svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผ่าขั้นตอนเลือกนายกฯสุดลำบาก...ทำไมจึงยากนัก?  

11 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การโหวตเลือกนายกฯของประเทศไทย ไม่ได้มีปัญหาแค่จำนวน 376 เสียง จาก 2 สภา ซึ่งเป็นจำนวนเสียงที่สูงมากเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องขั้นตอนและวิธีการเลือก ที่ไม่ได้เขียนไว้อย่างละเอียดชัดเจน และเปิดช่องให้มีการตีความ

ก่อนอื่นไปดูจำนวนเสียง 376 เสียง ว่ามาจากไหน ทำไมถึงได้ยาก 

-376 เสียง มาจากกึ่งหนึ่งของ 2 สภา หรือ "รัฐสภา" คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี 500 เสียง และ วุฒิสภา มี 250 เสียง

-หากสภาผู้แแทนฯ เทให้หมดเลย เกิน 376 เสียง ก็จะปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ ไม่ต้องหวังพึ่ง ส.ว. แต่ในทางการเมือง เป็นไปได้ยาก 

ผ่าขั้นตอนเลือกนายกฯสุดลำบาก...ทำไมจึงยากนัก?  

-เสียงที่ต้องการจากวุฒิสภา ที่มาของ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.​ ซึ่งมีท่าทีอยู่ตรงข้ามกับ "ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่" ทำให้ได้เสียงสนับสนุนยากมาก 

-"ว่าที่รัฐบาลใหม่" รวมเสียงได้ 312 เสียง ต้องการ ส.ว.อีก 64 อีก แต่ไม่ใช่ง่าย เพราะ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งขณะนี้เป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย 188 เสียง ตรงข้ามกับ 312 เสียงในสภาผู้แทนฯ 

จำนวนเสียงจาก 2 สภา ต้องได้ 376 เสียงขึ้นไปแบบนี้ ใช้ในระยะ 5 ปีแรก ตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ก็คือเริ่มนับตั้งแต่ปี 2562 จะไปครบ 5 ปี วันที่ 11 พ.ค. 2567 คือปีหน้า 

ผ่าขั้นตอนเลือกนายกฯสุดลำบาก...ทำไมจึงยากนัก?  

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่จำนวนเสียงที่ได้ยาก แต่ขั้นตอนและวิธีการโหวต ก็คลุมเครือ 

ผ่าขั้นตอนเลือกนายกฯสุดลำบาก...ทำไมจึงยากนัก?  

เมื่อพลิกดูในรัฐธรรมนูญ เรื่องการเลือกนายกฯ เขียนไว้ 2 มาตราหลักๆ คือ มาตรา 159 กับ มาตรา 272 

โดยมาตรา 159 สรุปใจความได้ว่า 

  1. เลือกนายกฯ จากแคนดิเดตในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ โดยชื่อที่จะนำมาโหวตได้ ต้องมาจากพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เกินร้อยละ 5 คือ 25 คนขึ้นไป
  2. เวลาเสนอชื่อ ต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 คือ 50 คน 
  3. การโหวต เป็นการลงคะแนนโดยปิดเผย หมายถึงขานชื่อเรียงตัว ตามตัวอักษร 


ในภาวะปกติที่ไม่ใช่ 5 ปีแรก การเลือกนายกฯ จะเป็นแบบนี้ เหมือนนานาอารยะประเทศทั่วโลก คือเลือกจาก ส.ส. ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ เกิน 250 เสียง ก็จบ ได้เป็นนายกฯเรียบร้อย 

ทว่า ในช่วง 5 ปีแรก การโหวตนายกฯ ต้องใช้เสียง ส.ว.ด้วย ตามที่บัญญัติในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 

ดังนั้น สรุปให้เข้าใจ คือ ในระหว่าง 5 ปีแรก เลือกนายกฯแบบมาตรา 159 แทนที่จะใช้แค่เสียง ส.ส. 251 เสียงขึ้นไป แต่กลับต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภา คือ 376 จาก 750 รวม ส.ส.+ ส.ว. 
 

โดยรัฐธรรมนูญเขียนไว้เท่านี้ แต่ไม่ได้บอกวิธีการโหวต ว่าถ้าโหวตครั้งแรกแล้วไม่ได้ จะโหวตซ้ำได้อีกกี่ครั้ง 

ผ่าขั้นตอนเลือกนายกฯสุดลำบาก...ทำไมจึงยากนัก?  

แต่วรรค 2 ของมาตรา 272 บัญญัติไว้แบบนี้ 

-ถ้าไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีแคนดิเดตได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้สมาชิกของทั้งสองสภา คือ ส.ส. และส.ว. รวมกัน จะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือ ต้องเกิน 376 เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีแคนดิเดต 

-จากนั้นให้ประธานรัฐสภา เรียกประชุมรัฐสภาโดยพลัน ขอมติอนุมัติ ซึ่งบางคนเรียก "ไขกุญแจ" โดยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ซึ่งก็คือ 500 เสียง จาก 750 เสียง ก็จะเท่ากับเปิดประตูให้เลือกนายกฯ จากคนนอกบัญชีแคนดิเดต หรือกลับไปคนในบัญชีแคนดิเดตก็ได้ 

-เสียงโหวตชี้ขาดสุดท้าย กลับไปที่ 376 เหมือนรอบแรก แต่ที่ยากเพราะต้องได้ 500 เสียงในขั้นตอนก่อนหน้า 

นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัญหาการโหวตนั้น รัฐธรรมนูญไปให้น้ำหนักการโหวตรอบแรกไม่ได้ คือ โหวตคนในบัญชีแคนดิเดตไม่ได้ ก็เปิดทางให้ไปเลือกคนนอกบัญชี แต่ต้องใช้เสียง ส.ส.+ส.ว. เพิ่มขึ้น จาก 376 เป็น 500 ตรงนี้เขียนละเอียดชัดเจน 

แต่ที่เขียนไม่ชัด คือ การเลือกนายกฯรอบแรก ถ้าเลือกไม่ได้ จะเลือกซ้ำได้กี่ครั้ง เสนอชื่อคนเก่าได้หรือไม่ ซึ่งกรณีที่ว่านี้ จะเกิดปัญหาขึ้นก่อนจะก้าวไปถึงการไปเลือก "นายกฯนอกบัญชีแคนดิเดต" เพราะฝ่ายพรรคการเมืองย่อมต้องอยากได้นายกฯ จากบัญชีแคนดิเดตของพวกตนก่อนเป็นอันดับแรก 

ผ่าขั้นตอนเลือกนายกฯสุดลำบาก...ทำไมจึงยากนัก?  

สำหรับปัญหาการโหวตเลือกนายกฯในบัญชี รอบแรก คนแรก ยกตัวอย่างของจริง คือ เลือกว่าที่นายกฯพิธา ปัญหาที่ถกเถียงกันก็คือ 

1.ถ้าเลือกครั้งแรกแล้วไม่ผ่าน จะเลือกซ้ำได้หรือไม่ 

  • การโหวตเลือกนายกฯ ต้องเสนอเป็น "ญัตติ" ตามวาระการประชุมที่กำหนดไว้ 
  • เมื่อเสนอญัตติแล้ว เสนอชื่อคนแรก โหวตไม่ผ่าน ถือว่าญัตติตกไป หรือญัตติยังอยู่ 
  • ถ้าญัตติตกไป เสนอญัตติใหม่ได้ แต่เสนอชื่อคนเดิมได้หรือไม่ 
  • ถ้าญัตติไม่ตกไป เสนอชื่อคนเดิมได้หรือไม่ 


กรณีญัตติไม่ตกไป การเสนอชื่อคนเดิม ดูจะลักลั่น และไม่ค่อยมีตรรกะเหตุผลรองรับ

แต่เมื่อเทียบกับการเสนอกฎหมาย หรือ ร่าง พ.ร.บ. หากเสนอแล้วตก ก็ต้องไปเสนอใหม่สมัยประชุมหน้า และไม่ควรเสนอร่างเดิมกลับเข้ามาอีก จะต้องไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สภายอมรับ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่าสงสัยอีกว่า หากญัตติตกไป เสนอญัตติใหม่ ต้องเว้นวรรคสักกี่วัน หรือหากญัตติไม่ตกไป เสนอชื่อคนใหม่ หรือคนเดิม ต้องเว้นวรรคสักกี่วัน 

ทั้งหมดนี้จะนำมาสู่การถกเถียงกันวุ่นวายในที่ประชุมแน่นอน โดยเฉพาะนัดแรกวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งโอกาสที่จะเลือกนายกฯ กันอย่างราบรื่น ยังมองไม่เห็น

logoline