svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมาคมทนายความฯ" ต้านยกเลิก "มาตรา112" เชื่อคนทำมีอคติ

27 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย" ออกแถลงการณ์ ต้านยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา112" ย้ำไทยต้องมีกฎหมายปกป้องสถาบัน ชี้ พรรคเสนอยกเลิกเท่ากับมีอคติ ไร้เหตุผลรองรับการกระทำ

26 พฤษภาคม 2566 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เปิดเผยแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามที่เกิดประเด็นถกเถียงกรณีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นว่า ควรมีการยกเลิก ควรมีการแก้ไข และไม่ควรแตะต้องเลย นั้น สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบันหลักของประเทศ ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้มีบัญญัติเพื่อการปกป้องสถาบันหลักทั้ง 3 แล้ว ดังนี้

"สมาคมทนายความฯ" ต้านยกเลิก "มาตรา112" เชื่อคนทำมีอคติ

1. การปกป้องสถาบันชาติ ได้แก่ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐตามมาตรา 116 มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

2. การปกป้องสถาบันศาสนา ได้แก่ ความผิดต่อศาสนาตามมาตรา 206 มีโทษจำคุกหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

3. การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ความผิดตามมาตรา 112 มีโทษจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี

ดังนั้น การที่พรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 112 นั้น เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่มีอคติ และไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะประเทศมีกฎหมายปกป้องสถาบัน ชาติและศาสนา แล้วเหตุใดจึงจะยกเลิกการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

"สมาคมทนายความฯ" ต้านยกเลิก "มาตรา112" เชื่อคนทำมีอคติ

ส่วนที่เสนอให้แก้เป็นความผิดที่ยอมความได้ และมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปียิ่งขาดเหตุผล เพราะมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีหลักการเดียวกับมาตรา 116 และ 206 จึงต้องเป็นความผิดต่อรัฐที่ยอมความไม่ได้และมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน ส่วนที่บางฝ่ายเห็นว่าควรมีการแก้ไขอัตราโทษให้สอดคล้องกับมาตรา 116 และ 206 ก็เป็นเรื่องที่รัฐสภาจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุอีกว่า ปัญหาที่แท้จริงของมาตรา 112 ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ จึงเกิดการกลั่นแกล้งโดยใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทำร้ายอีกฝ่าย ส่วนที่เสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายยิ่งไม่บังควรเพราะจะเป็นการดึงเอาสถาบันมาเป็นคู่กรณีกับประชาชน

"สมาคมทนายความฯ" ต้านยกเลิก "มาตรา112" เชื่อคนทำมีอคติ

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองว่าการกระทำใดเป็นความผิดต่อ มาตรา 112 หรือไม่ เพื่อให้ตำรวจและอัยการถือปฏิบัติไม่ให้เกิดกรณีฟ้องไว้ก่อนเพื่อเอาตัวรอด ส่วนศาลก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้เป็นเช่นเดียวกับความผิดฐานอื่น หาไม่แล้วจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อสถาบัน เพราะความขลาดกลัวและการใช้ดุลพินิจที่เลือกปฏิบัติของศาล

logoline