svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกสมาคมทนายความ ยัน ตำแหน่งประธานสภา ใช้ผลักดันกฎหมายตามใจชอบไม่ได้

30 พฤษภาคม 2566

นายกสมาคมทนายความ กางรธน. ยัน "ประธานสภา" ใช้อำนาจผลักดันกฎหมายตามใจชอบไม่ได้ ชี้ เป็นตำแหน่งสำคัญ ต้องได้รับการยอมรับจาก ส.ส. ของพรรคการเมืองอื่น และจาก ส.ว.

30 พฤษภาคม 2566 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า ตามที่สังคมไทยเกิดกรณีถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการอ้างเหตุผลที่มีลักษณะเป็นการบิดเบือน จนอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสาธารณชน สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอเรียนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

1. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 และ 117 สภาผู้แทนราษฎรมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาหนึ่งคนหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จากสมาชิกตามมติของสภาและดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาผู้แทนราษฎร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 


2. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น การที่พรรคการเมืองบางพรรคอ้างว่า จะต้องให้คนของพรรคตนดำรงตำแหน่ง เพื่อผลักดันร่างกฎหมายสำคัญ จึงเป็นการบิดเบือน เพราะการบรรจุวาระการพิจารณาร่างกฎหมาย จะต้องเป็นไปตามลำดับของร่างกฎหมายที่ได้ยื่นต่อสภา ส่วนการเลื่อนวาระไม่อาจกระทำได้ ยกเว้นเป็นมติของที่ประชุมสภา ประธานจึงไม่มีอำนาจบรรจุ หรือเลื่อนวาระหรือใช้ดุลพินิจได้ตามใจชอบ

3. ส่วนการประชุมเพื่อลงมติเลือกตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นการประชุมรัฐสภานั้น สามารถเสนอชื่อได้ จนกว่าจะได้รับเลือก และหากรัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วยเสียงเกิน 376 เสียง ให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องนำรายชื่อนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 จึงไม่อาจสลับเอารายชื่อบุคคลอื่นขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ ตามที่สื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอ

นายกสมาคมทนายความ ยัน ตำแหน่งประธานสภา ใช้ผลักดันกฎหมายตามใจชอบไม่ได้

โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 80 บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประเทศ อันเป็นตำแหน่งที่เป็นทั้งสัญลักษณ์และหน้าตาของประเทศ ดังนั้น ผู้ที่ควรได้รับการเสนอชื่อ จึงควรมีความเหมาะสม ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ

รวมทั้งต้องได้รับการยอมรับทั้งจาก ส.ส. ของพรรคการเมืองอื่น และจาก ส.ว. เพราะจะต้องทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมของทุกฝ่าย มิได้เป็นเพียงประธานของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเท่านั้น การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง จึงควรคำนึงถึงการยอมรับจากทุกฝ่าย และประโยชน์สูงสุดของประเทศ