svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มติผู้ตรวจฯเอฟเฟกต์สะเทือนศาลรธน.-สะท้อนสัมพันธ์ 8 พรรคร่วมฯ

25 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สติธร ธนานิธิโชติ" ชี้มติผู้ตรวจการแผ่นดินส่งวินิจฉัยปม "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ส่งแรงกดดันตกใส่ศาลรัฐธรรมนูญ ด้าน "ยุทธพร" มองไม่ได้ช่วยปลดล็อกปัญหาตั้งนายกฯ แต่สะท้อนสัมพันธ์ 8 พรรคร่วม

25 กรกฎาคม 2566 "ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยประเด็นการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯซ้ำได้หรือไม่ เป็น “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 หรือไม่ พร้อมทั้งขอให้ชะลอการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 27 ก.ค. ออกไปก่อน ว่า เรื่องนี้ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้แล้ว 

ทั้งนี้ แต่เมื่อผู้ตรวจฯ มายื่น ซึ่งเป็นเหตุภายหลังเพื่อไทยไปผจญการรวบรวมเสียง ทำให้ถูกมองว่าเข้าทางหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และรวมถึงหลายพรรคการเมืองที่ไม่อยากให้โหวต หรือต้องการให้เลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากว่ารู้สึกดีลยังไม่ลงตัว   

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

"ถ้ากระบวนการเหมือนครั้งก่อน คือ มาจากผู้ตรวจฯ วันพุธศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีคำวินิจฉัย รับหรือไม่รับคำร้อง หรือมีคำสั่งใดเป็นพิเศษหรือไม่ หรือจนกว่ามีคำวินิจฉัยว่ากระบวนการเป็นอะไรกันแน่ ซึ่งแรงกดดันจะไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัยให้เร็ว" ดร.สติธร ระบุ  

ขณะที่ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มองว่าเป็นการรับลูกหรือลดอุณหภูมิทางการเมืองอะไรได้มาก เพราะศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับหรือไม่รับพิจารณาในประเด็นดังกล่าวก็ได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาว่าใครเป็นผู้ร้อง มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกรณีดังกล่าวหรือไม่ แต่หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ศาลมีแนวโน้มที่จะไม่รับคำร้อง และถ้าศาลไม่รับคำร้อง หากผู้อื่นจะมายื่นร้องในประเด็นเดียวกัน ก็ไม่สามารถยื่นได้แล้ว เพราะจะเป็นการร้องซ้ำ ซึ่งไม่สามารถทำได้

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย

 

 

ส่วนกำหนดการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 ก.ค. นี้ อาจต้องเลื่อนไปด้วยหรือไม่นั้น ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะยังมีความไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่ต้องเคลียร์กับหลายส่วน ทั้ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกันเอง พรรคฝั่งเสียงข้างน้อย 188 เสียง รวมถึงเสียง สว.ที่จะมาสนับสนุน และมวลชนกลุ่มต่างๆ ที่ออกมากดดันเพื่อไทยด้วย 

สำหรับอีกประเด็นที่ต้องจับตา คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นเรื่องไปก่อนหน้า ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว หาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่โหวตให้ อาจจะมองว่าขณะนี้เดินหน้าไม่ได้ เพราะยังไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากกลไกการโหวตวาระ 3 ต้องนับเสียงฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ด้วย ก็จะเป็นเกมการเมืองที่สะท้อนไปถึงสัมพันธ์พรรคร่วมฯ ได้เช่นกัน

logoline