svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แกะสูตร"ก้าวไกล"ชนะเลือกตั้ง-กับการใช้โซเชียลฯ Disrupt

16 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญ และถือเป็นความสำเร็จของ"ก้าวไกล"ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเกิดจากการใช้"โซเชียลมีเดีย"อย่างเข้าใจ-มียุทธศาสตร์ รู้จุดแข็ง จุดอ่อน และที่สำคัญมาถูกเวลา

"พรรคก้าวไกล" ใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ใช่เป็นแค่ "แพลตฟอร์ม" สำหรับกระจายแคมเปญ คลิปกิจกรรม หรือข้อความเพียงส่งถึงประชาชนเท่านั้น

เพราะถ้าย้อนอดีตความสำเร็จทางการเมืองของพรรคก้าวไกลนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่เปี 2562 ในนาม"พรรคอนาคตใหม่" จนฝ่ายความมั่นคงต้องหันกลับมาให้ความสนใจและจับตามอง แม้จำนวน ส.ส.ที่ได้มาขณะนั้น ส่วนหนึ่งมาจากพรรคไทยรักษาชาติซึ่งถูกยุบ

แต่คะแนนที่ประชาชนเลือก และโฉมหน้า ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น สามารถล้ม "บ้านใหญ่" หรือ "ส.ส.ดาวฤกษ์" ได้นับไม่ถ้วน ทำให้ต้องมาค้นหาคำตอบ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม เคยมีรายงานของฝ่ายความมั่นคงระบุข้อค้นพบว่า

- "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" และทีมงานสร้างเครือข่ายเยาวชนมาก่อนตั้งพรรคอนาคตใหม่หลายปี โดยใช้วิธีเข้าไปร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนมัธยม และสร้างเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์กัน

- เมื่อเครือข่ายเยาวชนเหล่านี้โตขึ้น และเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย จึงทลายข้อจำกัดของสถาบันการศึกษา ระดับมัธยม เพราะนักเรียนที่จบจากหลายๆ โรงเรียน มาเจอกันที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

- มีเครือข่ายอาจารย์ในมหาวิทยาลัย สร้างความคิดความเชื่อใหม่

- เชื่อมโยงเครือข่ายข้ามมหาวิทยาลัย หลังจากทลายกำแพงโรงเรียนแล้ว

- กลายเป็นเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ขนาดใหญ่ ที่แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลกัน มีผู้นำธรรมชาติของแต่ละเครือข่าย

- ธรรมชาติของการรับสื่อของเยาวชนคนรุ่นใหม่ มาจากโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก ฉะนั้นเครือข่ายเหล่านี้จึงกำหนดวาระข่าวสาร และข้อมูลต่างๆ ได้

- เกิดปรากฏการณ์ "ห้องเสียงสะท้อน" หรือ Echo Chamber ในหลายๆ กรณี คือ สมาชิกในเครือข่าย พูด คิด และแสดงความเห็นในทางเดียวกัน และเชื่อข้อมูลของกันและกัน โดยไม่เปิดรับข้อมูลด้านอื่นๆ หรือหากเปิดรับ ก็อาจถูกโจมตีให้ประเด็นนั้นตกไป

แกะสูตร"ก้าวไกล"ชนะเลือกตั้ง-กับการใช้โซเชียลฯ Disrupt
 

ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับ "อ.พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร" ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ได้วิเคราะห์ถึงเรื่องดังกล่าวไว้ ว่า ความสำเร็จของพรรคก้าวไกล เกิดจากการสร้าง network 2 แบบ คือ

1. social network กับเยาวชนต่างๆ คือ เป็นเครือข่ายที่สร้างขึ้นและเติบโตขึ้นตามเวลา และขยายใหญ่ขึ้น กว้างขึ้นตามที่เล่าในตอนต้น

2. สร้าง social network บนโลกไซเบอร์ โดยใช้ network ของเยาวชนเป็นฐาน เพื่อขยายเครือข่ายออกไปยังคนกลุ่มอื่นๆ

"อ.พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร" ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร

"อ.พันธ์ศักดิ์" ยังได้ขยายความต่อว่า มีการใส่ความคิด และข้อมูลลงไปเรื่อยๆ  ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียง โน้มน้าว หรือ ดิสเครดิต ฝ่ายตรงข้าม และสร้างแคมเปญที่แฝงโฆษณาชวนเชื่ออย่างแนบเนียน ซึ่ง คำๆ นี้ หมายถึง เป็นแคมเปญเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ที่ประสบความสำเร็จ เพราะตรงกับรสนิยม ค่านิยม และกลุ่มเป้าหมาย

-ข้อนี้สำคัญ การใช้โซเชียลมีเดียทำงานให้ โดยอาศัยปฏิกิริยา peer effect message คือ ให้เพื่อนส่งข้อมูลให้เพื่อน ซึ่งจะมีอิทธิพลมาก และขยาย network ได้เร็วตามธรรมชาติของ social network  โดยไม่ใช้การส่งข้อมูลตรง หรือ Direct Message

นอกจากนี้ สมมติว่าพรรคจะสื่อสารบางอย่าง แทนที่จะส่งข้อความตรงจากพรรคไปที่ตัวเป้าหมาย ก็ส่งผ่านเครือข่าย peer แทน ซึ่งจะทำให้คนรับข้อความ เชื่อตามนั้นทันที เนื่องจากได้รับจากคนที่ตัวเองเชื่อ

ขณะเดียวกัน ก็ใช้อิทธิพลของ "อัลกอริทึม"ทางโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ คือ ข้อความ คลิป หรือแคมเปญ ปรากฏขึ้นหน้าฟีด ของเราเองจากการเลือกให้ของอัลกอริทึม
 

อย่างไรก็ตาม แต่วิธีนี้ไม่ใช่การบูทโพสต์ แต่มาจากการวิเคราะห์ ผ่าน AI โดยใช้ "ไมโคร ทาร์เก็ตติ้ง" หรือ บุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง บวกกับ personal data ที่อาจจะซื้อมาจากแพลตฟอร์มที่ขายข้อมูลนี้ จากนั้นก็ส่งข้อความ แคมเปญ หรือคลิป ให้ตรงกับรสนิยมของกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้อัลกอริทึม

เมื่อเป้าหมายได้รับข้อความ คลิป แคมเปญ ซ้ำๆ ก็จะค่อยๆ ชื่นชอบ ชื่นชม ศรัทธา และเชื่อไปตามที่พรรคต้องการสื่อสาร และขยายตัวต่อไปอีกจาก peer message ที่คนเหล่านี้แชร์ต่อไปยังคนรู้จัก เพื่อน หรือ คนในครอบครัว และสุดท้ายกลายเป็นการ "เปลี่ยนทัศนคติทางการเมือง" ของผู้รับสาร

โดยปรากฏการณ์นี้ คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดี บราซิล เมื่อช่วงปี ค.ศ. 2019 จนทำให้เกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์เช่นกัน

จากปรากฏการณ์สร้างเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค 2 ชั้นดังกล่าว รวมถึงเครือข่ายผ่านอัลกอริทึม ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "หัวคะแนนธรรมชาติ" แต่ประจวบเหมาะกับรากฐานสังคมไทย ที่เปลี่ยนไปถึงจุดที่พอเหมาะ พอดี คนที่เดินทางจากท้องถิ่น ไปศึกษาต่อ หรือเรียนต่อต่างถิ่น ทำงานนอกจังหวัดที่เกิด นานพอ และมากพอที่จะตัดสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่บ้านเดิมได้เด็ดขาด

ส่งผลให้เปลี่ยนผลการเลือกตั้งในระดับเขต จน "บ้านใหญ่" ไม่ขลังอีกต่อไป เพราะคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง ไม่ได้ประโยชน์ หรือไม่เห็นความสำคัญของระบบอุปถัมภ์แบบเดิมอีกต่อไป

"ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถือว่าได้ โซเชียลมีเดีย ได้ Disrupt การเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปของไทย ต้องให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดีย"

แกะสูตร"ก้าวไกล"ชนะเลือกตั้ง-กับการใช้โซเชียลฯ Disrupt
 

logoline