svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชัยธวัช" ชี้ ก้าวไกล ไม่โหวตให้ "เศรษฐา" เหตุขัดเจตจำนงปชช. ไม่ใช่คุณสมบัติ

22 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชัยธวัช" ชี้ มติ"ก้าวไกล" ไม่โหวตให้ "เศรษฐา" แจงไม่ใช่สาเหตุคุณสมบัติ แต่ขัดต่อเจตจำนงของประชาชน ซัด จัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ ไม่ใช่สลายขั้ว แต่เป็นการต่อลมหายใจระบอบ คสช.

22 สิงหาคม 2566 การประชุมร่วมรัฐสภา ในวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยการเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปราย ตอนหนึ่งว่า ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ไม่สามารถที่จะเห็นชอบนายเศรษฐาได้ เหตุผลไม่ใช่เป็นเพราะเราไม่รู้จักหรือไม่มีข้อมูลของสมาชิกบางท่านได้อภิปรายซักถาม

ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้ว ตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง และตนก็หวังว่าสมาชิกรัฐสภาของพวกเราทุกคน ก็ควรจะให้ความสำคัญตามข่าวสารบ้านเมืองในการเลือกตั้ง และคิดว่าน่าจะได้ใช้สิทธิ์นั้นใช้วิจารณญาณไปแล้ว ในวันเลือกตั้งพร้อมกับประชาชนทุกคน

เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ไม่สามารถที่จะเห็นชอบได้ในวันนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติของนายเศรษฐา อย่างที่มีการกล่าวหากัน

เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ไม่สามารถโหวตเห็นชอบได้เป็นเหตุผลง่ายๆ เพราะเราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปแล้วในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการยุติรัฐบาลและระบบการเมืองที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหารของคสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาต)

“พวกเราพรรคก้าวไกลยังเห็นด้วยว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ควมพยายามที่จะสลายขั้วความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อ แต่คือการต่อลมหายใจให้กับระบบการเมืองที่ระบบคสช. วางไว้และดำเนินการสืบไป” นายชัยธวัช กล่าว

 

ก้าวไกล  เผยเหตุไม่โหวต เศรษฐา นายกฯ เพราะจัดตั้งรัฐบาลต่ออำนาจคสช.

นายชัยธวัช กล่าวต่อ หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นจะต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระประชาชน วาระของประเทศเป็นตัวตั้ง ตนอยากจะชวนท่านประธานคิดใหม่ว่า แล้วอะไรคือราคา อะไรคือต้นทุนที่ประชาชนและสังคมไทยจะต้องจ่ายให้แก่การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ประการแรก ตนเห็นว่า ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่ายคือ ความหวัง การเลือกตั้งที่ผ่านมาเคยเป็นวันแห่งความหวังของประชาชน พวกเขาหวังว่า เสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยออกจากระบบ ที่เป็นที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหารได้ในที่สุดโดยสันติ พวกเขาหวังว่า เสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองของไทยเดินหน้าไปสู่อนาคต ไม่ใช่เดินวนกลับไปสู่อดีตอย่างที่พวกเขารับรู้กันอยู่ในขณะนี้

ประการที่สอง ตนเห็นว่า ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย ให้กับการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในขณะนี้ พี่น้องประชาชนเคยเชื่อจริงๆว่า ประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดนั้นคืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อพวกเขาไปใช้อำนาจเลือกตั้ง ปรากฏว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จะกลับกลายเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ ที่อนุญาตให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตั้งได้พอเป็นพิธี แต่จะไม่มีวันยอมให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ นั่นคือราคาที่พี่น้องประชาชนต้องจ่าย ตอนนี้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีประชาชนไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

ประการที่สาม ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่ายคือ ความศรัทธา การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ กำลังทำให้พวกเราสูญเสียต้นทุนทางสังคม ที่สำคัญคือ ความศรัทธาของประชาชน ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน เป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อไรที่ประชาชนหมดศรัทธา ต่อระบบการเมืองหรือสถาบันทางการเมืองใดๆแล้ว ย่อมเป็นอันตราย

“ผมอยากจะฝากความหวังดีผ่านไปยังท่านสมาชิกรัฐสภาทุกท่านว่า หัวใจของปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาคือ การปะทะขัดแย้งกันระหว่างอำนาจของประชาชน ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน” นายชัยธวัช กล่าว

 

นายชัยธวัช กล่าวต่อ จนถึงวันนี้เรายังหาทางออกจากการเมืองนี้ไม่ได้ เราเห็นว่าทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อนี้ ไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้งอย่างผิวเผิน โดยการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ทางออกที่พวกเราต้องช่วยกันแสวงหาคือ ระบบการเมืองที่จะกลายเป็นฉันทามติใหม่ โดยวางอยู่บนหลักการพื้นฐานสำคัญที่ว่า อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน

“แล้วเมื่อไรที่เรายังสยบยอม หรือต่อลมหายใจ ให้กับระบบที่เราเรียกกันว่าประชาธิปไตย แต่ตอบไม่ได้ว่าประชาชนอยู่ไหน เราจะไม่มีวันสลายความขัดแย้งได้ ประชาชนจะสูญสิ้นความศรัทธาในที่สุด และส่งผลถึงความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต” นายชัยธวัช กล่าว

ตนทราบดีว่าพี่น้องประชาชน กำลังผิดหวัง กำลังโกรธ หรือกำลังคับข้องใจกับการเมืองที่เกิดขึ้น แต่ตนอยากจะเรียนพี่น้องประชาชนผ่านประธานรัฐสภาว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สะท้อนแล้วว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

แต่มันยังเปลี่ยนไม่มากพอ ดังนั้นแม้ว่าท่านจะไม่พอใจ ผิดหวัง คับข้องใจ แต่ขอให้อย่าหันหลังให้การเมือง เราต้องช่วยกัน คนละไม้คนละมือ เข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ได้ ทำให้การเมืองระบบประชาธิปไตยของเรา ให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทำให้อำนาจสูงสุดในประเทศนี้เป็นของประชาชนจริงๆ

logoline