svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เพื่อไทย" ฝันสลาย "จังหวะสะดุด" เจรจาข้ามขั้วจุดชนวนวาระแห่งชาติ

03 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กระทบชิ่งเป็นทอด ๆ ทำให้ไทม์ไลน์การเมืองขยับทั้งหมด โดยเฉพาะการได้นายกฯคนที่ 30 ถูกมองและวิเคราะห์จากนักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมืองไปต่าง ๆ นานา มีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

ดร.ฐิติ ชัยนาม ประธานสี่เสาหลัก และนักวิชาการอิสระด้านการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นขวัญใจกองเชียร์สายอนุรักษ์นิยม สรุปความเห็นแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ตีความได้กว้างไกล

- มองข้ามช็อตไปถึงนายกฯคนใหม่ ไม่ใช่แคนดิเดตจากพรรคอันดับ 1 และ 2 รวมถึงอาจไม่ใช่แคนดิเดตนายกฯที่เสนอโดยพรรคการเมืองด้วย “ยาวครับ หวยออกตาอยู่”

ดร.ฐิติ ชัยนาม ประธานสี่เสาหลัก และนักวิชาการอิสระด้านการเมืองการปกครอง

รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว. ในฐานะนักกฎหมายชื่อดัง ตีความหมายไว้ดังนี้  

- การเลื่อนโหวตนายกฯรอบ 3 มองแบบเฉพาะหน้า ยังไม่มีผลกระทบอะไรมาก เพราะตอนนี้แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย

- เมื่อมีการขยายระยะเวลาการโหวตเลือกนายกฯ ออกไป น่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยมีเวลาในการรวมเสียงได้นานขึ้น (มองแง่บวกกับเพื่อไทย)

- โอกาสของการมี “ตาอยู่” หากเป็นพรรคอันดับ 3 โดยมารยาททางการเมืองคงต้องให้พรรคเพื่อไทยรวมเสียงก่อน และโหวตไม่ได้ก่อนอย่างน้อย 1 รอบ ถึงจะเป็นโอกาสของพรรคอื่น

- ฉะนั้นต้องรอดูว่าคะแนนโหวตของพรรคเพื่อไทยจะมาตามนัดหรือไม่ หรือถูกเบี้ยว แล้วกลายเป็นโอกาสของพรรคอื่น (เป็นไปได้ทั้งพรรคอันดับ 3 หรือ 4)

รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว.

ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ความเห็นดังนี้ 

- สิ่งที่ศาลแจ้งข่าวเลื่อนพิจารณาคำสั่งรับ-ไม่รับคำร้อง แม้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้องของกระบวนการพิจารณาของศาลทุกประการ แต่ส่งนัยทางการเมืองให้ตีความได้หรือไม่ว่า ศาลจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวใน “ไทม์ไลน์ทางการเมืองในการตั้งนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย”

- อย่าลืมว่าจังหวะทางการเมืองเดิมที่เพื่อไทยวางไว้นั้น เป็นขั้นเป็นตอน และผนวกเอาวันที่คาดว่าศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำร้องในวันนี้ (3 ส.ค. เพื่อไทยเชื่อว่าศาลไม่รับคำร้องแน่ ๆ พรุ่งนี้ได้โหวตแน่ ๆ) มากำหนดในไทม์ไลน์ด้วย

2 ส.ค. แถลงฉีก MoU กับก้าวไกล

3 ส.ค. เปิดตัวพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ (หลังศาลไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน)

4 ส.ค. โหวตนายกฯ รอบเดียวผ่าน

10 ส.ค. ทักษิณแลนดิ้งที่ดอนเมือง

ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น

- หากศาลพิจารณาตามกำหนดการเดิม คือ 3 ส.ค. ก่อนโหวตนายกฯ ในวันที่ 4 ส.ค. อาจจะดูเหมือนสอดรับกับจังหวะเวลาเคลื่อนของเพื่อไทยพอดีหรือไม่

ดังนั้น เมื่อการพิจารณาคำร้องจำเป็นต้องเลื่อนออกไปราวกลางเดือน ส.ค. คือข้ามวันที่ 10 ส.ค. ไปเลย ด้วยเหตุผลความรอบคอบรัดกุมในการพิจารณาของศาลนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการ break circuit ไทม์ไลน์ที่ลงตัวของเพื่อไทยไปเลย ผลที่ตามมาเชิงสังคม จะทำให้ศาลถูกมองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “จังหวะเทพทางการเมือง” ของการตั้งรัฐบาลเพื่อไทย

สรุปให้เราเห็นว่า เป็นความหลักแหลมที่คมคายยิ่งของการทำหน้าที่ เพื่อดำรงความเป็นกลางของกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ปรากฏต่อสายตาของสังคม อีกทั้งเป็นการสร้างสมดุลกับจังหวะทางการเมืองก่อนหน้านี้อีกด้วย กรณีที่เชื่อมโยงกับโหวตนายกฯครั้งที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยมุมมององค์กรอิสระเดิมพันตัวเอง-เดิมพันประเทศ ไว้ดังนี้ 

- นัยที่สะท้อนออกมาจากการเลื่อนโหวตนายกฯรอบ 3 คือ โครงสร้างทางการเมืองไทยทั้งหมดกำลังสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่สะดุด

ตั้งข้อสังเกต 2 ประการ 

ประการแรก หากองค์กรอิสระ (ศาลรัฐธรรมนูญ-กกต.) เล่นไปตามบทบาทอำนาจหน้าที่ ถือได้ว่ากำลังยกระดับ “การเจรจาการข้ามขั้วให้เป็นวาระแห่งชาติ” จะก่อให้เกิดข้อสงสัยต่อความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่

- ประการที่สอง เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แน่นอน และผู้ที่ได้รับผลกระทบคือองค์กรอิสระ

ต้นทุนความน่าเชื่อถือและการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย จะเป็นเครื่องยืนยันความเป็นกลางขององค์กรอิสระ และการดำรงอยู่ต่อไปในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีความคลุมเครือ อนาคตขององค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นเป้าหมายของ “ตำบลกระสุนตก” และก่อให้เกิดการ สร้างข้อถกเถียงของอำนาจขององค์กรอิสระที่มีอยู่

สรุปให้เห็นว่า ข้อพึงระวังคือ “องค์กรอิสระ”คือองค์กรที่สร้างสมดุลทางอำนาจ และเป็นกลไกในการแก้ปัญหาให้กับการเมืองทั้งระบบ การวางบทบาทของตนเอง จึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และการคงอยู่ของประเทศในระยะยาว อย่าพึงกระทำการใดใดที่ก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวของประเทศและระบบการเมือง

logoline