svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนรอยเกมการเมือง หักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงจัดตั้งรัฐบาล

28 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

4 เหตุการณ์ "เกมการเมือง" หักเหลี่ยมเฉือนคมใน "การจัดตั้งรัฐบาล” ที่ช่วงชิงอำนาจกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ด้วยการวางหมาก รวมถึงกลลวง ในระดับที่คาดไม่ถึง

“สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” ยังคงเป็นคำกล่าวที่ใช้ได้อยู่ สำหรับการช่วงชิงอำนาจการเมืองไทย เพราะผู้ชนะเลือกตั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะได้เป็น “รัฐบาล” เสมอไป หรือแม้กระทั่งกำลังเป็นรัฐบาลอยู่ ก็อาจเสียเหลี่ยมทางการเมือง ถูกดีดไปเป็นฝ่ายค้านได้ทุกเมื่อ โดย Nation Online ขอหยิบยกเหตุการณ์หักเหลี่ยมทางการเมืองไทยในระดับตำนาน มาเล่าสู่กันดังต่อไปนี้      

“พรรคเล็ก” สยบ “พรรคใหญ่” มี ส.ส. 18 คน ก็เป็นนายกฯ ได้

ปี 2518 ได้มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2517 โดย “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งในเวลานั้นมี “ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช” เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. มากที่สุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 72 คน จากจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 269 คน

แต่ “พรรคประชาธิปัตย์” ก็ไม่สามารถจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างมาก” ได้ เนื่องจากรวบรวมเสียง ส.ส. ได้เพียง 91 คน ไม่ถึง 135 คน ซึ่งเป็นตัวเลขกึ่งหนึ่งของสภา โดยพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลด้วยมีเพียง “พรรคเกษตรสังคม” ที่มีจำนวน ส.ส. 19 คน “พรรคประชาธิปัตย์” จึงจำต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2518

ซึ่งสาเหตุที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ไม่อาจ “ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก” ได้ ว่ากันว่ามีหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ การประกาศก่อนวันเลือกตั้งว่า จะไม่จับมือกับบางพรรค การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี ที่ไม่ลงตัว

หรือแม้กระทั่ง “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นน้องชายของ “ม.ร.ว. เสนีย์” ก็ได้ประกาศไว้ก่อนวันเลือกตั้งว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พรรคประชาธิปัตย์” อย่างเด็ดขาด เนื่องจากไม่พอใจที่ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงในช่วงการหาเสียง

และเมื่อ “พรรคประชาธิปัตย์” พยายามทาบทาม “พรรคกิจสังคม” ซึ่งมี ส.ส. 18 คน เข้าร่วมรัฐบาล “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” ก็ได้ตอบปฏิเสธ แต่ยืนยันว่าจะยกมือโหวตให้ ในวันแถลงนโยบาย  

ภาพจาก FB : สถาบันคึกฤทธิ์ Kukrit Institute

ซึ่งนั่นก็คือฉากหน้าทางการเมือง ส่วนฉากหลังในช่วงเวลานั้น แต่ละพรรคมีการเดินเกมกันหลายชั้น โดยอีกฝั่งหนึ่งได้มีการรวมตัวกันของพรรคการเมืองต่างๆ เป็น “กลุ่มสหพรรค” โดยมี “พรรคกิจสังคม” ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

และเมื่อถึงวันแถลงนโยบายของรัฐบาล แต่ละพรรคก็จัดหนักจัดเต็ม ถล่มนโยบายของ “พรรคประชาธิปัตย์” อย่างไม่มีชิ้นดี รวมถึง “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” ก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่ยั้ง ถึงกระนั้นก็ตามที ก็ยังทำตามสัญญาที่ให้ไว้ นั่นก็คือ ยอมโหวตให้ผ่าน

แต่เมื่อผลโหวตทั้งหมดออกมา ปรากฏว่า “พรรคประชาธิปัตย์” ถูกคว่ำกลางสภา ไม่ได้รับความไว้วางใจ 152 ต่อ 111 เสียง ทำให้ “ม.ร.ว.เสนีย์” ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำรัฐบาล

ต่อมาเมื่อมีการโหวตเลือกนายกฯ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” ก็ได้รับเสียงสนับสนุน 135 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาแบบเส้นยาแดงผ่านแปด ผงาดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย สร้างตำนานเล่าขาน 18 เสียงก็เป็นนายกฯ ได้มาจนถึงทุกวันนี้

ย้อนรอยเกมการเมือง หักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงจัดตั้งรัฐบาล

เกมการเมือง “งูเห่า ภาค 1”

อีกเกมหักเหลี่ยมทางการเมือง ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง เกิดขึ้นในปี 2540 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างย่อยยับ หลังจากเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก จนรัฐบาลในเวลานั้นที่มี “บิ๊กจิ๊ว - พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” เป็นนายกฯ ก็ได้ตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จาก 25 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ร่วงลงไปกว่า 50 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ หรือกู้เงินจากต่างประเทศ ทำให้ต้องปิดกิจการลง จนหลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว

เมื่อไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ “บิ๊กจิ๋ว” จึงประกาศลาออกจากตำแหน่ง นำไปสู่เหตุการณ์ชิงไหวชิงพริบ หักเหลี่ยมเฉือนคมในสภา จนเป็นที่มาของคำว่า “กลุ่มงูเห่า”

โดยหลังจาก “บิ๊กจิ๋ว” ลาออก “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” ก็ตกลงกันว่าจะโหวตให้ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขึ้นเป็นนายกฯ แต่ก็มีบางพรรคตัดสินใจไปเข้าร่วมกับ” พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้านในเวลานั้น แต่เมื่อนับแต้มกัน ก็ยังน้อยกว่า “กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิม”

ย้อนรอยเกมการเมือง หักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงจัดตั้งรัฐบาล

ต่อมา “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” เลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานั้น ก็ได้เดินเกมอย่างเหนือชั้น ทำให้ ส.ส.กลุ่มของ “วัฒนา อัศวเหม” ใน “พรรคประชากรไทย” ยอมแหกมติพรรค เข้าร่วมกับ “พรรคประชาธิปัตย์” โหวตให้ “ชวน หลีกภัย” ได้เป็นนายกฯ ในสมัยที่ 2 (สมัยที่ 1 ปี 2535 – 2538)

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความเจ็บแค้นให้กับ “สมัคร สุนทรเวช” หัวหน้าพรรคประชากรไทย เป็นอย่างมาก จึงเรียกกลุ่ม ส.ส. ที่ย้ายขั้วว่า “งูเห่า” โดยเปรียบเปรยว่า ตัวเองเป็นเหมือนชาวนาในนิทาน “ชาวนากับงูเห่า” ทำให้คำว่า “งูเห่า” ได้กลายเป็นศัพท์ทางการเมือง ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีมาจนถึงทุกวันนี้

ย้อนรอยเกมการเมือง หักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงจัดตั้งรัฐบาล

เกมการเมือง “งูเห่า ภาค 2”

หลังจากเหตุการณ์ “กลุ่มงูเห่า” ภาคแรก ต่อมาในปี 2551 ก็เกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน จึงถูกยกให้เป็น “งูเห่า ภาค 2”

โดยหลังการรัฐประหาร ปี 2549 “พรรคพลังประชาชน” ซึ่งกลายร่างมาจาก “พรรคไทยรักไทย” ที่ถูกยุบไป ก็ได้ ส.ส. ในการเลือกตั้งเกือบแลนด์สไลด์ จำนวน 233 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 500 คน แต่การบริหารประเทศก็เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก

โดยถูก “ม็อบเสื้อเหลือง” บุกยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลาหลายเดือน ต่อมาช่วงเดือนกันยายน ปี 2551 “สมัคร สุนทรเวช” หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และนายกฯ ในเวลานั้น ก็ถูก “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากการจัดรายการอาหาร ซึ่งเป็นอีกคดีการเมืองหนึ่ง ที่สร้างความฉงนให้กับคนทั้งประเทศจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งถึงแม้ “สมัคร” จะถูกสั่งให้พ้นตำแหน่ง แต่สภาก็สามารถโหวตให้เป็นนายกฯ อีกได้  แต่ว่ากันว่ามีการส่งสัญญาณจากคนแดนไกล ให้ “พรรคพลังประชาชน” โหวตให้กับ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยของ “ทักษิณ ชินวัตร” ขึ้นเป็นนายกฯ แทน

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความชอกช้ำให้กับ “สมัคร สุนทรเวช” เป็นอย่างมาก ระดับเลเวลความเจ็บปวดยิ่งกว่าถูกลูกพรรค “กลุ่มงูเห่า” หักหลังในปี 2540 อย่างเทียบกันไม่ติด

ย้อนรอยเกมการเมือง หักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนเหตุการณ์ที่ทำไปสู่เกมการเมืองที่เรียกว่า “งูเห่า ภาค 2” เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคม ปี 2551 หลังจาก “พรรคพลังประชาชน” ถูก “ศาลรัฐธรรมนูญ” สั่งยุบพรรค ทำให้ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการบริหารพรรค ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง หลุดจากตำแหน่งนายกฯ ในทันที

นอกจาก “สมชาย” แล้ว ก็ยังมี ส.ส. พรรคพลังประชาชน อีกจำนวนมาก ต้องยุติการทำหน้าที่ ส.ส. เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค ส่วนสมาชิกที่รอด ก็ไปเข้าสังกัด “พรรคเพื่อไทย” ที่ได้มีการจดทะเบียนเตรียมความพร้อมไว้แล้วก่อนหน้านี้

การถูกยุบพรรคส่งผลให้จำนวน ส.ส. ของ “พรรคเพื่อไทย” (กลายร่างมาจากพรรคพลังประชาชน) ลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก เปิดช่องให้ “พรรคประชาธิปัตย์” รวบรวมเสียง ส.ส. เพื่อตั้งรัฐบาลแข่ง   

โดยไฮไลต์สำคัญในช่วงเวลานั้นนั่นก็คือการเดินเกมของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ ที่สามารถดึง “เนวิน ชิดชอบ” อดีตลูกน้องสุดที่รักของ “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาเป็นพวกได้

ซึ่งถึงแม้ว่า “เนวิน” จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จากกรณียุบ “พรรคไทยรักไทย” แต่ก็ยังมีบารมีทางการเมืองในระดับสูงลิ่ว อีกทั้ง ส.ส.ในกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” จำนวนมาก ก็พร้อมดำเนินการต่างๆ ตามความต้องการของ "เนวิน"  

“เนวิน” จึงได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพลิกเกมการเมือง ที่ส่งผลให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชนะโหวตในสภา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2551

ย้อนรอยเกมการเมือง หักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงจัดตั้งรัฐบาล

การตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งปี 2562

ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะได้ ส.ส. มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างเจาะลึกก็จะเห็นว่า หาใช่เป็นการเดินเกมช่วงเวลาสั้นๆ แต่ได้มีการวางหมาก กลลวง กับดัก เพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบทอดอำนาจไว้ก่อนหน้านี้แล้ว มีกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีแผน 1 แผน 2 แผน 3 กระทั่งแผน 4

อาทิเช่น กฎกติกาต่างๆ ทั้งรูปแบบการเลือกตั้งบัตรใบเดียว การคำนวณ ส.ส. พึงมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ให้อภิสิทธิ์ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ และกำหนดให้ "ผู้ที่เป็นนายกฯ" ต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา หรือ 376 คนขึ้นไปนั่นเอง  

แม้จะเสียเปรียบเต็มประตู ด้วยกฎกติกาที่พุ่งเป้าสกัด “พรรคเพื่อไทย” แต่จากชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” มั่นใจว่า จะสามารถชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายได้อีก 

โดย “พรรคเพื่อไทย” ได้มีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับกติกา “เอื้อพรรคขนาดเล็ก” ที่ดีไซน์ขึ้นเพื่อไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงท่วมท้นเกินไปนัก ด้วยการก่อตั้ง “พรรคเครือข่าย” ขึ้นมา ซึ่งเมื่อมาทางเวย์นี้ ก็ส่งผลให้ “พรรคเพื่อไทย” ส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบทุกเขตไม่ได้ เพราะต้องเว้นพื้นที่ให้กับผู้สมัครของพรรคเครือข่ายด้วย

กระทั่งก่อนถึงวันเลือกตั้ง “ไทยรักษาชาติ” ซึ่งเป็น 1 ในพรรคเครือข่ายกำลังสำคัญที่ “พรรคเพื่อไทย” หมายมั่นปั้นมือให้เป็นอาวุธลับทางการเมือง ก็ถูก “ศาลรัฐธรรมนูญ” สั่งยุบพรรค ทำให้ในหลายพื้นที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเครือข่าย หรือตัวแทนของ “พรรคเพื่อไทย” เลย แต่กระนั้นก็ตาม “พรรคเพื่อไทย” ก็ยังได้ ส.ส. มากที่สุด โดยเป็น ส.ส.เขต ทั้งหมด ไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว จากพิษสูตรคำนวณ ส.ส. พึงมี นั่นเอง

ย้อนรอยเกมการเมือง หักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงจัดตั้งรัฐบาล

ถึงแม้ “พรรคเพื่อไทย” จะได้ ส.ส. มากที่สุด แต่ด้วยแต้มที่ชนะไม่ขาดเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ นำห่าง “พรรคพลังประชารัฐ” ไม่มากนัก ทั้งสองพรรคจึงเปิดศึกแย่งชิงการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญและโดดเด่น โชว์สกิลนักประสานขั้นเทพ ก็คือ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ผู้นำตัวจริงของ “พรรคพลังประชารัฐ” ในเวลานั้น  

สถานการณ์หลังการเลือกตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” มีความได้เปรียบ “พรรคเพื่อไทย” อยู่หลายขุม ด้วยกลไกต่างๆ ที่เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าแล้ว  โดยเฉพาะฐานเสียง ส.ว. 250 ที่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ ทำให้มีแต้มต่อในการโน้มน้าวพรรคการเมืองต่างๆ ให้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับ “พลังประชารัฐ”

กระทั่งในที่สุด “พรรคพลังประชารัฐ” ก็สามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้เกิน 250 แบบปริ่มน้ำ และก็เป็นไปตามคาด ส.ว. ทั้งหมด (ยกเว้นประธาน ส.ว. ตามมารยาทการเมือง) ก็ได้เทคะแนนให้ “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก้าวสู่ขึ้นอำนาจอีกครั้ง ในฐานะนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 สมัยที่ 2  

อ้างอิง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

ย้อนความทรงจำสีจางๆ การเมืองไทย ในยุค Y2K

กลุ่มงูเห่า

คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 57

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562

logoline