svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ฮามาส-แรงงานไทย" แรงสะท้อนโจทย์ตัวประกัน กับสงครามชอบธรรม?

12 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์สงครามในอิสราเอลกำลังปะทุสู่ขั้นรุนแรง ชวนให้ตระหนักอย่างยิ่งว่าการปฏิบัติการจู่โจมครั้งนี้ของ "กลุ่มฮามาส" เกิดความชอบธรรมได้อย่างไร

"ทีมข่าวเนชั่น" ได้สนทนากับ รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้ความเห็นไว้ดังนี้ "ต้องเรียนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ถูกรุกล้ำมาโดยตลอด"

อีกทั้งยังพบเห็นการปะทะระหว่าง "ทหารอิสราเอล" กับ "ชาวปาเลสไตน์" ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่าง "ก้อนหินกับปืน" ฉะนั้นการต่อสู้ในครั้งนี้หรือปฏิบัติการในครั้งนี้คือการตอกย้ำปฏิบัติการที่ต่อต้านการถูก "กดขี่" มาอย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งหนึ่งที่ "ฮามาส" ทำเกินปฏิบัติการกว่าครั้งที่ผ่านมา อาจจะเป็นการสร้างความก้าวหน้าในสงครามกลางเมืองนั่น คือ "ยุทธวิธีโจมตีสายฟ้าแลบ" หรือรอช่วงจังหวะเวลาที่ฝ่ายตรงกันข้ามเกิดความอ่อนแอทางด้านการเมือง ด้วยการใช้อาวุธที่ทันสมัยและการใช้เทคโนโลยี

แน่นอนว่าจะต้องมีการให้การช่วยเหลือสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในด้านนี้ นัยยะสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนออกมาสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้คือ "การสลายเส้นแบ่งระหว่างสงครามกลางเมืองกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ" ออกไปด้วยกันอย่างสิ้นเชิง

เนื่องจากว่าปฏิบัติการครั้งนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาของการ "เปลี่ยนขั้วของมหาอำนาจโลก" การกระทำใด ๆ ของฮามาสในครั้งนี้ จึงไม่ได้สะท้อนเฉพาะการต่อสู้ต่อต้านการกดขี่ของ "ชาวปาเลสไตน์" แต่ยังหมายถึงการสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจในระดับภูมิภาค แม้ว่าอยากจะหลีกเลี่ยง แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ฉะนั้นจากโจทย์ที่ต้องการสลายเส้นแบ่งจาก "สงครามกลางเมือง" และการต่อต้านการถูกกดขี่มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเริ่มหาคำตอบได้ หากแต่โจทย์ที่ "ฮามาส" ยังไม่แก้ไขได้คือ "โจทย์ของตัวประกัน"

เป็นความพยายามยึดตัวประกันเพื่อสร้างแรงกดดันต่อ "รัฐบาลอิสราเอล" หรือแม้กระทั่งการสร้างเพดานในการต่อรองให้ปล่อย "นักโทษการเมือง" ที่ถูกประมาณการว่ามีมากกว่า 7,000 คน นั้น กลับกลายเป็นแรงสะท้อนกลับกลุ่มฮามาสเอง หากฮามาสไม่สามารถจำแนกกลุ่มประเภทของตัวประกันได้ กล่าวคือ

"ตัวประกัน" หากเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญ หรือเป็นกลุ่มปกครองที่สร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาล อย่างเช่นกรณีกลุ่มทหาร หรือประชาชนชาวอิสราเอล แน่นอนว่าแรงกดดันจะมีแรงสะท้อนไปยังรัฐบาลอิสราเอล โดยเฉพาะการพยายามบีบบังคับให้มีการต่อรองหรือแม้กระทั่งบรรลุจุดมุ่งหมายในการปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวปาเลสไตน์
\"ฮามาส-แรงงานไทย\" แรงสะท้อนโจทย์ตัวประกัน กับสงครามชอบธรรม?
แต่ในอีกด้านหนึ่งการจับตัวประกันครั้งนี้ โดยเฉพาะในเขตรอยต่อที่เป็นความขัดแย้ง กลับมีกลุ่ม "แรงงานข้ามชาติ" อยู่ในพื้นที่ด้วย ฉะนั้น "ตัวประกัน" กลุ่มนี้ก็ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้กับ "รัฐบาลอิสราเอล" แต่ยังกลายเป็นแรงสะท้อน กดดันไปยังกลุ่มฮามาสเอง

เนื่องจากว่าการสลายเส้นแบ่งระหว่าง "สงครามกลางเมือง" ให้นานาอารยประเทศรับทราบ แต่เป็นการใช้คนในระดับนานาชาติกลายเป็นตัวประกัน ย่อมไม่ใช่คำตอบของการสร้างสงครามที่มีความชอบธรรม

ฉะนั้นหาก "ฮามาส" ต้องการทำให้การบรรลุจุดมุ่งหมายในการทำสงครามครั้งนี้สำเร็จ การจำแนกและปล่อยตัวประกันที่ไม่ได้มีอำนาจในแรงต่อรอง จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญมาก
\"ฮามาส-แรงงานไทย\" แรงสะท้อนโจทย์ตัวประกัน กับสงครามชอบธรรม?

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญนั่นคือ ปกติในสงครามกลางเมืองมักจะมีกลไกด้านเศรษฐกิจของกลุ่มติดอาวุธผสมผสานอยู่ด้วย โดยเฉพาะการค้าหรือตลาดมืดสิ่งผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตามกรณีของ "กลุ่มฮามาส" นี้ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีธุรกิจใดที่เกี่ยวเนื่องกับ "ค้าแรงงาน" หรือสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่ "การจับแรงงาน" และมีการขายตัวส่งต่อกันไป นอกจากที่จะไม่สร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มฮามาสเองแล้ว ยังกลายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีด้วย

ข้อจำกัดของกลุ่มฮามาสในประเด็นดังกล่าวนี้ อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทางการไทยสามารถใช้เป็นประเด็นในการต่อรองได้ โดยเฉพาะต้องเน้นย้ำและชี้ให้เห็นว่า "ทางการไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งและทางการไทยยืนอยู่ข้างความยุติธรรมเสมอ" หากการขายแรงงานเป็นการกระทำโดยเฉพาะส่วนตัวของกลุ่มคนที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับนโยบายของฮามาสหรือคู่ขัดแย้งเอง
\"ฮามาส-แรงงานไทย\" แรงสะท้อนโจทย์ตัวประกัน กับสงครามชอบธรรม?
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งให้ทางการคนที่คุมกองกำลังเข้าไปเจรจาต่อรองและปล่อยตัว จะมีโอกาสทำให้เกิดความสำเร็จสูงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่ฝ่ายต่อต้านมีความได้เปรียบทางด้านการทหาร แต่หากเป็นการซื้อขายแรงงานโดยมีนายหน้าเป็นคนอิสราเอลเอง

กลไกการเจรจาต่อรองอาจจะต้องให้น้ำหนักกับทางฝ่าย "รัฐบาลอิสราเอล" ซึ่งจะต้องให้ความคุ้มครองและหลักประกันด้านความปลอดภัยให้กับ "แรงงานข้ามชาติ" เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความระมัดระวังในการส่งแรงงานเข้าไปในพื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง

อาจกล่าวได้ว่า "การปะทะ" ในปัจจุบันระหว่าง "ฮามาสกับอิสราเอล" เป็นพัฒนาการของสงครามกลางเมืองที่มีความต่อเนื่อง และการยกระดับให้มีการผสมผสานกับ "สงครามอสมมาตร" หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ การสลายเส้นแบ่งของสงครามกลางเมือง ในยุคที่มีการต่อสู้ของชาติมหาอำนาจและการเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจโลก
\"ฮามาส-แรงงานไทย\" แรงสะท้อนโจทย์ตัวประกัน กับสงครามชอบธรรม?
สิ่งที่มีความสุ่มเสียงต่อความมั่นคงในอนาคตหนีไม่พ้น "กลุ่มมหาอำนาจเดิม" จะเผชิญหน้ากับความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ความสามารถในการสั่งการและออกแบบกลไกสงครามใน "ตะวันออกกลาง" จะค่อย ๆ ถดถอยลง พร้อมกันกับการเข้ามาคานอำนาจและแสดงบทบาทของ "กลุ่มมหาอำนาจใหม่"

แต่ในอีกมิติหนึ่งคำถามใหญ่ที่มีความสำคัญ คือ "สงครามกลางเมืองในปาเลสไตน์" จะถูกผนวกรวมกลายเป็น "เครือข่ายสงครามร่วมสมัย" กับสงครามหรือความขัดแย้งอื่น ๆ ทั่วโลกด้วยหรือไม่?

ทั้งความขัดแย้ง "ยูเครน" ความขัดแย้งใน "ช่องแคบไต้หวัน" ความขัดแย้งใน "คาบสมุทรเกาหลี" หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งใน "เมียนมา"
\"ฮามาส-แรงงานไทย\" แรงสะท้อนโจทย์ตัวประกัน กับสงครามชอบธรรม?

logoline