svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

บทเรียนราคาแพง วิบากกรรม "ก้าวไกล" ผจญนิติสงคราม

19 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการชี้ "ก้าวไกล" เผชิญวิบากกรรม-ผจญนิติสงคราม เป็นบทเรียนราคาแพง รอดูเพื่อไทยยังจับมือก้าวไกลไปต่อหรือไม่ เผยสมการนายกฯชื่อ "บิ๊กป้อม" มีความเป็นไปได้

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยรับคำร้อง ก่อนมีคำสั่งให้นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ชั่วคราว  และที่ประชุมรัฐสภาลงมติเสียงข้างมาก ว่านาย "พิธา" หมดสิทธิ์เสนอชื่อซ้ำ ในการโหวตนายกฯรอบสองได้

ด้านของนักวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ กับทีมข่าว "เนชั่น ออนไลน์" ส่วนตัวแล้วมองว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องของ กกต. กรณีการถือหุ้นสื่อของ"นายพิธา" ตรงกับวันที่ต้องมีโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 2  ถือว่าทุกอย่างดูเป็นขั้นเป็นตอน และมีตัวละครต่างๆ ทั้งผู้ร้อง กกต. ศาล รธน. เอง ที่ค่อยๆอาศัยจังหวะเปิดตัวออกมาในแต่ละกิจกรรม ดูแล้วจังหวะเวลาลงตัวพอดีกันเกินไป  

เรื่องนี้ดูเป็นกระบวนการนิติสงคราม หรือทฤษฎีสมคบคิด หรือไม่นั้น  รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมิ มูลศิลป์  กล่าวว่า หากพิจารณาจากก้าวย่างของพรรคก้าวไกล ที่นโยบายบางส่วนไปมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจเดิม รวมถึงก้าวย่างหลังการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าอาจมีบางส่วนของกลุ่มอำนาจเดิมเสียผลประโยชน์ การที่จะใช้นิติสงครามเข้ามาดำเนินการบางอย่างกับพรรคก้าวไกล คงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความชอบธรรมกับกลุ่มมีความเห็นต่าง  

บทเรียนราคาแพง วิบากกรรม \"ก้าวไกล\" ผจญนิติสงคราม

โดยคำร้อง กกต. เรื่องการถือครองหุ้นสื่อ ขัดกับคุณสมบัติ สส.  สิ่งนี้ถูกเขียนมาเป็นบทบัญญัติของกฎหมายมานานแล้ว ไม่ใช่แค่เพิ่งมีใน รธน. ฉบับนี้ ฉบับแรก ซึ่งตามเจตนารมณ์  การไม่ให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทางการเมือง ใช้สื่อ แสวงหาประโยชน์ หรือได้ความนิยมจากการใช้สื่อ หรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องดูว่าปริมาณ หุ้น ที่มีนั้น ทำให้สามารถใช้สื่อไปแทรกแซงตามที่กังวลหรือไม่

สิ่งที่ "ก้าวไกล" เผชิญวิบากกรรมแบบเดียวกับที่เคยเผชิญมาแล้ว เมื่อปี 2562 สำหรับคนที่เชียร์ก้าวไกล อาจจะรู้สึกว่าทำไมมาเจอแบบเดิมอีก แต่ขณะเดียวกันกลุ่มที่ใช้กระบวนการนี้จัดการ ก็มองว่ากลไกในกฎหมายที่ซ่อนอยู่ สามารถมาดำเนินการกับก้าวไกลได้ เพื่อตัดตอนหรือป้องกันไม่ให้เติบโตได้ต่อไปในอนาคต 

สิ่งนี้ เป็นบทเรียนราคาแพงของพรรคก้าวไกล เพราะโดนแบบเดิมถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าพรรคอื่นไม่เคยโดน แต่เขาก็มีการป้องกัน เตรียมความพร้อมไว้ก่อน  ซึ่งตอนนี้มีการเตรียมพิจารณาของ สส. พรรคหนึ่งว่าถือหุ้นหรือไม่ ในทางกฎหมายถ้าเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน ต้องปฏิบัติเท่าเทียมกัน หาก กกต. หรือฝ่ายศาล เลือกใช้กฎหมายที่มีความแตกต่างกัน ก็จะยิ่งเห็นชัดเจนว่ามีการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีเจตนาทางการเมืองชัดแจ้ง

รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ทั้งนี้ในแง่ของนักกฎหมายเอง บทบัญญัติใดที่เป็นกฎหมาย ไม่ว่าเราจะชอบไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากมีการกำหนดกติกา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามไว้ ต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังเองด้วย  ซึ่งการที่เราเห็นต่าง โดยหลักการไม่ผิด หากในอนาคตเมื่อเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเอง คงต้องไปแก้กฎหมาย ป้องกันเกิดแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ส่วนฉากทัศน์ต่อไป หลังจากนี้สถานการณ์ของนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ต้องมารอดู พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคอื่น และในสมการจะยังมีก้าวไกลด้วยหรือไม่ เพราะบางพรรคออกตัวชัดเจน อย่างพรรคภูมิใจ ว่าต้องไม่มีก้าวไกล เพราะมี ม.112 อยู่

ส่วนการรวมเสียง 375  ส่วนตัวมองว่า สว.ยังมีบทบาท เป็นคนกำหนดชะตา และเมื่อมองย้อนกลับไป สว.บางกลุ่ม กับ เพื่อไทย ยังเป็นคู่ขัดแย้งกันในทีของทางการเมือง ซึ่งคงต้องรอดูว่ามีการตกลงอะไรกัน เช่น ดีลลับ เกิดขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตามการจับขั้วตั้งรัฐบาล ก้าวไกลเพื่อไทยเกี่ยวก้อยกันไปได้หรือไม่ รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมิ มองว่าเรื่องนี้  มี 2 แนวทาง แนวทางแรก คือพรรคก้าวไกลยังยึดกับเพื่อไทยอยู่ จับมือไปด้วยกัน อย่างที่หลายคนเชียร์ เพื่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย

หรืออีกแนวทาง ก้าวไกล ไปเป็นฝ่ายค้าน มองอนาคตไปว่าโอกาสข้างหน้ายังมีอีก ไม่จำเป็นต้องรีบเป็นรัฐบาลในคราวนี้  แล้วพยายามสร้างผลงาน ให้ประชาชน เลือกกลับมามากกว่าเดิม โดยเฉพาะครั้งหน้า กลไก สว. จะหมดไปจากสมการในการเลือกนายก เป็นแนวทางหากจะทำพรรคการเมืองในระยะยาว เพราะต้องยอมรับว่าก้าวไกล ได้เสียงสนับสนุนเพราะอุดมการณ์ที่ชัดเจน แต่อุดมการณ์บางอย่างที่แสดงออกมา ก็เป็นตัวผูกมัด เป็นอุปสรรคในการจะก้าวย่าง 

นายกรัฐมนตรีคนต่อไป หากไม่มีก้าวไกลแล้ว ตามหลักแล้วต้องให้พรรคอันดับ 2 เสนอชื่อ ซึ่งคือพรรคเพื่อไทย ที่มีท่าทีว่าจะเสนอชื่อ"นายเศรษฐา ทวีสิน" แต่ต้องรอดูว่า สว.จะโหวตให้หรือไม่ หรืออาจจะไหลไปที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการวิเคราะห์ไปในแนวทางนี้ แต่อาจจะต้องดูกระแสสังคมเช่นกัน โดยหากมีการเสนอชื่อ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  ต้องยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ อย่างที่หลายคนพยายามพูดว่า"บิ๊กป้อม"ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รัฐประหาร บางคนกลัวระบอบทักษิณ ยิ่งประกาศจะกลับมาเอง หากไม่มีดีลซุปเปอร์ดีล ก็มีคนที่ยังไม่พร้อมให้กลับมา เชื่อว่ายังมีกลุ่มคนที่ไม่รับในระบอบทักษิณ และมีคำถามว่าถ้ากลับมา จะยอมติดคุกหรือไม่

แต่ตัว"บิ๊กป้อม" เอง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมก็ยังมีคำถามหลายเรื่อง ทั้งเรื่องนี้และเรื่องนาฬิกาเพื่อน แต่ก็มีการวิเคราะห์ว่า หาก"บิ๊กป้อม"มา จะสงบ และก็อาจจะมีอีกกลุ่มที่พร้อมไปกับ "บิ๊กป้อม"ได้ หลายคนที่ไม่ได้สนใจอุดมการณ์การเมือง แต่ต้องการความนิ่งของสังคม อาจจะพอใจสมการนี้ได้

ส่วนนาย"อนุทิน" ส่วนตัวที่มองเป็นนายกฯ สำรองได้ ในหลายๆสถานการณ์ แต่หลายประเด็นในครั้งนี้ นายอนุทินออกมาบอกว่าขอยืนคนละขั้วกับก้าวไกล และในสังคมยังมองเรื่องของกรณีกัญชา ถ้ามาแล้ว การจะทำให้เกิดความสงบ เทียบบารมีแล้ว “บิ๊กป้อม” ได้ภาษีกว่าในเรื่องนี้ 

“ เดิมพันคราวนี้สูงมาก  ก้าวไกลเองไม่มีลักษณะประนีประนอมเท่าใดนัก พร้อมชน พร้อมแตกหัก อีกฝ่ายที่กลัวจะโดนเช็คบิล ก็พร้อมออกมาเต็มที่เช่นกัน สิ่งที่จะดูมีความชอบธรรมมากที่สุด คือความอดทน และเดินตามกลไกในรัฐสภา หากไม่ใช้ความอดทนในการควบคุม จะนำไปสู่ความรุนแรงก็น่ากังวลเช่นเดียวกัน” 

รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมิ กล่าว

 

บทเรียนราคาแพง วิบากกรรม \"ก้าวไกล\" ผจญนิติสงคราม

 

logoline