svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รื้อรัฐธรรมนูญ 4 ปี ตามกลไก หรือยื้อเวลา ? 

23 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เพื่อแก้ปัญหาความเห็นต่าง และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการออกแบบกติกาปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับ

แต่นโยบายดังกล่าวกลับถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามถึงความไม่ชัดเจน ทั้งใครจะมาเป็นผู้ยกร่าง ลักษณะเนื้อหา และระยะเวลา อีกทั้งการกำหนดกรอบระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องใช้เวลา 3-4 ปี ก็ยังเกิดข้อสงสัยว่า เป็นความพยายามยื้อเวลาการแก้ไขหรือไม่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญในอดีตปี 40 และ ปี 50 ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี และ รัฐธรรมนูญ 60 ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง  

โดยประเด็นนี้ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ชี้แจงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เวลาร่วม 4 ปีว่า เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้มีการจัดการออกเสียงประชามติสอบถามความเห็นประชาชนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างฉบับใหม่แล้ว หากประชาชนเห็นชอบรัฐบาล ก็จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้รัฐสภาพิจารณา และนำไปทำประชามติอีกครั้ง หากประชาชนเห็นชอบ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเข้าสู่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำไปประชามติสอบถามประชาชนเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และให้สังคมตกผลึกร่วมกัน พร้อมยืนยันว่า ไม่ใช่การยื้อเวลา แต่เป็นการเคลียร์เส้นทางให้ชัดเจน 

นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นกล่าวคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 11 ก.ย.2566

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก อำจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย มองว่า กรอบระยะเวลา 3-4 ปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่กำลังดี เพราะหากมีการเร่งจัดทำให้แล้วเสร็จ ก็อาจจะไม่เป็นผลดี เพราะขั้นตอน และเนื้อหา มีความสำคัญ ซึ่งขั้นตอนที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการศึกษาก่อน ส่วนที่ควรจะแก้ไขเพิ่มเติมตามความเหมาะสม และการเปลี่ยนแปลง รวมถึงส่วนที่ควรจะยกร่างเพิ่ม หรือเขียนใหม่

ส่วนความจำเป็นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.นั้น หาก ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งเหมือน สส.แล้ว ก็ไม่มีความแตกต่างกัน และเป็นคนประเภทเดียวกัน เพราะนักวิชาการ ผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่มีฐานเสียงเหมือนบรรดานักเลือกตั้ง มีกลไกต่าง ๆ ในพื้นที่

"กระบวนการที่สำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะต้องไปรับฟังความเห็นประชาชนในประเด็นต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ มีการประชาพิจารณ์ ปรึกษาหารือกับประชาชน เพื่อให้การบัญญัติ และการบังคับใช้ จะมีประโยชน์ และเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชาติโดยแท้จริง ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ เฉพาะของ ส.ส.ร."

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก อ.ประจำคณะนิติศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีขั้นตอนที่มากพอสมควร โดยเฉพาะการจัดการออกเสียงประชามติอย่างน้อย 2-3 ครั้ง รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ทำให้กระบวนการทั้งหมดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นรูปเป็นร่าง และสามารถบังคับใช้ได้ ดังนั้นการกำหนดระยะเวลาของรัฐบาลเพื่อไทย ที่กำหนดไว้ 3-4 ปี ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกระบวนการที่ต้องมี

รศ.ดร.ยุทธพร ยังแสดงความกังวลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในมาตรา 256 ยังคงเปิดโอกาส ให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. มีส่วนร่วมในการลงมติวาระที่ 1 และ 3 ซึ่งแม้สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน จะหมดวาระในช่วงกลางปีหน้า แต่สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ก็ยังคงมีอำนาจดังกล่าวอยู่ด้วย รวมถึงปัญหาเสียงในพรรคร่วมรัฐบาลเองด้วย ที่บางพรรคการเมืองก็ได้แสดงจุดยืนมาแล้วว่าไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงมีอุปสรรค และมีโจทย์ที่ยากอยู่ เพราะแม้ผลการออกเสียงประชามติ ประชาชนจะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในการพิจารณาของรัฐสภา ก็อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบก็ได้ เพราะเนื่องจากผลการออกเสียงประชามติ ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อ.ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ขณะที่ ความคืบหน้าการเตรียมการจัดการออกเสียงประชามตินั้น นายภูมิธรรม เวยชชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยืนยันว่า หลังจากนี้ 1-2 สัปดาห์ จะมีการตั้งคณะกรรมการให้เสร็จสิ้น และกำหนดการประชุมนัดแรก เพื่อกำหนดขอบเขต และเป้าหมายการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้น ทันต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

 

logoline