svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ยังมีโอกาสร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ หลังการเลือกตั้ง

02 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความร้อนแรงของ “พรรคก้าวไกล” จะส่งผลกระทบกับ “พรรคเพื่อไทย” อย่างไร ? และยังมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ 2 พรรคนี้ จะจับมือกันตั้งรัฐบาล ?

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเท่าไหร่ กระแส “พรรคก้าวไกล” ยิ่งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับพรรคต่างขั้ว ทั้ง “พลังประชารัฐ” และ “รวมไทยสร้างชาติ” ในทางตรงกันข้ามคาดว่าทั้ง 2 พรรค อาจรู้สึกพึงพอใจด้วยซ้ำ

แต่พรรคที่ไม่แฮปปี้สุดๆ ก็คือ “เพื่อไทย” เพราะยิ่ง “ก้าวไกล” ได้ ส.ส. มากเท่าไหร่ “พรรคเพื่อไทย” ก็ยิ่งได้ ส.ส. น้อยลง ส่งกระทบกับแผนแลนด์สไลด์ที่อาจสะดุด ทำให้ “เพื่อไทย” ไปไม่ถึงฝั่งฝัน อันเนื่องมาจากทั้ง 2 พรรคมีฐานเสียงเดียวกันนั่นเอง

ทำไมกระแส “ก้าวไกล” ถึงมาแรงแซงโค้ง

1. ความชัดเจนของพรรคก้าวไกล

ย้อนกลับไปก่อนวันเลือกตั้ง “พรรคก้าวไกล” ได้มีการประกาศจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน ด้วยการยืนยันว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร หรือ “พรรคทหารจำแลง” ซึ่งก็คือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ของ “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ของ “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

ยิ่งมีข่าวสะบัดเรื่องดีลลับ การจับมือตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคพลังประชารัฐ” แม้ก่อนหน้านี้ “พรรคเพื่อไทย” จะปฏิเสธเรื่องดีลลับดังกล่าว แต่ก็ตอบไม่ชัดในประเด็นที่ว่า จะจับมือร่วมรัฐบาลกับ “พรรคพลังประชารัฐ” หรือไม่

เมื่อถูกจี้ถามหนักๆ เข้า ทางแกนนำพรรคอย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” ก็ได้มีการแถลงข่าวด้วยท่าทีขึงขัง ว่า “พรรคเพื่อไทย” ยังไม่ได้จับมือกับพรรคใดล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง เพราะตั้งเป้าแลนด์สไลด์เท่านั้น แต่เมื่อขอคำตอบชัดๆ ที่ยืนยันว่า จะไม่จับมือกับ “พลังประชารัฐ” อย่างแน่นอน 100 % เขาก็โยนภาระให้กับประชาชน ที่ต้องเลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์

“เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ยังมีโอกาสร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ ?

ต่อมาเมื่อกระแสของ “พรรคก้าวไกล” ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้าย ทาง “พรรคเพื่อไทย” ก็ได้มีการปรับเกมกะทันหัน โดยแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทั้ง “อุ๊งอิ๊งค์ - แพทองธาร ชินวัตร” กับ “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ได้ประกาศบนเวทีปราศรัย ยืนยันไม่จับมือตั้งรัฐบาลกับ “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างแน่นอน แต่ก็ถูกมองว่า เป็นการกระทำด้วยความจำยอม เพราะถูกสังคมกดดันอย่างหนักหน่วง และเพื่อหยุดความร้อนแรงของ “พรรคก้าวไกล” นั่นเอง

2. ความอึมครึมของ “พรรคเพื่อไทย”

ไม่เพียงแต่ในประเด็นความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น แต่ “พรรคเพื่อไทย” ได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคมในหลายๆ เรื่อง จาก “ความไม่ชัดเจน” หลายๆ ครั้งเข้า ก็ค่อยๆ กลายสภาพเป็น “ความไม่จริงใจ”  

อย่างล่าสุดก็คือ การที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ออกมาโพสต์แสดงความดีใจหลังจากได้หลานคนที่ 7 เมื่อวันแรงงานที่ผ่านมา โดย “ทักษิณ” ระบุว่า จะกลับมาเลี้ยงหลานในเดือนกรกฎาคมนี้ แม้ที่ผ่านมาเขาจะพูดถึงการกลับเมืองไทยอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่เฉลยสักที ว่าจะกลับยังไง จะยินยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ? หรือใช้ช่องทางพิเศษ อย่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่เคยทำให้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” พังมาแล้ว

และเอาเข้าจริงๆ แล้ว ประเด็นเรื่องทักษิณจะกลับบ้าน หรือไม่ ไม่ได้ส่งผลบวกให้กับ "พรรคเพื่อไทย" เลย หนักไปทางลบเสียด้วยซ้ำ นอกจากจะประกาศออกมาอย่างชัดเจนเลยว่า จะกลับมาอย่างไร 

และก็มีหลายๆ กรณีที่การแสดงออกของ “พรรคเพื่อไทย” ทำให้สังคมรู้สึกว่าให้ความสำคัญกับ “เกมการเมือง” มากกว่า “ศรัทธาของประชาชน”

“เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ยังมีโอกาสร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ ?

ยกตัวอย่างเช่น การที่แคนดิเดตของพรรค ทั้ง “อุ๊งอิ๊งค์” และ “เศรษฐา” ไม่ลงสมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดไว้ หรือหากตีความว่า การเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก็คือการยึดโยงกับประชาชนในการเลือกตั้งแล้ว

แต่อย่าลืมว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว “นพ.ชลน่าน ชลแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวระดับเล่นใหญ่ไฟกระพริบ ยื่นเรื่องขอแก้รัฐธรรมนูญ ต้องกำหนดให้นายกฯ เป็น ส.ส. แต่เมื่อการเลือกตั้งมาถึง “พรรคเพื่อไทย” กลับเลือกกระทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองเรียกร้อง

แม้ประเด็นดังกล่าวจะไม่ได้ถูกขยายผลจนจุดติดลุกลามไปไกล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แฟนคลับของพรรคจำนวนมากรู้สึกได้ถึงความไม่จริงใจของ “พรรคเพื่อไทย” ที่อาจทำทุกอย่างได้เพื่อผลประโยชน์ของพรรค โดยไม่สน “หัวจิตหัวใจของประชาชน”

“เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ยังมีโอกาสร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ ?

3. การพลิกจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง ของ “พรรคก้าวไกล”

แม้ในรัฐบาลที่ผ่านมา “พรรคก้าวไกล” จะได้รับการประเมินว่า ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างดีเยี่ยม แต่ก็มักถูกพรรคอื่นสบประมาทว่า ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ ไม่มีประสบการณ์ในการเป็นรัฐบาล

“ประสบการณ์” จึงกลายเป็นจุดอ่อนของ “พรรคก้าวไกล” ที่แม้หลายคนที่ชื่นชอบในแนวทางของพรรค แต่ก็ไม่มั่นใจว่า ถ้า “พรรคก้าวไกล” ได้เป็นรัฐบาล จะทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมเหมือนกับตอนที่เป็นฝ่ายค้านหรือไม่

แต่ “พรรคก้าวไกล” ก็จับประเด็นนี้มาพลิกจาก “จุดอ่อน” ให้กลายเป็น “จุดแข็ง” ได้อย่างเหนือชั้น ยกตัวอย่างการขึ้นเวทีดีเบต ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้ช่วยหาเสียงของพรรค ที่ถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องประสบการณ์

“ธนาธร” จึงตั้งคำถามกลับว่า ตอนนี้ประเทศมีปัญหาเรื้อรังมากมายที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งหลายคนบนเวทีดีเบตนี้ ก็ล้วนมีประสบการณ์ในการเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาก็แก้ปัญหาไม่ได้ มีเพียง “พรรคก้าวไกล” ที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้น และถ้าหากได้เป็นรัฐบาล “พรรคก้าวไกล” อาจทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมเหมือนตอนเป็นฝ่ายค้าน แก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้

หรือในกรณีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับ 3 บก. ของเครือเนชั่น ว่า ในโลกยุคใหม่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ อย่าง โควิด-19 หรือในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทุกคนไม่เคยมีประสบการณ์ด้วยกันทั้งสิ้น จึงต้องมาเรียนรู้กันใหม่เหมือนๆ กันทั้งหมด  

ซึ่งในความหมายก็คือ ตรงนี้อาจะเป็นจุดแข็งของ “พรรคก้าวไกล” ด้วยซ้ำ เพราะมี “คนรุ่นใหม่” ที่เข้าใจโลกยุคใหม่ รวมถึงวิถีชีวิตแบบใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก

“เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ยังมีโอกาสร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ ?

ประเมินแนวโน้มหลังการเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีการประเมินตั้งแต่ช่วงต้นๆ ว่า พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด คือ “พรรคเพื่อไทย” แต่ไม่แลนด์สไลด์ ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 220 คน

ในขณะที่ “พรรคก้าวไกล” (พรรคอนาคตใหม่) ที่การเลือกตั้งครั้งก่อนได้ ส.ส. จำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากอานิสงส์ของบัตรเลือกตั้งใบเดียว และการคำนวณ ส.ส.พึงมี โดยระบบบัตรใบเดียว จะนำคะแนนการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ว่าจะสอบได้หรือสอบตกในเขตต่างๆ มาคำนวณหาจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค ทำให้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคก้าวไกล  (พรรคอนาคตใหม่) ได้ ส.ส. เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รวมกันสูงถึง 81 คน เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยนระบบเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และใช้สูตรคำนวณหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 ในช่วงต้นๆ ทำให้มีการประเมินว่า ด้วยระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป และความร้อนแรงของ “อุ๊งอิ๊งค์” จึงเป็นเรื่องยากที่ “พรรคก้าวไกล” จะได้ ส.ส. เป็นจำนวนมากเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อน

แต่นานวันเข้า กระแสของ “พรรคก้าวไกล” ก็ทวีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้าย รวมถึงความฮอตของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จนทำให้ “พรรคเพื่อไทย” นิ่งเฉยไม่ได้

และตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ยิ่ง “พรรคก้าวไกล” ได้ ส.ส. มากขึ้นเท่าไหร่ “พรรคเพื่อไทย” ก็จะยิ่งได้ ส.ส. น้อยลงไปเท่านั้น อันเนื่องมาจากมีฐานเสียงเดียวกัน แต่ถึงกระนั่นก็ตามที เมื่อประเมินแนวโน้มแบบองค์รวม ทั้ง ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยังมีความเป็นไปได้ ที่ “พรรคเพื่อไทย” จะได้ ส.ส. มากที่สุด แต่จำนวนอาจลดน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อ “อำนาจต่อรอง” ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของ “พรรคเพื่อไทย”

โดยยุทธ์ศาสตร์ แผน 1 ของ “พรรคเพื่อไทย” ก็คือ ต้องได้ ส.ส. แลนด์สไลด์ 250 คนขึ้นไป เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แต่สมมติว่า “พรรคเพื่อไทย” ได้ตัวเลข ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ อยู่ที่ประมาณ 200 คน ถ้าจะเป็นรัฐบาล ก็ต้องมองข้ามช็อตไปถึงการโหวตเลือกนายกฯ ที่ต้องได้เสียง ส.ส. + ส.ว. 376 คนขึ้นไป

และสมมติต่อไปว่า หาก “พรรคเพื่อไทย” ยึดสัญญาประชาคม คือจะจับมือกับพรรคขั้วเดียวกันก่อน (อาจมีพรรคตัวแปรมาเพิ่ม) ไม่จับมือ “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งลำพังคะแนนเสียงของ “เพื่อไทย” บวกกับ “ก้าวไกล” รวมถึง “พรรคเล็ก” ในขั้วฝั่งประชาธิปไตย ยังไงๆ ก็เกิน 250 เสียง

แต่ปัญหามันอยู่ที่ช็อตการเลือกนายกฯ ที่ต้องได้คะแนนเกิน 376 เสียง โดยไฮไลต์สำคัญอยู่ที่เสียงของ ส.ว. ทั้ง 250 คน ซึ่งถ้าประเมินกันจากพื้นฐานความเป็นจริงที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องยากที่จะมี ส.ว. จำนวนมากจะเทคะแนนให้กับแคนดิเดตนายกฯ ของฝั่ง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคก้าวไกล” จนได้คะแนนรวมเกิน 376 เสียง

“เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ยังมีโอกาสร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ ?

แต่ถ้าเป็นกรณี “พรรคเพื่อไทย” ร่วมกับ “พลังประชารัฐ” ที่ “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” มีคอนเนคชั่นกับ ส.ว. จำนวนไม่น้อย โดยไม่มี “พรรคก้าวไกล” ก็เป็นหนทางเดียวที่ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” มีโอกาสได้เป็นรัฐบาล

แต่ด้วยอำนาจต่อรองที่น้อยลง เพราะไม่แลนด์สไลด์ ก็มีแนวโน้มว่า หากเลือกโมเดล “เพื่อไทย + พลังประชารัฐ” อาจต้องยกตำแหน่งนายกฯ ให้กับ "บิ๊กป้อม"

ข้างต้นก็เป็นเพียงฉากทัศน์ต่างๆ เท่านั้น ซึ่งจะว่าไปแล้ว หาก “พรรคเพื่อไทย” เลือกแนวทางบวกกับ “พรรคก้าวไกล” ยังไง ๆ ก็เกิน 250 เสียง (บวกพรรคเล็ก พรรคตัวแปร) สามารถเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ และหากยึดโมเดลนี้ ถ้า "พรรคเพื่อไทย" ได้ ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้ง ก็มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งรัฐบาล

แล้วค่อยไปวัดกันอีกที ตอนโหวตเลือกนายกฯ พิสูจน์ให้คนทั้งประเทศได้เห็นอย่างชัดเจนกันจะๆ อีกครั้งว่า “ส.ว.” มีไว้ทำไม ?

logoline