svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลือกตั้ง66: กลิ่นโชยทุจริตซื้อเสียง หวนซ้ำรอยอดีต ปิดฉาก"ยุบพรรค"

08 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยิ่งใกล้ถึง"วันเลือกตั้ง" วิชามารช่วงชิงคะแนนปรากฎให้เห็นในหลายพื้นที่ ส่งสัญญาณพฤติกรรมซื้อเสียงจะซ้ำรอยอดีต ที่มีการจับได้ไล่ทันต้องจบลงด้วยการ"ยุบพรรค"หรือไม่ ติดตามใน โพลิทิกส์พลัส

กลายเป็นประเด็นช่วงหกวันสุดท้ายก่อน"เลือกตั้งทั่วไป" เมื่อการเลือกตั้งล่วงหน้าในหลายพื้นที่ส่อแวววุ่น ทั้งจากการทำงานของ"กกต."ที่มีกระบวนการผิดพลาดบกพร่อง จนทำให้ใครบางคนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า อาจเสียคะแนนบริสุทธิ์ไปและมีแววที่"กกต."จะโดนฟ้องร้องกันหลายคดี

แต่สิ่งหนึ่งที่ท้าทายคือ การส่อแววไม่โปร่งใสการเลือกตั้งล่วงหน้าเพราะตอนนี้สังคมออนไลน์แชร์หลายพื้นที่เกี่ยวกับกลิ่นทะแม่งๆในการใช้สิทธิเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา 

เพจชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ติดตามความผิดปกติการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จังหวัดอำนาจเจริญชนิดกัดไม่ปล่อย

โดยเฉพาะการเกาะติดการเล่นนอกกติกาของบางพรรค จากการเจาะลึกของสายสืบและทีมแฉของ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์" ที่ประกาศจับจ้องการขยับของ"พรรคภูมิใจไทย"เป็นการเฉพาะ และเน้นน้ำหนักที่จ.อำนาจเจริญ พื้นที่ของ "สุสำรวย วันทนียกุล" ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.อำนาจเจริญ เขตหนึ่ง พรรคสีน้ำเงิน  และเคยทำหน้าที่เลขานุการรมว.คมนาคม กรณีที่เกิดขึ้น "ชูวิทย์" ไล่บี้โชว์หลักฐานกันแบบต่อเนื่อง

เช่น ภาพการขนผู้ชราภาพไปลงคะแนน, คลิปการใช้อสม.เดินหาแต้มและยึดบัตรประชาชนแลกเงินมัดจำ ,ภาพการเขียนเลขผู้สมัครบนมือของแกนนำให้ประชาชนจดจำก่อนเข้าคูหา,ภาพการปิดแผ่นพับแนะนำนโยบายของ”บางพรรค”บนบอร์ดแนะนำตัวผู้สมัครส.ส.ในจ.บุรีรัมย์

เอกสารหลักฐาน ที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นำมาเผยแพร่ผ่านเพจชูวิทย์ เพื่อชี้ให้เห็นกลโกงเลือกตั้งอำนาจเจริญ

ภาพต่างๆที่สังคมรับรู้ในวันนี้ ค่อนข้างชัดว่า "บางเขตที่พรรคภท.มีอิทธิพลสูง" อาจกำลังกระทำการ "ล้ำเส้นและไม่แคร์กติกาใดๆ"

การโกงเลือกตั้ง มีหลากตำนานแต่หนึ่งในนั้นคือ "ตำนาน ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ" โดยมีการจับกุมทุจริตเลือกตั้งส.ส.ในจ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2538 เพราะมีการจับกุมใครบางคนที่รู้กันว่าใกล้ชิดกับบ้านใหญ่แห่งอีสานใต้ มีการนำธนบัตรใบละหนึ่งร้อยบาทและยี่สิบบาทเย็บติดกับบัตรแนะนำตัวผู้สมัครบางพรรค ด้วยฝีมือของหัวคะแนนของคนการเมืองบ้านใหญ่ในพื้นที่  

ครั้งนั้น "พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส"  ลงพื้นที่จับกุมได้และคดีนี้โด่งดังไปทั่วเมือง แม้สุดท้ายจะสาวไม่ถึงตัวการใหญ่ในคดีนี้ แต่ประวัติศาสตร์เขียนไว้แล้วว่าใครบางคนทำให้ชื่อเสียงของจ.บุรีรัมย์เสื่อมราคา

หากมองใกล้มาอีกชั้นหนึ่งเกี่ยวกับ"การโกงเลือกตั้ง"จนนำไปสู่การ"ยุบพรรค" คือ การเลือกตั้งส.ส. 2 เมษายน 2549 (พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ในตอนนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้าน บอยคอตการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว เนื่องจาก"ทักษิณ ชินวัตร" หัวหน้า"พรรคไทยรักไทย"ที่มีส.ส. 377 คน และเป็นรัฐบาลพรรคเดียวจากการเลือกตั้งในปี 2548 เพราะ24ก.พ.2549 ทักษิณประกาศยุบสภาก่อนการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ในกรณีที่กลุ่มชินคอร์ปขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเส็กแบบไม่เสียภาษี)

แฟ้มภาพ เครือเนชั่น  เหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ยุบพรรคไทยรักไทย

ยามนั้นพบว่า "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือร้องเรียน กกต.ว่ามีข้อมูลและพยานหลักฐานที่ "พรรคไทยรักไทย" จ้างวานพรรคพัฒนาชาติไทย ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยร่วมกันปลอมแปลงแก้ไขทะเบียนสมาชิกในฐานข้อมูล กกต. เพื่อส่งคนไม่มีคุณสมบัติครบลงสมัครได้

เมื่อสืบผลขยายความ พบว่า "พรรคพัฒนาชาติไทย" กับ"พรรคแผ่นดินไทย" ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของ"พรรคไทยรักไทย"ให้ลงสมัคร และสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงเอกสารราชการ โดยการแก้ไขฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

แฟ้มภาพ เหตุการณ์ ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย

ตอนนั้น"สุเทพ" อ้างว่า กระบวนการนี้มีการจ่ายเงินกันหลายล้านบาท แต่มีการเบี้ยวกัน ทำให้ผู้ถูกหักหลังตัดสินใจนำข้อมูลมาให้พรรคประชาธิปัตย์ โดย 2 คนที่มาให้ข้อมูล ยอมให้บันทึกเทปสิ่งที่พูดโดยระบุสถานที่รับเงินที่กระทรวงแห่งหนึ่ง มีหลักฐานการโอนเงิน และภาพวีดิโอห้องที่รับเงินและเป็นที่มาของการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 หลังจากนั้นมีการสั่ง"ยุบพรรคไทยรักไทย"และตัดสิทธิทางการเมือง 111 ผู้บริหารพรรค เป็นที่มาของคำว่า "บ้านเลขที่ 111"  เป็นเวลา 5 ปีในวันที่ 30 พ.ค. 2550

 

ทำให้"ทักษิณ"ที่ลี้ภัยในต่างประเทศดีลกับ" สมัคร สุนทรเวช"ให้มานำทัพ"พรรคพลังประชาชน" (พรรคไทยรักไทย เวอร์ชั่นสอง)ร่วมกับสองขุนพลของ"ทักษิณ"ที่รอดภัยมาได้คือ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี"  เลขาธิการพรรคและ "ยงยุทธ ติยะไพรัช"  รองหัวหน้าพรรค  ผนวกกับทักษิณส่ง "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" น้องเขยมาร่วมเป็นรองหัวหน้าพรรค พร้อมกับ"ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง" มาช่วยในทีม บวกกับแกนนำนปช.ขณะนั้นคือ "จตุพร พรหมพันธุ์"และ"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ"  ที่คนแดนอีสานใต้ส่งมาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน(ตอนนั้นยังเคารพบกับวังจันทร์ส่องหล้าแบบแนบแน่น จน"บรรหาร ศิลปอาชา" แกนนำ"พรรคชาติไทย" ในวันนั้นเคยเตือนทักษิณแบบส่วนตัวว่าเล่นการเมืองอย่าฟังไอ้ห้อย ไอ้โหน รอบตัวมากเกินไป ) เพื่อปั้นพรรคสู้ศึกการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 

แฟ้มภาพ  ยงยุทธ ติยะไพรัช  อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน

แต่...ภัยการซื้อเสียงย้อนมาอีกครั้งเพราะ กกต.ได้มีมติเสียงข้างมากแจกใบแดง"นายยงยุทธ" ในฐานะ"ส.ส.สัดส่วนและรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน" เนื่องจากพบว่าก่อนหน้านั้นพบว่า "ยุทธ แม่จัน"มีการกระทำที่น่าเชื่อได้ว่าทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้ กกต.มีมติส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นไปตาม  มาตรา 237 ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากรรมการบริหารพรรคปล่อยปละละเลยหรือไม่ได้ยับยั้งการกระทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็ให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคได้

"ยงยุทธ"ถูกร้องเรียนว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2550 ใน จ.เชียงราย ทำให้"นายยงยุทธ"แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า"นายยงยุทธ" กระทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปฯ ส่งผลให้การเลือกตั้ง ส.ส.เชียงราย ไม่สุจริตและส่งผลให้พรรคพลังประชาชนโดนยุบพรรค จนพรรคพลังประชาชนแยกมาตั้งพรรคเพื่อไทย

ส่วนกลุ่มของคนโตอีสานใต้แยกไปตั้ง"พรรคภูมิใจไทย"พร้อมวรรคทอง"มันจบแล้วครับนาย"  และกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของ"พรรคเพื่อไทย"ในวันนี้ในหลายพื้นที่

ถึงตอนนี้ "คนโตอีสานใต้"กำลังใช้วิธีใต้ดินเพื่อโกยคะแนนเข้าตัวแบบไม่อายฟ้าดิน จนใครหลายคนส่ายหน้าและเหนื่อยใจกับเกมใต้ดินเช่นนี้ ดีไม่ดี กรรมแบบติดจรวดอาจส่งผลตรงแบบฉับพลันไปยังพรรคที่คนโตอีสานใต้สนับสนุนก็เป็นได้ใครจะรู้

 

แฟ้มภาพ 16 มีนาคม 2566  ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์  ยื่นกกต.ขอให้ยุบพรรคภูมิใจไทย
 

logoline