svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชำแหละ "พิธา" แบไต๋แนวทางต่อสู้ ยก 15 ประเด็น หักล้างปม"ถือหุ้นสื่อไอทีวี"

07 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯของ"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ยังต้องฝ่าขวากหนามนานับประการ เฉพาะปม"ถือหุ้นสื่อไอทีวี" ขัดต่อคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ กรณีนี้ "พิธา"แจกแจงรายละเอียด ประหนึ่งเป็นการเปิดแนวทางเตรียมต่อสู้คดีเป็นครั้งแรก

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุปสรรคขวากหนามของ"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ในการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ มี 2 อุปสรรคสำคัญ คือ 

หนึ่ง คะแนนโหวตของ ส.ว. - ปัจจุบันมีการใช้กระแสสังคมกดดันสมาชิกสภาสูง ทำให้หลายคนเริ่มเสียงแปร่ง เสียงเปลี่ยน ทำให้ฝ่ายพรรคก้าวไกลเชื่อว่า จะได้เสียงสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ 

แต่ตัวตัดเกมของ "เสียง ส.ว." ก็คือ กกต. ที่อาจแจกใบแดง ใบส้ม ใบเหลือง ใบดำ ให้กับฝั่ง 8 พรรคว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล สมมติแจก 10 ใบ ก็ต้องหา ส.ว.เพิ่มอีก 10 เสียง แจก 15 ใบ ก็ต้องหา ส.ว.เพิ่มอีก 15 เสียง จาก 64 เสียงที่ขาดอยู่ ก็ต้องเพิ่มเป็น 74 หรือ 79-80 เสียง / สัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย (เป็นสัดส่วนเดียวกับที่ต้องมี ส.ว.โหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมาแทบไม่เคยถึงเกณฑ์นี้เลย) 

ชำแหละ \"พิธา\" แบไต๋แนวทางต่อสู้ ยก 15 ประเด็น หักล้างปม\"ถือหุ้นสื่อไอทีวี\"

สอง เรื่องหุ้นไอทีวี - ปัญหาเรื่องหุ้นไอทีวี ถูกมองว่าเป็น "จุดตาย" ของ"พิธา" และอาจเป็นตัวช่วย ส.ว. ไม่ต้องเผชิญแรงกดดันของสังคมมาก เพราะหาก”พิธา” ตกม้าตายตั้งแต่เรื่องหุ้น โดนสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะปัญหาคุณสมบัติ / พรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถเสนอเป็นแคนดิเดตให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตได้  เท่ากับหาทางออกให้ ส.ว.ไปโดยปริยายนั่นเอง 

"พิธา" เหมือนรู้เกมนี้ จึงมีการโอนหุ้นออกไปจากตัว และมีข่าวรั่วถึงสื่อ ถึง "เรืองไกร" จนมีการไปยื่นคำร้องต่อ กกต.เพิ่มเมื่อเช้า ให้ตรวจสอบการโอนหุ้นของ"พิธา" 

จังหวะเหมาะพอดี "พิธา"ได้โพสตชี้แจงในเฟซบุ๊กยาวเหยียด เป็นการชี้แจงอย่างเป็นทางการครั้งแรก และเป็นลายลักษณ์อักษร  เนชั่นทีวีออนไลน์ ขอสรุป และวิเคราะห์แต่ละประเด็นที่ชี้แจง ดังนี้ 

1."พิธา"บอกว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาการทำโทรทัศน์ของไอทีวี ตั้งแต่ 7 มี.ค.2550 ทำให้ “สัญญาณร่วมการงานฯ” (เป็นถ้อยคำทางกฎหมาย) สิ้นสุดลง ไอทีวีไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ทำรายการโทรทัศน์ได้มาจนถึงปัจจุบัน

2.สิทธิในคลื่นความถี่กลับมาเป็นของ สปน. ซึ่งมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการต่อ และภายหลังกลายเป็นไทยพีบีเอส หลังจาก พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ 

3.คดีที่มีการฟ้องร้องกันต่อเนื่องมา คือ คดีที่ไอทีวีเรียกร้องค่าเสียหายจาก สปน. จากการบอกเลิกสัญญาพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

4.หุ้นไอทีวีไม่มีมูลค่า 

5.วันที่ 16 มี.ค.2550 ศาลแต่งตั้งให้"พิธา" เป็นผู้จัดการมรดกของคุณพ่อ และได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกให้รับโอนหลักทรัพย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หุ้นไอทีวี เป็นกองมรดกถือครองไว้แทนทายาทเรื่อยมา 

6.หุ้นไอทีวี ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นผลให้ไม่สามารถซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกต่อไป

 

**มีหุ้นหลายตัวที่ถูกเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้”พิธา”ได้รับมอบหมายจากทายาทให้ถือครองหุ้นไว้แทนทายาทอื่น

7.เมื่อเข้าทำงานการเมือง เป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ก็ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. อย่างเปิดเผย บริสุทธิ์ใจ 

8.กระทั่ง"พิธา"เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และลงสมัคร ส.ส. เป็นแคนดิเดตนายกฯหนึ่งเดียวของพรรค กลับมีความพยายาม “ฟื้นคืนชีพ” ให้ไอทีวี กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงาน”พิธา” 

ยกตัวอย่าง แบบนำส่งงบการเงิน 

-ปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” 

-ปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ” 

-ปีบัญชี 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” 

**เนื้อหาในหมายเหตุงบการเงินไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาตามที่ระบุประเภทธุรกิจไว้ 

9.ตั้งข้อสังเกตงบการเงินปีบัญชี 2565 มีการนำส่งงบการเงินต่อ DBD (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ในวันที่ 10 พ.ค.2566 ก่อนวันเลือกตั้ง เพียง 4 วัน

แสดงให้เห็นว่า การจัดทำแบบนำส่งงบการเงิน และข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีความไม่สอดคล้องกัน และเป็นข้อพิรุธที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความ โดยเฉพาะ จากเดิม "กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก" แก้เป็น "สื่อโทรทัศน์" ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้ และปีล่าสุดแก้เป็น "สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน" ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้

10.อ้างถึงรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่า "บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่" 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ได้โพสต์ภาพและข้อความเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.66 ร่ายยาวเหตุผลการโอนหุ้นสื่อให้ทายาท

***"พิธา"ตั้งคำถามกับประชาชนทั่วไปว่า เป็นคำถามมีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และนี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวี ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน...ใช่หรือไม่?

11.ด้วยข้อพิรุธหลายประการที่เกิดขึ้น ทำให้พิธาตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ถือครองหุ้นไอทีวีไว้แทนทายาท จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้จัดการแบ่งมรดกหุ้นไอทีวีให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัทไอทีวี 

12.ยกคดี"ชาญชัย  อิสระเสนารักษ์" ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือหุ้นเอไอเอส 200 หุ้น ถูก กกต.เพิกถอนสิทธิ์การสมัคร แต่ภายหลังศาลฎีกาสั่งคืนสิทธิ์ โดยให้เหตุผลในการพิพากษา ยึดเจตนารมณ์ของกฎหมาย 

กรณีแบบเดียวกันนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น จะทำให้เกิดผลประหลาดและกระทบกระเทือนต่อความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมาย ก่อให้เกิดความสั่นคลอนในความเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่อยู่ภายใต้กฎหมาย 

จึงเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญรักษาความเป็นเอกภาพในการใช้และตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเดียวกัน ให้ก่อตั้งผลในทางกฎหมายที่เหมือนกัน อันเป็นมาตรฐานของระบบกฎหมายในอารยประเทศที่เป็นที่ยอมรับในสากล

13.การโอนหุ้นให้แก่ทายาทเพื่อป้องกันความพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีให้มีสถานะเป็นสื่อ มาเล่นงาน"พิธา" ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิด

14.พร้อมชี้แจง กกต. ไม่มีความกังวล และไม่เสียสมาธิทำงาน ลุยจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่มีพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจงได้ในที่สุด

15.ไม่มีใครหรืออำนาจไหนมาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว

นอกจาก"พิธา" จะเขียนชี้แจงในโซเขียลมีเดียแล้ว เขายังตอบคำถามสื่อมวลชนระหว่างการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ระหว่างวันอีกหลายรอบ / ประเด็นที่พูดเพิ่มเติมสรุปได้แบบนี้ 

-โอนหุ้นให้ทายาท ไม่ได้ขาย ย้ำตรงนี้หลายครั้ง 

-โอนหุ้นไม่ใช่เรื่องการเมือง 

-โอนหุ้นช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา แต่จำวันไม่ได้ เป็นเรื่องภายในครอบครัว 

-เดิมที่ไม่ได้โอน เพราะมั่นใจว่าถูกต้องตามกฎหมาย ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นอะไร แต่ภายหลังมีความพยายามจะฟื้นไอทีวีขึ้นมา จึงตัดสินใจโอนหุ้น เป็นการตกลงในหมู่ทายาท 

****บทสรุปคำชี้แจงทั้งหมด "พิธา"อ้างเรื่องไอทีวี เป็น 2 ห้วงเวลา 

ห้วงแรก ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2551-2564 หรือ 2565  ไอทีวีไม่มีสภาพเป็นสื่อ มีการนำหลักฐานมายืนยันหลายอย่าง (โดยนัย คือ จึงถือไว้ต่อมา และเป็นหุ้นมรดก มั่นใจไม่ผิดกฎหมาย) 

ห้วงที่สอง หลังจากเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงสมัคร ส.ส.และเป็นแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล มีข่าวอาจจะฟื้นไอทีวีกลับเป็นสื่อ ทั้งเหตุผลทางการเมือง และเหตุผลทางธุรกิจของไอทีวีเอง จึงตัดสินใจโอนหุ้นให้ทายาท ไม่ได้กล้วผิด แต่เตรียมพร้อมรับตำแหน่งนายกฯ

จากคำชี้แจงของ"พิธา" ทั้ง 15 ประเด็นในโซเชียลมีเดีย และที่ให้สัมภาษณ์  มีข้อสังเกตุที่เป็นคำถามพื้นฐานแบบนี้ 

1."พิธา" อ้างว่า ไอทีวีไม่ได้ทำสื่อแล้ว เพราะมีข้อพิพาทกับ สปน. ตั้งแต่ปี 2550 จึงมั่นใจว่าหุ้นที่ถืออยู่แทนทายาท ซึ่งเป็นหุ้นมรดกของคุณพ่อ ไม่ผิดกฎหมาย แต่สุดท้ายกลับบอกว่าต้องโอนหุ้นออก เพราะมีความพยายามฟื้นไอทีวีกลับมาเป็นสื่อ ท้ังด้วยเหตุผลทางการเมือง และเหตุผลทางธุรกิจของไอทีวี 

***คำชี้แจงแบบนี้ จะไปเข้าทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต และคำพิพากษาของศาลฎีกาอย่างน้อยๆ 4 คดีหรือไม่ ว่าการหยุดประกอบกิจการสื่อ แต่ยังไม่ได้แจ้งเลิกกิจการ ย่อมมีผลทางกฎหมาย และจะกลับมาประกอบกิจการอีกเมื่อไหร่ก็ได้ การถือหุ้นไว้จึงขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 

***4 คดีที่ศาลฎีกาตัดสิน เกิดขึ้นในปี 2562 เป็นประเด็นอ้างกิจการสื่อไม่ได้ประกอบกิจการ หรือไม่ได้ตีพิมพ์ แต่ไม่ได้จดแจ้งเลิกประกอบกิจการ หรือลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการอย่างเป็นทางการ / ล้วนเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการลงสมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) 

2.เมื่อหุ้นไม่มีมูลค่า เหตุใดจึงไม่ดำเนินการจำหน่ายจ่ายโอนไปก่อนหน้านี้ให้เรียบร้อย 

3.เมื่อตนเองเข้ามาทำงานการเมือง และเชื่อว่ามีขบวนการสกัดกั้นตน เหตุใดจึงไม่จัดการเรื่องหุ้นที่อาจก่อปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามให้เรียบร้อย 

4.เรื่องการถือหุ้นสื่อ เป็นประเด็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเตรียมตัวให้พร้อมใช่หรือไม่ 

5.หลักกฎหมายทั่วไป คำพิพากษาของศาลฎีกา หรือ ศาลยุติธรรม ผูกพันเฉพาะคู่ความ เพราะแต่ละคดีมีข้อเท็จจริงต่างกัน ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร

"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่ยื่นตรวจสอบการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา

ขณะที่ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่ยื่นตรวจสอบการถือครองหุ้นไอทีวีของ"พิธา" กล่าวกับ "เนชั่นทีวี" ถึงการโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า ต้องขอบคุณ"พิธา"ที่โพสต์ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นการโพสต์ก่อนที่จะได้เห็นคำร้อง ถือเป็นเรื่องดี เพราะมาจากตัวผู้ถูกร้องเอง ไม่ใช่เลขาฯ หรือคนอื่นมาพูดแทน 

แต่การโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์เช่นนี้ เข้าใจว่าทาง "กกต."จะไม่นำไปใส่ในสำนวน เพราะสิ่งที่จะนำไปประกอบสำนวน จะต้องเป็นเอกสารทางการจากผู้ถูกร้อง ซึ่งน่าจะมีกระบวนการให้"พิธา"ส่งคำชี้แจงอีกครั้ง แต่เมื่อ "พิธา" โพสต์ข้อความเอาไว้อย่างยืดยาวในฐานะผู้ร้องจะทำหน้าที่รวบรวม ส่งเป็นหลักฐานเพิ่มให้ กกต.

เมื่อถามถึงน้ำหนักของเหตุผลและข้อเท็จจริงที่นำมาชี้แจง ถือว่าฟังขึ้นหรือไม่ "เรืองไกร" ตอบว่า เนื้อหาที่ชี้แจงยังตอบคำถามไม่ได้ทั้งหมด แต่"เรืองไกร"ไม่ใช่คนมีอำนาจตัดสิน ฉะนั้นต้องรอศาลพิจารณาและวินิจฉัย

ส่วนการโอนหุ้นไปให้ทายาท และพยายามอธิบายสถานะของไอทีวีในแต่ละช่วงเวลาว่าไม่ได้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน และไม่ได้เป็นสื่อโทรทัศน์แล้วนั้น "เรืองไกร" มองว่า เป็นการใช้วิธีชี้แจงคล้ายๆ กรณีของ"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะก้าวหน้า ที่อ้างว่าขายหุ้นไปก่อนแล้ว ขับรถเร็วจากบุรีรัมย์กลับบ้านไปโอนหุ้น ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่ชี้แจงกับศาล แต่ศาลจะเชื่อหรือไม่ มองว่าฟังขึ้นหรือไม่ ต้องรอฟังคำวินิจฉัย และคาดว่าในขั้นตอนการพิจารณาของศาล น่าจะเรียกทายาทมาสืบพยาน 

"เรืองไกร" ตั้งข้อสังเกตว่า ในข้อความชี้แจงของ"พิธา" ไม่ได้ระบุวันที่โอนหุ้นให้ทายาท และไม่ได้ระบุวันที่แจ้งข้อมูลกับ ป.ป.ช. ทั้งๆ ที่เป็นหลักฐานสำคัญที่มีผลต่อคดี แต่ก็ขอขอบคุณที่ได้ชี้แจงมา ชี้แจงเยอะๆ ยิ่งดี เนื่องจากเป็นเรื่องของ"พิธา"เอง

logoline