมาคมจัดชั้นเรือของประเทศอังกฤษ และประเทศปากีสถาน ได้จัดซื้อเรือ ดำน้ำจีนที่ติดตั้งเครื่องยนต์ CHD 620 เช่นกัน ซึ่งน่าจะได้เห็นประสิทธิภาพของเรือดำน้ำในอีกไม่นานนี้

แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า การเจรจาครั้งนี้ หน่วยงานจีนได้รับข้อเสนอของไทยในการเพิ่มเติมการสนับสนุน โดยไม่ได้ใช้คำว่าชดเชย และจะนำกลับไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กลางทหารของจีนอีกครั้ง

เช่นเดียวกับข้อแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านการเกษตรฯ หรือ บาร์เตอร์เทรด แต่ที่สำคัญ คือ การจะเดินหน้าต่อ รัฐบาลไทยต้องมีมติในเรื่องการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำ และการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้ทางไทย ยังไม่เปิดเผยรายการที่ทางจีนจะให้กับไทยอย่างละเอียด

ขณะที่มีรายงานข่าวในกระทรวงกลาโหมแจ้งว่า การเจรจากับจีนยังไม่จบทั้งหมด แต่จากนี้การพูดคุยจะใช้วิธีผ่านทางวิดีโอคอล คาดว่าน่าจะจบเร็วๆนี้ และคงต้องไปหา "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ที่กำกับดูแล เพราะต้องไปรายงานความคืบหน้าเรื่องเรือดำน้ำ เมื่อได้ทิศทางที่ชัดเจน