svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

 เปิดตัวเลข “สอยว่าที่ ส.ส.” ส่อเขย่าผลเลือกตั้ง จับตาสะเทือนดีลตั้งรัฐบาล

04 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จับตา "กกต." เตรียมสอย"ว่าที่ส.ส." พบ คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งกว่า 200 เรื่อง เปิดจำนวน ว่าที่ส.ส.เข้าข่ายพิจารณาถึงขั้นเลือกตั้งใหม่ ส่อกระทบคะแนนพรรค

4 มิถุนายน 2566  ภายหลัง "นายอิทธิพร บุญประคอง" ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ร้อยละ 95 เพื่อให้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกและดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมกับระบุว่า ขณะนี้มีคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง 280 กว่าคำร้อง โดยยื่นตรวจสอบว่าที่ส.ส.ประมาณ 20 คนนั้น

แหล่งข่าว กกต. เปิดเผยว่า สำหรับการประกาศรับรองผลตามขั้นตอนของกฎหมาย กกต.ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการเลือกตั้งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งขณะนี้คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งมีเข้ามาประมาณ 280 เรื่อง เป็นคำร้องที่มีทั้งเรื่องหนักและเรื่องเบา

บางเรื่องตรวจสอบแล้วไม่มีมูล จึงสั่งไม่รับไว้พิจารณา ส่วนคำร้องที่รับไว้พิจารณาขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสืบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ตรวจสอบทั้งเอกสารพยานหลักฐานจากทางผู้ร้องและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย

สำหรับผู้ชนะการเลือกตั้งหรือว่าที่ ส.ส. 500 คน จากการตรวจสอบ พบว่าถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบประมาณ 20-30 คน จากทุกพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งมีทั้งประเด็นการซื้อสิทธิขายเสียงและการหาเสียงหลอกลวง ใส่ร้ายป้ายสี ส่วนความหนักเบาของเรื่องจะต้องดูตามข้อเท็จจริงอีกครั้ง

 

ดังนั้น เมื่อผู้ชนะการเลือกตั้งหรือว่าที่ส.ส.ถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบ ตามขั้นตอน กกต.จะต้องสืบสวนข้อเท็จจริง เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 127 กำหนดว่า การเลือกตั้งทั่วไป กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตได้เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด

"แต่เมื่อมีว่าที่ผู้สมัครส.ส.กว่า 20-30 คนถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบ จึงเป็นสาเหตุที่ กกต.ไม่อาจทยอยหรือแยกประกาศผลการเลือกตั้งส.ส. บางเขตไปก่อนได้ แต่ยืนยันว่ากระบวนการประกาศรับรองส.ส.จะเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ชักช้าแน่นอน จะพยายามเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามกรอบระยะเวลาภายใน 60 วัน แต่จะไม่รวบรัดป้องกันซ้ำร้อยกรณีการให้ใบส้ม"นายสุรพล เกียรติไชยากร" อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียง ใหม่ พรรคเพื่อไทย(พท.)แน่นอน"

ขณะเดียวกัน คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้สำนักงาน กกต.จะเสนอเรื่องให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาสั่งนับคะแนนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่ เนื่องจากพบว่ามีบางหน่วยผลคะแนนไม่เท่ากับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง  ซึ่งควรมีลักษณะเมื่อผู้มาลงคะแนนกับจำนวนบัตรตรงกัน

ดังนั้น เมื่อตรงกันเวลานับคะแนนก็ควรจะถูกต้องด้วย ซึ่งกรณีนี้เกิดอาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการขีดซ้ำหรือลืมขีดตอนขานคะแนนจึงส่งผลให้คะแนนออกมาไม่ตรงกับจำนวนคนที่มาใช้สิทธิและจำนวนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งแบบนี้เรียกว่าคะแนนเขย่ง ไม่ใช่บัตรเขย่ง

อย่างไรก็ตาม ตรงนี้มีความสำคัญกับคะแนนของพรรคในส่วนของส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากต้องนำคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งมาคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส.ทศนิยมอาจวิ่งไป วิ่งมาได้ทุกพรรค แต่ไม่ได้สั่งให้นับคะแนนใหม่ทั้งหมด  

โดยจะนับคะแนนใหม่เพียงบางหน่วยเท่านั้น ดังนั้น เท่ากับว่าขณะนี้จะมี 2 เงื่อนไข คือ 1. การนับคะแนนเขย่งของบัญชีรายชื่อ  และ 2.การพิจารณาประกาศรับรองส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งจะประกาศครั้งแรกได้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ครบจำนวน เพราะว่ามีผู้ชนะการเลือกตั้งหรือว่าที่ส.ส.ถูกร้องเรียนอยู่ประมาณ 20-30 คน

"ส่วนคำร้องเรียนแบบบัญชีรายชื่อก็มีผล ถ้าในเขตเลือกตั้งนั้นผู้สมัครซื้อเสียงให้กับผู้สมัครบัญชีรายชื่อด้วย เท่ากับว่าคะแนนเขตของพรรคนั้นจะเสียไป จะมีผลเพราะคะแนนบัญชีรายชื่อมันสัมพันธ์กันทั้งประเทศ "แหล่งข่าว ระบุ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดจาก แหล่งข่าวใน กกต. เกี่ยวกับตัวเลขการ "สอยว่าที่ ส.ส." ไม่ตรงกับคำสัมภาษณ์ของ"นายอิทธิพร บุญประคอง" ประธาน กกต.นัก แต่สอดคล้องกับข้อมูลที่ "เนชั่นทีวี" ตรวจสอบมาได้ 

นั่นก็คือแนวโน้มการสอยผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะ "ผู้ชนะ"ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ "ว่าที่ ส.ส." จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ตามการยอมรับของประธาน กกต.ที่ว่ามีเรื่องร้องเรียนกว่า 200 เรื่อง และมีคำร้องที่เกี่ยวข้องกับผู้ชนะในเขตเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20 เขต 

ข้อมูลที่หลุดรอดมาถึง "เนชั่นทีวี" ก็คือ เขตเลือกตั้งที่จะถูกสอยมีถึง 37 เขต ซึ่งน่าจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ หากตัวเลขเป็นแบบนี้ อาจส่งผลต่อจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้รับมากพอสมควร รวมถึงน่าจะกระทบกับ "ดีลตั้งรัฐบาล" ที่มีการจับขั้วกันอยู่ในขณะนี้ 8 พรรคการเมืองด้วย 

นอกจากนั้นยังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับว่าที่ ส.ส.บางพรรค ถูกตรวจสอบพบว่าไม่ได้ไปเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และไม่ได้แจ้งเหตุอันสมควรไปยัง กกต. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นและเลือกตั้งซ่อมระดับท้องถิ่น ทำให้เสียสิทธิ์ ไม่อาจลงสมัครรับเลือกตั้งได้

"ตัวเลขว่าที่ ส.ส.กลุ่มนี้มีราวๆ 3 คน ข่าวว่ามาจากพรรคเดียว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัดจากทาง กกต." แหล่งข่าวระบุ 

 

logoline