svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ซื้อให้ยับ นับทีหลัง"สูตรตั้งรัฐบาล"เสียงข้างน้อย"?  

13 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ "เนชั่นโพล" ออกมาในช่วงใกล้ 7 วันสุดท้ายก่อนหย่อนบัตรลงคะแนน ดูเหมือนการเลือกตั้งหนนี้ จะลดทอนความน่าสนใจลงไป เพราะคนส่วนใหญ่พากันเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งค่อนข้างชัดเจนในระดับ "แบเบอร์แล้ว" 

ผลการเลือกตั้งที่เชื่อกันว่า "แบเบอร์" จริงๆ ก็เชื่อกันมาตั้งแต่โพลประกาศ นั่นก็คือพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มากที่สุดค่อนข้างแน่ เพียงแต่จะแลนด์สไลด์ หรือได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือ เกิน 250 ที่นั่งหรือไม่ เท่านั้นเอง 

จนกระทั่ง "โพลทุกสำนัก" ออกมาในทิศทางใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะ "เนชั่นโพล" ที่มีกระแสประชาชนและพรรครอลุ้นและให้ความเชื่อถืออย่างมาก

ปรากฏว่าคำว่า "แบเบอร์" ถูกนำมาใช้จริงๆ แต่ขยายความกว้างไปถึงแฮชแท็กที่ "เนชั่นทีวี" เคยนำเสนอไป ก็คือ #เสรีนิยมแลนด์สไลด์ ซึ่งคนไทยในอเมริกาใช้คำว่า Skyfall กันเลยทีเดียว 

สิ่งที่คอการเมืองลุ้นกัน คือ ระหว่าง "เพื่อไทย กับ ก้าวไกล" ใครจะฝ่ายชนะกันแน่ เพราะแฟนคลับก้าวไกลก็ยังหวังว่า กระแสสุดคึกคักที่ปรากฏในช่วง 1-2 สัปดาห์มานี้ อาจแรงพอที่จะทำให้พรรคอันเป็นที่รักของตน พลิกมาชนะได้เลย 

แต่หากมองจากสายตาของคน "กลางๆ" หน่อย ก็ลุ้นว่า เพื่อไทยจะชนะก้าวไกลได้เด็ดขาดหรือเปล่า และเขตแบเบอร์ของเพื่อไทย จะโดนก้าวไกลเจาะไข่แดงไปกี่เขต 

ส่วนฟาก "อนุรักษ์นิยม" ต้องบอกว่าเงียบเหงา หรือช็อตกันไปดื้อๆ มีเพียง

-รวมไทยสร้างชาติเท่านั้นที่ปลุกกระแส "ช้างป่วย" ให้เป็น "ช้างศึก" ออกมาสู้แลนด์สไลด์ หรือ สกายฟอลล์ ของฝ่ายเสรีนิยม 

-ภูมิใจไทย ชะงักไปเพราะฤทธิ์เดช "ชูวิทย์" หรือ "เสี่ยจอมแฉ" รวมถึงกระแสต้านเรื่องกัญชา 

-พลังประชารัฐ จุดไม่ติดเรื่องก้าวข้ามความขัดแย้ง ทำให้ระยะหลังๆ ต้องให้ "ลุงป้อม" ออกแรงสวมเสื้อเท่ๆ ออกเดินตลาดอีกครั้ง แต่ก็ไม่ปังเท่าช่วงแรกๆ 

-ประชาธิปัตย์ พลิกดูจากผลโพลก่อนเลือกตั้ง 7 วัน แทบไม่มีโพลไหนให้เกิน 52 ที่นั่ง หรือมากกว่าปี 62 เลย แม้แต่โพลของหน่วยงานรัฐเอง ในขณะที่พรรคก็ยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ 

-ชาติไทยพัฒนา ก็ทำท่าจะได้ ส.ส.ต่ำกว่าเป้า เพราะได้ข่าวนายทุนถอดใจ ทำให้มีหวังจริงๆ คือ การรักษา 5 ที่นั่งที่สุพรรณบุรี ส่วนพื้นที่อื่นๆ ต้องลุ้นแทบทุกที่ แม้แต่จ.ร้อยเอ็ด เก้าอี้เดียวในอีสานเมื่อปี 62 ก็ยังเสี่ยงกระแสแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย 

-ไทยสร้างไทย และ ชาติพัฒนากล้า คะแนนประเมินที่ออกมา ต่ำกว่าที่คาด

เหตุผลมีเพียง 2 ประการ คือ 

1.กระแสคนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนแปลง แม้บางส่วนไม่ได้เกลียดอะไรลุงตู่ แต่มองว่าอยู่มานานเกินไปแล้ว 

2.กระแสคนส่วนใหญ่ต้องการเลือกนายกฯ แต่ไม่ใช่ "อุ๊งอิ๊งค์" หรือ "เศรษฐา" กับ "ลุงตู่" แต่เป็น "อุ๊งอิ๊งค์ " กับ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" 

ส่วน "ลุงตู่" ต้องรอสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ฟ้าฝนเป็นใจ พายุถล่มจนคนออกไปเลือกตั้งได้น้อยในวันอาทิตย์นี้ ถึงจะมีสิทธิลุ้น 

ฉะนั้นในห้วงก่อน 7 วันสุดท้าย หลังรู้ผลโพล ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงเหลือเพียงหนทางเดียว และเป็นยุทธศาสตร์ที่วางไว้แล้ว เพียงแต่ต่อยอด เพิ่มความชัดเจน และเริ่มสื่อสารให้สังคมได้ยินได้ฟัง ได้เตรียมใจ และจะได้ชินชา 

1.ยุทธศาสตร์ 3 รุม 1 

-ทำทุกอย่างให้เพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ 

-จับมือกันหลวมๆ 3 พรรค คือ รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย ซึ่งทั้ง 3 พรรค ได้ ส.ส.รวมกันต้องชนะหรือใกล้เคียงกับเพื่อไทยพรรคเดียว คือ ราวๆ 180 ถึง 190 ที่นั่ง ตามการประเมินของฝ่ายความมั่นคง หรือ โพลความมั่นคง 

2.ชิงจับขั้วรัฐบาลให้ได้ก่อน 

-ยุทธศาสตร์ 3 รุม 1 หากได้ใกล้ๆ 200 เสียง แม้จะแพ้เพื่อไทยเล็กน้อย แต่เพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังมีสิทธิ์เป็นรัฐบาล 

-วิธีการคือนำคะแนน 3 พรรค มาบวกกับประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ก็น่าจะได้ราวๆ 250+ หรือต่ำกว่า 250 เล็กน้อย 

หากเพื่อไทยกับก้าวไกล บวกกัน 2 พรรค ยังไม่ถึง 250 เสียง ยุทธศาสตร์นี้จะสำเร็จ และจบที่ขั้นตอนนี้เลย เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยม สามารถดึงพรรคที่เหลือมาร่วมตั้งรัฐบาลเกิน 250 เสียงได้แน่นอน 

3.ชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย 

-ยุทธศาสตร์ 2 ข้อแรกมีปัญหา เพื่อไทยกับก้าวไกลได้ ส.ส.รวมกันเกิน 250 เสียง 

-ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงต้องเดินเกมตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อน ในความหมายของการชิงเก้าอี้นายกฯมาครองก่อน 

-ใช้สูตร 250 ส.ว.เป็นตัวตั้ง บวกด้วยเสียง ส.ส. 126 เสียงขึ้นไป

-สูตรนี้จะมารองรับผลโพลล่าสุด แม้แต่ตัวเลขประเมินฝ่ายความมั่นคง ว่าจะได้ ส.ส.ราวๆ 150-160 บวกลบเท่านั้น 

ทว่า สถานการณ์ขณะนี้เดินมาถึงยุทธศาสตร์ ข้อ 3 คือ 

-ผลการเลือกตั้งแทบไม่ต้องลุ้นแล้ว 

-จุดแตกหัก หรือรบกันสนามต่อไป คือ การชิงจับขั้วตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งมากกว่า 

โดยมีไม้เด็ดเป็น "ยุทธศาสตร์สำรอง" คือจับอีกฝ่าย "แพ้ฟาวล์" เช่น กรณีหุ้นสื่อของ "ทิม พิธา" หรือข้อกล่าวหา คำร้องยุบพรรคที่ชนะเลือกตั้ง เป็นต้น จึงได้เห็น "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เริ่มออกมาพูดเรื่องรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมีการยก "คึกฤทธิ์ โมเดล" เมื่อปี 2518 ที่มี ส.ส.ในมือแค่ 18 เสียง แต่กลับขึ้นเป็นนายกฯได้อย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นกรณีศึกษา 

แต่การเมืองปี 2518 กับปี 2566 แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง "อ.สุรชาติ บำรุงสุข" นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง จากรั้วพระเกี้ยว ก็เคยวิเคราะห์เอาไว้ พร้อมตั้งข้อสังเกต 2 ปัจจัยสำคัญที่ไม่เหมือนเดิม 

ปี 2518 

-หม่อมคึกฤทธิ์ ได้รับการยอมรับมากในเรื่องความรู้ ความสามารถ และมีบารมีทางการเมือง 

-พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้น ภายใต้การนำของ "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" หรือ "หม่อมพี่" ยอมถอยด้วยดี หลังจากตั้งรัฐบาลแล้วแถลงนโยบายไม่ผ่าน 

ปี 2566 

-พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการยอมรับเหมือน หม่อมคึกฤทธิ์ หรือไม่ แถมยังอยู่มา 9 ปีแล้ว มีกระแสเบื่อหน่าย คนอยากลองของใหม่ 

-พรรคที่สูญเสียโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่ชนะเลือกตั้ง จะยอมแต่โดยดีหรือเปล่า 

ขณะที่ "รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นกับ "เนชั่นทีวี" ในเรื่องนี้เอาไว้ว่า 

-ในทางกฎหมาย การตั้ง "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" สามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม เพราะการให้พรรคอันดับ 1 มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน เป็นประเพณีทางการเมือง ไม่ใช่กฎหมาย ฉะนั้นจริงๆ แล้วทุกพรรคมีสิทธิรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แต่โดยนัยก็คือ หากพรรคได้เสียงน้อยมาก ก็ยากที่จะรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง 

-แม้จะทำได้ตามกฎหมายไม่ห้าม แต่สังคมคงจะกดดันหนัก เพราะเกี่ยวกับมารยาทในทางการเมือง ท่วาการเมืองไทย เรื่องมารยาท หรือประเพณี คงพูดยาก แต่เงื่อนไขเบื้องต้น คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคอนุรักษ์นิยมอื่นๆ ต้องได้ ส.ส.เกิน 25 เสียงก่อน เพื่อให้แคนดิเดตนายกฯของพรรค มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ 

ขณะเดียวกัน อาจารย์โอฬาร ทำนายว่า จะได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งนี้ ยากกว่าที่ผ่านๆ มา พร้อมทั้งเห็นสูตร "ซื้อให้ยับ นับทีหลัง" หมายถึงการซื้อ "ส.ส.งูเห่า" ฝั่งรัฐบาลที่ฝากเลี้ยงไว้ เพื่อมาจัดตั้งรัฐบาล เติมเสียงจากข้างน้อย ให้เป็นข้างมาก 

นอกจากนี้ จะได้เห็นเกมกลทางกฎหมายที่นำมาเล่นงานกัน เช่น กรณี "พิธา" เรื่องถือหุ้นสื่อ และเชื่อหลังเลือกตั้ง จะเกิดวิกฤตเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ หรือเกมกลทางกฎหมายเกิดได้ทั้งเพื่อไทย ก้าวไกล เนื่องจากมีคนร้องเรียน 2 พรรคนี้ค่อนข้างมาก 

"การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะเป็นแบบถูลู่ถูกัง แต่เชื่อว่าสุดท้ายจะบริหารไม่ได้ หรือไปต่อยาก โดยเฉพาะถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม รวมเสียงได้มากกว่ามากๆ อาจเกิดปัญหาทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี จนทำงานยาก เพราะต้องยอมลดแลกแจกแถม และทุกเทศกาลยกมือ ก็จะต้องมีการเจรจา เขย่า ต่อรอง ไม่ต่างกับสภาชุดที่ผ่านมา นี่คือสภาพการเมืองไทย หากฝืนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย" 

สำทับด้วยอีกหนึ่งนักวิชาการ คือ "รศ.สุขุม นวลสกุล" อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อย แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องดูที่คะแนน ถ้าห่างกันเป็นร้อยเสียง พรรคเสียงข้างน้อยจะเอาอะไรไปอ้างในการจัดตั้งรัฐบาล 

"ถ้าตั้งจริงๆ เวลาสัมภาษณ์อย่ามองหน้าคนสัมภาษณ์นะ อายเขา"

logoline