ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่อาจเข้าทาง "แผนสกัดก้าวไกล - ไม่เอาพิธา" คือ การขยับตัวขององค์กรอิสระในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ก่อนวันสุกดิบโหวตนายกฯ รอบแรก
10-11 ก.ค. - มีประชุม กกต.พอดี วาระการประชุมที่คาดว่าจะต้องมีการหารือกันแน่ และอาจได้ข้อสรุป คือ
-การสรุปสำนวนคดีคุณสมบัติ "พิธา" ซึ่ง กกต.มองว่ามีความผิดตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา 151 กล่าวคือ รู้ตัวว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังฝืนลงสมัคร เพราะเหตุว่าถือหุ้นสื่อ คือ หุ้นไอทีวี คดีนี้ กกต.ขอขยายเวลาทำสำนวน จากที่จะสิ้นสุดวันที่ 3 ก.ค. ขยายไปถึงวันที่ 20 ก.ค. แต่อาจสรุปสำนวนภายในสัปดาห์นี้ และนำสำนวนเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง จะเท่ากับการ "เปิดคดีพิธา"
-เมื่อ กกต.สรุปสำนวนคดีตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 151 ซึ่งมีโทษอาญา อีกด้านหนึ่ง "กกต."ต้องชงศาลรัฐธรรมนูญ ให้ถอดถอน"พิธา" พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. (ปัจจุบันเป็น ส.ส.แล้ว) เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ก็จะมีการนำหลักฐานในสำนวนเดียวกัน ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
12 ก.ค.- มีประชุมศาลรัฐธรรมนูญ
-ปกติศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมตุลาการทุกวันพุธอยู่แล้ว แต่จะตัดประชุมช่วงเช้า เผอิญสัปดาห์หน้านี้ ช่วงเช้า"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" มีคิวบันทึกเทปถวายพระพร จึงนัดประชุมช่วงบ่าย
มีบางฝ่ายคาดการณ์ว่า เมื่อศาลนัดประชุมช่วงบ่าย หาก กกต.สรุปสำนวนคดี 151 และส่งศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ภายในวันอังคารที่ 11 ก.ค. อาจส่งศาลในช่วงเช้า และศาลประชุมได้ทันทีในช่วงบ่าย หากรับคำร้องไว้วินิจฉัย อาจสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่"พิธา"ได้ทันที
ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี เคยพูดชี้เป้า-เปิดทางเอาไว้ว่า หาก กกต.ชงคำร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ครอบคลุมทั้ง ส.ส. แคนดิเดตนายกฯ และนายกฯ อาจทำให้ศาลพิจารณาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทุกตำแหน่งได้ และอาจทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถเสนอชื่อ"พิธา" ในฐานะ “แคนดิเดตนายกฯ” ให้รัฐสภาโหวตได้ ส.ว.ไม่จำเป็นต้องฝ่าแรงกดดันเพื่อลงมติ
แต่เรื่องนี้มีคนแย้งว่า แคนดิเดตนายกฯ ไม่ใช่ตำแหน่ง จึงไม่สามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่า แคนดิเดตนายกฯต้องมีคุณสมบัติเหมือนผู้สมัคร ส.ส. คือห้ามถือหุ้นสื่อ ฉะนั้นเมื่อศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ย่อมไม่มีสถานะเป็นแคนดิเดต จนกว่าศาลจะชี้ว่าไม่ขาดคุณสมบัติ
19 ก.ค. - ประชุม"ศาลรัฐธรรมนูญ" และนัดโหวตนายกฯครั้งที่ 2
-หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่รับคำร้องคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของคุณพิธา ในวันที่ 12 ก.ค. อาจรับคำร้อง และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งจะทำให้ ส.ว.มีช่องทางไม่ต้องโหวตคุณพิธารอบ 2 ก็เป็นได้ หากรอบแรกไม่ผ่าน
10-11 ก.ค. - อัยการสูงสุดต้องตอบศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะรับไต่สวนคำร้องของ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" อดีตทนายของอดีตพระพุทธะอิสระ ที่ร้องว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติกรรมใช้สิทธิเสรีเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่ กรณีรณรงค์หาเสียงแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยก่อนหน้านี้ "ธีรยุทธ" ไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด แต่เงียบไป จึงไปยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ / ศาลเห็นว่ามีการยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดแล้ว จึงส่งหนังสือไปถามว่าดำเนินการถึงไหน อย่างไร / และให้อัยการสูงสุดตอบภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนด 15 วันในวันที่ 10-11 ก.ค.นี้
หากอัยการสูงสุดรับคำร้อง และไต่สวนต่อ กระบวนการจะเดินหน้าต่อไป แต่หากอัยการสูงสุดไม่รับคำร้อง"ศาลรัฐธรรมนูญ"ซึ่งนัดประชุมตอนบ่ายวันที่ 12 ก.ค. อาจรับเรื่องนี้ไปพิจารณาวินิจฉัยเองเลยก็ได้
มีประเด็นที่หลายฝ่ายอาจสงสัยว่า ทำไมการยื่นคำร้องของอดีตทนายของพระพุทธะอิสระ จึงมีความสำคัญ และอาจเขย่าพรรคก้าวไกลได้อย่างรุนรุนแรง ถึงขั้นอาจถูกยุบพรรคกันเลยทีเดียว "เนชั่นทีวี "มีคำตอบมาฝาก
“เนชั่นทีวี” พลิกดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ไต่สวนกรณีพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองนั้น เป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
รัฐธรรมนูญมาตรานี้ บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้...”
หากพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2 จะพบว่า ขั้นตอนการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น
หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับเรื่อง หรือไม่ได้ดำเนินการภายใน 15 วัน ผู้ร้องสามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที
นี่คือเหตุผลที่"ศาลรัฐธรรมนูญ"รับเรื่องแล้ว ได้มีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดก่อนว่าดำเนินการเรื่องนี้ถึงไหนอย่างไร เป็นไปตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
บทบัญญัติลักษณะนี้ เคยมีมาแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อยู่ในมาตรา 68 แต่ครั้งนั้นถ้อยคำค่อนข้างกำกวม ว่าหากยื่นผ่านอัยการสูงสุดแล้ว ไม่มีการดำเนินการ หรือมีคำสั่งไม่ร้บเรื่อง ยังสามารถยื่นตรงศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หรือยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดได้หรือไม่ จนสุดท้ายศาลต้องตีความเรื่องนี้ จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างวาง
รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงนำมาเขียนใหม่ และปรับถ้อยคำให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการยื่นคำร้อง
สำหรับคำร้องที่ถูกยื่นตามบทบัญญัติมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง กับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 คงยังจำได้ ที่มีการปราศรัยของ "รุ้ง ปณัสยา" ในประเด็นข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ครั้งนั้น"ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยในเดือน พ.ย.2564 ว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ในคำวินิจฉัยมีการขยายความเรื่องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ด้วยว่าอาจเข้าข่ายด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติ
ฉะนั้นคำร้องล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา"มาตรา 112" ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ จึงมองข้ามไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
โดยเฉพาะในห้วงเวลาใกล้จะเลือกนายกฯกันใน 3-4 วันข้างหน้านี้