svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เป้าหมาย “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่เป้าหมาย “ก้าวไกล” ต้องชนะทางการเมือง

07 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” วิเคราะห์ Passion แรงปรารถนา ของ 2 พรรคตัวยืนใน “ฝั่งเสรีนิยม” เป้าหมาย “พรรคเพื่อไทย” แค่ต้องการชนะเลือกตั้งเป็นครั้งๆ ไป แต่เป้าหมายของ “ก้าวไกล” ต้องการ "ชัยชนะทางการเมือง"

ก่อนหน้านี้ Nation Online ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในประเด็นเรื่อง “การเลือกตั้ง” หลายครั้งหลายหนด้วยกัน แต่ในการพูดคุยครั้งล่าสุดนี้ จะพิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยอาจารย์ได้ขยี้และเจาะลึกลงไปถึง Passion หรือแรงปรารถนา ของ 2 พรรคตัวยืนใน “ฝั่งเสรีนิยม” ได้อย่างแหลมคม ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคก้าวไกล” ที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

จากศึก “อนุรักษ์นิยม VS เสรีนิยม” กลายเป็นศึก “เสรีนิยม VS เสรีนิยม”

ด้วยความร้อนแรงของ “พรรคก้าวไกล” โดยเฉพาะในโพลต่างๆ ที่ช่วงโค้งสุดท้ายค่อนข้างออกมาในทิศทางใกล้เคียงกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างความหนักใจให้กับ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ใช่น้อยๆ เพราะการเพิ่มขึ้นของ ส.ส. “ก้าวไกล” ก็เท่ากับทำให้จำนวน ส.ส. ของ “เพื่อไทย” ลดลง อันเนื่องมาจากมีฐานเสียงเดียวกันนั่นเอง

โดย “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” ได้วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สืบเนื่องมาจาก “พรรคก้าวไกล” ให้ความสำคัญของ  กับทุกโอกาส โดยเฉพาะ “ทุกเวทีดีเบต” ตั้งแต่ช่วงต้นๆ จึงก่อให้เกิดกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้ว “พรรคก้าวไกล” ก็ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน เขาคิดว่าเวทีไหนฟรี เขาก็ไป คือ “พรรคก้าวไกล” เป็นพรรคที่ทุนน้อย อะไรฟรีฉันก็ไปร่วมเวทีนั้น แล้ว “ดีเบต” มันก็ฟรีทั้งนั้น ซึ่ง “พรรคก้าวไกล” เล็งเห็นประโยชน์จากการดีเบตมากกว่า “พรรคเพื่อไทย”

และเราจะเห็นว่า พอ “ดีเบต” ปุ๊บ มันก็จะมีการผลิตซ้ำ มีการตัดต่อคลิปไปลงสื่อโซเชียล เพราะฉะนั้นกระแสพวกนี้มันก็กลายเป็นไวรัล ขณะที่ผ่านมา “แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย” ไม่ว่าจะเป็น “คุณอุ๊งอิ๊งค์” หรือ “คุณเศรษฐา” ก็ไม่เคยขึ้นเวทีดีเบตเลย (อาจขึ้นเวทีดีเบต 11 พฤษภาคมนี้)

แต่อีกฝั่ง “ก้าวไกล” เขาเอาจริง เพราะฉะนั้นกระบวนการมันจึงคนละเรื่อง แล้วเราต้องยอมรับว่า “พรรคก้าวไกล” ทุกคนเขามี Passion ตรงกันในเรื่องของการต่อสู้เพื่อชัยชนะทางการเมือง ทุกคนก็จะเข้าใจโจทย์ตรงกัน เข้าใจวิธีแก้โจทย์ที่ตรงกัน เพราะฉะนั้นเวลาไปนำเสนอจุดยืน ไม่ว่าจะส่งใครไปพูด มันก็เป็นข้อความเดียวกัน มันเกิดพลัง ทำให้ผู้รับสารเห็นความชัดเจน

เป้าหมาย “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่เป้าหมาย “ก้าวไกล” ชนะทางการเมือง

ประเด็นต่อมา ก็คือความไม่ชัดเจนของ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งทุกคนก็รู้ว่า มันชัดเจนไม่ได้ ผมพูดตรงๆ นะ ผมเข้าใจ “พรรคเพื่อไทย” แต่ว่า “พรรคเพื่อไทย” บริหารจัดการสถานการณ์แบบนี้ไม่เป็น

พอ “พรรคก้าวไกล” เขาชัดเจน เขาบอกว่า “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” พรรคเพื่อไทยก็ถูกสังคมตีกระหน่ำเลย คุณจะแลนด์สไลด์ จุดยืนของคุณคืออะไร ตรงนี้ก็นเลยกลายเป็นพลาดท่า

แล้วพอมาโดน “พรรคก้าวไกล” ขยี้ ตอนที่บอกว่า 4 ปี จะทำอะไร 1 ปีจะทำอะไร 100 วันแรกจะทำอะไร แถมบอกวิธีการทำด้วย จะต้องแก้กฎหมายกี่ฉบับ มันก็ทำให้โหวตเตอร์รู้สึกว่า เขามีส่วนรวมในการทำงานกับพรรคการเมือง เพราะอย่างน้อยที่สุดเขาตามตรวจสอบได้

อย่างการเลือกตั้งครั้งก่อน “พรรคพลังประชารัฐ” สัญญาจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ผ่านไป 4 ปีแล้ว ไม่เห็นทำอะไร แต่ “พรรคก้าวไกล” บอกว่า คุณตรวจสอบเราได้ตั้งแต่ 100 วันแรกเลย 1 ปี คุณต้องเห็นอะไร 4 ปีคุณต้องเห็นอะไร ไอ้ตรงนี้มันเป็นการสร้างความใกล้ชิดให้กับโหวตเตอร์ ทำให้รู้สึกมีอำนาจเหนือพรรค ไม่ใช่พรรคมีอำนาจเหนือกว่า

เป้าหมาย “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่เป้าหมาย “ก้าวไกล” ชนะทางการเมือง

Passion ที่แตกต่าง

ส่วนในเรื่องนโยบาย แม้โดยภาพรวมสังคมอาจรู้สึกว่า นโยบายของ “พรรคเพื่อไทย” เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุด แต่ “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” กลับมองว่า สิ่งที่ “พรรคเพื่อไทย” นำเสนอ มันไม่ได้มีอะไรใหม่ต่างจาก “พรรคไทยรักไทย” ในการเลือกตั้ง ปี 2544 

วิธีคิดดีไซน์นโยบายของ “พรรคเพื่อไทย” มันเคยเจ๋งในปี 2544 (พรรคไทยรักไทย) แต่ปัญหาก็คือ ผ่านมา 20 กว่าปี แพทเทิร์นการนำเสนอนโยบายของ “พรรคเพื่อไทย” มันไม่ได้ทำให้เกิดความตื่นเต้นได้อีกแล้ว

พูดตรงๆ ก่อนปี 2544 ประเทศไทยเป็น “รัฐราชการ” รัฐบาลทุกพรรคก็เดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่พอปี 2544 “พรรคเพื่อไทย” ได้พักชำระหนี้เกษตรกร , กองทุนหมู่บ้าน , 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ มันก็เกิดเป็นของใหม่ขึ้นมา

แต่พอนานวันเข้า ก็ต้องยอมรับว่า พรรคอื่นเขาก็เดินตาม แล้วเขาก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็น “รัฐบาลอภิสิทธิ์” หรือ  “รัฐบาลประยุทธ์” จะบอกว่า เขาไม่ทำเลยสักเรื่องก็คงไม่ได้ แต่โดยสรุปก็คือ เดินตามแพทเทิร์นเดียวกัน

และพอมารอบใหม่ “พรรคเพื่อไทย” ก็ไม่ได้เสนออะไรที่มันต่างจากเดิม อย่าง “เติมเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่น” วิธีคิดมันยังไม่พ้นจากการนำเสนอนโยบายในปี 2544 (พรรคไทยรักไทย)

ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” เขาฉีกไปอีกแนว เขาบอกว่า ปัญหาจริงๆ วันนี้มันไม่ใช่การเติมเงินเพื่อให้ยาแก้ปวด ปัญหาคือประเทศไทยแม่งเป็นมะเร็ง ต้องรักษาแบบองค์รวม เขาก็เลยเสนอชุดความคิดเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” ขึ้นมา เสนอชุดความคิดเรื่อง “กระจายอำนาจ” เสนอชุดความคิดเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” , “สุราก้าวหน้า” ฯลฯ

คือมันมาเป็นชุด มาเป็นแพ็คเกจ แล้วก็เชื่อมโยงกันหมด เพราะฉะนั้นมันก็ช่วยไม่ได้ที่สังคมจะตอบรับชุดนโยบายของ “ก้าวไกล” เพราะมันเชื่อมโยงให้เห็นการทำงานอย่างเป็นระบบมากกว่า

เป้าหมาย “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่เป้าหมาย “ก้าวไกล” ชนะทางการเมือง

Passion ของ “เพื่อไทย” ขอแค่ชนะเลือกตั้ง แต่ Passion ของ “ก้าวไกล” ต้องชนะทางการเมือง

“รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” ได้อธิบายเพิ่มเติมจากเรื่องนโยบายของพรรค ที่สะท้อนให้เห็นถึง Passion แรงปรารถนา และเป้าหมายของพรรคทั้งสอง ดังต่อไปนี้

จากที่กล่าวมาข้างต้น ผมจึงขอขยายความว่า มันมาจาก Passion ที่ต่างกัน คือ “พรรคก้าวไกล” เขามี Passion ในเรื่องการเอาชนะทางการเมือง ในขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” ยังอยู่ในเพดานของ “การชนะเลือกตั้ง” ซึ่งมันไม่เหมือนกันนะ คุณชนะเลือกตั้ง แต่คุณอาจไม่ชนะทางการเมืองก็ได้

รูปธรรมง่ายๆ คือ “พรรคไทยรักไทย” (พรรคเพื่อไทย) ตั้งแต่ถูกรัฐประหาร ทุกครั้งที่เลือกตั้งก็ชนะตลอด แต่ไม่เคยที่จะเอาชนะทางการเมืองได้เลย ประเด็นที่จะผลัดดันในหลายๆ เรื่อง ไม่เคยถูกยกระดับขึ้นมาเป็นประเด็นที่ทุกคนในสังคม เอามาถกเถียงกัน

ส่วน “พรรคก้าวไกล” เริ่มต้นมาจาก “พรรคอนาคตใหม่” เมื่อ 5 ปีก่อน แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่า เขาสามารถขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองได้ถึง 2 – 3 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 112 ซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่มีการนำมาพูดกันอย่างกว้างขวางในที่สาธารณะ หรือบนเวทีดีเบต

เรื่องที่ 2 ก็คือ “การปฏิรูปกองทัพ” ถ้าเราย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ตอนนั้นเป็นที่ปรึกษา “พล.อ.ชาติชาย” นายกฯ (ก่อนการรัฐประหารปี 2534) ไปวิพากษ์วิจารณ์ทหารนิดเดียว เกิดการชุมนุมไล่ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” แล้วสุดท้ายก็ต้องลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ

แต่วันนี้การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปกองทัพ การเกณฑ์ทหาร ซึ่งคือหัวใจเลยนะ มันถูกพูดถึงได้อย่างเปิดเผย นี่ยังไม่รวม “สมรสเท่าเทียม” ยังไม่รวม “สุราก้าวหน้า” ซึ่งเป็นประเด็นสิทธิเสรีภาพที่แหลมคม

“สุราก้าวหน้า” นัยยะของมันคือ “การทลายกลุ่มทุนผูกขาด” สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่มันสามารถเอาขึ้นมาบนเวทีดีเบตในที่สาธารณะได้ ทำให้ผมคิดว่า Passion ในการเอาชนะทางการเมืองของ “พรรคก้าวไกล” เขาเหนือกว่า “พรรคเพื่อไทย”

เป้าหมาย “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่เป้าหมาย “ก้าวไกล” ชนะทางการเมือง

และวันนี้ผมคิดว่า สิ่งที่ “พรรคก้าวไกล” พยายามที่จะทำอยู่ก็คือ การทำให้องค์กรพรรคมีความเป็นสถาบัน พูดตรงๆ นะ เขาอาจจะเห็น “พรรคประชาธิปัตย์” ต่อสู้ทางการเมืองจนกลายเป็นสถาบัน เขาก็พยายามทำให้ได้อย่างนั้น

ไม่ได้หมายความว่าเขาไปก๊อปปี้ “ประชาธิปัตย์” แต่เขาเห็นว่า การจะขับเคลื่อนทางการเมือง พรรคจำเป็นต้องมีความเป็นสถาบัน ทำให้ตอนนี้ “พรรคก้าวไกล” อาจเป็นพรรคเดียวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องระบบการหาสมาชิก เรื่องระบบตัวแทนประจำเขตเลือกตั้ง เรื่องระบบการจัดตั้งสาขา ซึ่งจะเห็นได้จากการจัดสรรเงินทุนอุดหนุนพรรคการเมืองจาก กกต. “พรรคก้าวไกล” มาเป็นอันดับ 1

เพราะฉะนั้นมันเห็นวิธีการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างพรรคที่มี Passion ที่จะเอาชนะทางการเมือง กับพรรคใหญ่ แต่ยังขีดเส้นตัวเอง แค่ต้องการชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นครั้งๆ ไป แล้วก็ต่อท่ออำนาจไปเรื่อยๆ  

ด้วยเหตุนี้ผมถึงเข้าใจว่า ทำไมผู้คนในสังคมถึงไม่เชื่อสิ่งที่ “พรรคเพื่อไทย” พูด เพราะทุกคนเคยเห็นลีลาทางการเมืองของ “พรรคเพื่อไทย” สุดท้ายก็คือ การกระทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล 

เพราะฉะนั้นพอเอาคณิตศาสตร์ทางการเมืองมาคำนวณ ทุกคนก็เห็นแล้วว่า ยังไงๆ “พรรคเพื่อไทย” ก็ได้ ส.ส. ไม่ถึง 376 คน ทุกคนก็เชื่อโดยนัยยะะแล้ว ในเมื่อ “พรรคเพื่อไทย” อยากเป็นรัฐบาล คุณก็ต้องไปเอาพรรคอีกขั้วหนึ่งมาร่วมด้วย เพราะฉะนั้นพอบอกว่า จะไม่จับมือกับ “ลุงป้อม” มันถึงไม่มีใครเชื่อไง

แต่เห็นไหมล่ะ เมื่อเทียบกับ “พรรคก้าวไกล” พูดคำเดียว “มีลุงไม่มีเรา” เกิดกระแสความเชื่อมั่น ยอมรับในจุดยืนตรงนี้ที่หนักแน่นกว่า “พรรคเพื่อไทย” กระทั่งล่าสุดวันที่ “คุณอุ๊งอิ๊งค์” ออกมาพูดที่ รพ.พระรามเก้า ว่าไม่จับมือกับ 2 ลุง แต่ก็ยังสร้างความมั่นใจตรงนี้ไม่ได้

Passion ในการเอาชนะทางการเมืองของ “พรรคก้าวไกล” เพื่อนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง ขณะที่อีกพรรคหนึ่งหวังแค่ชนะในการเลือกตั้ง แต่ไม่เคยยกระดับสู่การเอาชนะทางการเมือง

เป้าหมาย “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่เป้าหมาย “ก้าวไกล” ชนะทางการเมือง

20 ปี พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ไม่เคยชนะทางการเมือง

ในมุมมองของ “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” เห็นว่า ที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย” ถือว่ามีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ได้มุ่งหวังชัยชนะทางการเมือง แต่พึงพอใจที่จะชนะเลือกตั้งเป็นครั้งๆ ไปเท่านั้น  

“พรรคเพื่อไทย” เป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ปัญหาคือ พรรคใหญ่ขนาดนี้แต่ไม่สามารถที่จะเอาชนะทางการเมืองได้ อย่างน้อยที่สุด ถ้าลองถามใจโหวตเตอร์ “วันนี้พรรคแรกที่คุณคิดว่า ไม่เอารัฐประหาร คือพรรคใด” ผมไม่คิดว่า คนจะนึกถึง “พรรคเพื่อไทย” เป็นพรรคแรก ทั้งๆ ที่ “พรรคเพื่อไทย” ถูกรัฐประหารมา 2 หน

แต่พอพูดถึงพรรคการเมืองที่ไม่เอารัฐประหาร ทุกคนกลับนึกถึง “พรรคก้าวไกล” นี่มันก็เห็นแล้วว่า “พรรคเพื่อไทย” มี Passion ในเรื่องนี้ (ชัยชนะทางการเมือง) อ่อนมาก ผมอยากจะใช้คำว่า ไม่มีเลยด้วยซ้ำ

แล้วผมก็ไม่แปลกใจที่ “พรรคเพื่อไทย” ไม่เคยมีความคิดอย่างนี้ เพราะถ้าไปสแกนรายละเอียดของ “พรรคเพื่อไทย” แกนนำทั้งหลายทั้งปวง คนพวกนี้ก็ไม่เคยมีไอเดียเรื่องชัยชนะทางการเมืองอยู่แล้ว ทุกคนก็รวมตัวกันเพื่อต่อท่อการเป็นรัฐมนตรี พอ 4 ปีก็จะมีคิดนโยบาย เช่น เติมเงินดิจิทัล , ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 ฯลฯ แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์กับสภาพของสังคมไง ที่เห็นว่า เรื่องนี้มันเป็นปัญหาทางโครงสร้าง เพราะฉะนั้นคุณจะเข้าไปจัดการมันยังไง คุณก็ต้องเอาชนะทางการเมืองให้ได้ด้วย

เป้าหมาย “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่เป้าหมาย “ก้าวไกล” ชนะทางการเมือง

แม้ “ปีกอนุรักษ์นิยมล้าหลัง” ไม่สามารถยกระดับเป็น Neo-Conservatives แต่ “พรรคเพื่อไทย” ก็ยังเอาชนะไม่ได้   

สุดท้ายนี้ “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” คิดว่า “ปีกอนุรักษ์นิยมล้าหลัง” เป็นอีกปัญหาสำคัญในสังคมไทย เพราะถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดตกยุค แต่คนเหล่านี้กลับมีอำนาจในการบริหารประเทศ และที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้นก็คือ แม้กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็น “อนุรักษ์นิยมล้าหลัง” เป็น “อนุรักษ์นิยมถดถอย” แต่ “พรรคเพื่อไทย” ก็ยังไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองได้

ผมไม่ได้มองแต่ “พรรคเพื่อไทย” นะ ที่ละเลยในเรื่องนี้ (ชัยชนะทางการเมือง) ปีกอนุรักษ์นิยม ยิ่งแย่กว่า “พรรคเพื่อไทย” อีก เพราะถ้าพูดถึงการกุมอำนาจรัฐ หรือความเชื่อพื้นฐานของสังคมไทย “ปีกอนุรักษ์นิยม” ได้เปรียบทุกประการ เพราะชุดความคิดอนุรักษ์นิยมเนี่ย เป็นความคิดโดยพื้นฐานของคนไทยทั่วไปอยู่แล้ว ทั้งความเชื่อทางศาสนา ทั้งประเพณีวัฒนธรรม

แต่ยิ่งนานวันไป “ปีกอนุรักษ์นิยม” เสียอีกที่ไม่สามารถผลักดันเรื่องแบบนี้ให้มันเกิดชัยชนะทางการเมืองได้ มันก็กลายเป็นว่า “ปีกอนุรักษ์นิยม” ก็ใช้แทคติกทางกฎหมายอย่างเดียว แล้วก็ใช้แทคติกในเชิงของตัวช่วยต่างๆ ถ้าไปไม่ไหวจริงๆ ก็ยึดอำนาจ

เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า “ปีกอนุรักษ์นิยมแบบเก่า” ก็ถดถอย ปัญหาของ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ก็คือว่า วันนี้ คุณยังหา Neo-Conservatives ไม่ได้ ขณะที่ฝั่ง Liberal อย่างน้อยที่สุดนะ ก็มี “พรรคก้าวไกล” และผมเห็นพรรคเล็กๆ อีกพรรคหนึ่ง นั่นก็คือ “พรรคสามัญชน”

แต่ปัจจุบัน Conservatives ที่เราเห็น อย่าง “หมอวรงค์” อย่าง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งมันก็คือ Paradigm อนุรักษ์นิยมล้าหลัง มันก็เลยกลายเป็นความถดถอยของ “ปีกอนุรักษ์นิยม” ซึ่งผมคิดว่าอาจจะแย่กว่ากรณีของ “พรรคเพื่อไทย” ด้วยซ้ำไป

แต่ “พรรคเพื่อไทย” เนี่ย “อนุรักษ์นิยม” ถดถอยซะขนาดนี้ คุณยังเอาชนะทางการเมืองไม่ได้ ผมจึงคิดว่า มันก็แย่ด้วยกันทั้งคู่ แต่ด้วยความได้เปรียบทางสภาพพื้นฐานของบ้านเราก็ต้องถือว่า “ปีกอนุรักษ์นิยม” แย่กว่า “พรรคเพื่อไทย”

logoline