svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดโมเดล"แก้รธน."ฉบับ ครม.เศรษฐา ต้อง"ประชามติ" กันกี่รอบ ใช้เวลากี่ปี     

17 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่แรก  เปิดโมเดล "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ฉบับ "รัฐบาลเศรษฐา" เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรธน.ขั้นตอนจากนี้จะเป็นอย่างไร จะเป็นการแก้ไขรธน.ทั้งฉบับหรือรายมาตรา จัดให้มีสสร.หรือไม่ และต้องทำประชามติกี่ครั้ง ติดตามได้ที่นี่

17 กันยายน  2566  ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ"เศรษฐา ทวีสิน"เข้าบริหารประเทศ และออกสตาร์ทด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา  

วาระสำคัญ ที่ฝ่ายการเมืองจับตาไม่กระพริบ คือ"การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เพราะเป็นหนึ่งในโยบายหาเสียงทางการเมือง และบรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา  แม้ว่ามีข้อสังเกตจากฝ่ายค้าน ไม่พบการเขียนนโยบายว่า การแก้ไขรธน. จะให้มีสสร.มายกร่างหรือไม่นั้น แต่รัฐบาลเศรษฐา แสดงให้เห็นถึงการเดินหน้าพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง  

 "นายชัย วัชรงค์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


"นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยแนวทางให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ และได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ"   

 "นายชัย วัชรงค์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 

"นายชูศักดิ์  ศิรินิล"  รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและมือกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผย"เนชั่นทีวี" ถึงแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติ ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องรอให้นาย"ภูมิธรรม  เวชยชัย"  รองนายกฯและรมว.พาณิชย์  นัดหมายหารือก่อน โดยส่วนตัว โครงสร้างของคณะกรรมการศึกษาการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ควรประกอบด้วย ตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง รวมถึงตัวแทนของพรรคฝ่ายค้านด้วยก็ยินดี และมีตัวแทนภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาฯ

ชูศักดิ์  ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และมือกฎหมายพรรค

"กระบวนการทำงานคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ คาดว่าใช้เวลาไม่มาก เพียงแต่ร่วมหารือให้ตกผลึก เกี่ยวกับการแก้ไขรธน. ซึ่งในชั้นนี้ จุดมุ่งหมายของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ ก่อนหาเสียงยังยึดในหลักการเดิม คือ การแก้ไขรธน.ทั้งฉบับ โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในการจัดทำ รธน." มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าว 

"นายชูศักดิ์"  เปิดเผยว่า  หลังจาก คระกรรมการศึกษาแก้ไขรธน. ได้ข้อสรุปจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)  พิจารณา เพื่อจัดทำประชามติ เห็นสมควรแก้ไขรธน.หรือไม่ โดยเรายึดตามคำวินิจฉัยของศาลรธน.การแก้ไขรธน. จะต้องผ่านการจัดทำประชามติก่อน

"ดังนั้น คำถามในการทำประชามติ จึงต้องเขียนให้รอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาภายหลัง เช่น  การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ สมควรแก้ไข รธน.ทั้งฉบับ โดยมี สสร.ที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน มายกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่"  

ทันทีที่ครม.รับหลักการ  เท่ากับเป็นการออกสตาร์ทกระบวนการแก้ไขรธน. โดยครม.จะได้มอบหมาย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำประชามติ ซึ่งจะใช้เวลาตามกฎหมายประชามติ ภายในเวลา 90 วันแต่ไม่เกิน 120 วัน  

เปิดโมเดล\"แก้รธน.\"ฉบับ ครม.เศรษฐา ต้อง\"ประชามติ\" กันกี่รอบ ใช้เวลากี่ปี     

"มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย"  เปิดเผย ไทม์ไลน์แก้รธน.ว่า  ในกรณีประชามติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรธน. ถัดจากนั้นเป็นหน้าที่ของ ครม. ดำเนินการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรธน.มาตรา 256  ถึงกระบวนการแก้ไขรธน.โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรธน.จำนวนกี่คนอะไรก็ว่าไป จัดทำร่างรธน. เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ตามกระบวนการปกติ เมื่อผ่านวาระ 1,2,3 จึงนำไปประชามติอีกรอบ หากประชาชนเห็นชอบจะได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรธน.มาตรา 256 นำขึ้นทูลเกล้าฯ  ประกาศใช้ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง สสร.ไปทำหน้าที่แก้ไขรธน. 

ชูศักดิ์  ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และมือกฎหมายพรรค

"กระบวนการในชั้นนี้จะมีการเลือกตั้ง "สสร."เพื่อไปทำการยกร่างแก้ไขรธน. โดย"สสร".อาจมีรูปแบบเหมือนการแก้ไขรธน.ปี 2540 ก็เป็นได้ โดยสสร. ก็จะตั้งกมธ. พิจารณารธน. และเดินสายเปิดเวทรับฟังความคิดเห็น นำมายกร่างแก้ไข เมื่อเสร็จสิ้นแล้วต้องทำประชามติสอบถามประชาชนเห็นชอบกับร่างแก้ไขรธน.ฉบับนี้หรือไม่  

หากเห็นชอบ จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ กระบวนการในชั้นนี้เบ็ดเสร็จใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน ยังไม่นับรวม เมื่อรธน.ประกาศใช้ต้องมีการตรากฎหมายประกอบรธน. เช่น กม.ลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง กม.ลูกว่าด้วย พรรคการเมืองกม.ลูกว่าด้วยกกต. ฯลฯ ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือน" 

"นายชูศักดิ์"  ยังสรุป จะเห็นว่า กระบวนการแก้ไขรธน.ครั้งนี้  รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีความมุ่งมั่นมาก การที่ครม.มีมติ ตั้งคณะกรรมการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าเป็นการซื้อเวลา แต่เป็นการเริ่มต้นเคลียร์เส้นทางให้เกิดความชัดเจน รอบคอบ โดยเฉพาะการหารือร่วมกันให้ตกผลึกกันก่อน จะดำเนินการหนึ่งสองสามสี่อย่างไร

โดยเฉพาะการทำประชามติจะเห็นว่า ต้องมีการทำประชามติรวมถึงการเลือกตั้ง สสร. รวมกันแล้ว ถึง 4 ครั้ง ซึ่งถ้าเราทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ให้เป็นที่ตรงกัน  การเปิดทางให้แก้ไขรธน.มีความชัดเจนเชื่อว่าจะไม่เกิดอุปสรรคปัญหาระหว่างเส้นทาง

logoline