svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เครือเนชั่น "วิเคราะห์เลือกตั้ง 66" ภาคใต้ 3 จ. ประชาธิปัตย์ จะกลับมาผงาด?

01 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เครือเนชั่น "วิเคราะห์เลือกตั้ง 66" กระบี่ ชุมพร และ ตรัง ประชาธิปัตย์ จะกลับมาผงาดได้หรือไม่ วัดบารมี"นายหัวชวน" จะกู้คืนยกจังหวัด? เชิญติดตาม

ในการเลือกตั้งปี 2562 ภาคใต้มี 14 จังหวัด ส.ส. เขต มีส.ส.รวม 50 คน พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดคือ ประชาธิปัตย์ 22 คน อันดับ 2 พลังประชารัฐ 13 คน อันดับ 3 ภูมิใจไทย 8 คน อันดับ 4 ประชาชาติ 6 คน อันดับ 5 รวมพลังประชาชาติ 1 คน

สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 ภาคใต้ มีจำนวน ส.ส. เขตเพิ่ม 10 เขต รวมส.ส. 60 คน แบ่งออกเป็น 60 เขตเลือกตั้ง นับถอยหลังเลือกตั้ง ส.ส. บรรดาพรรคการเมืองเก่า ใหม่ ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ส่งผู้สมัครพากันหาเสียงกันอย่างเข้มข้น 

กองบรรณาธิการเครือเนชั่นกว่า 10 สื่อ ได้ทำ “เนชั่นวิเคราะห์” โดยลงสนามเลือกตั้ง เจาะลึกรายจังหวัด สำรวจประเมินโค้งแรกพื้นที่ภาคใต้ ใน 3 จังหวัด กระบี่ ชุมพร ตรัง โดย

     กระบี่ มี 3 เขตเลือกตั้ง

จังหวัด “กระบี่” เดิมเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นขวัญใจคนใต้ ในอดีต ส.ส. กระบี่ ที่ผู้คนคุ้นชื่อ รู้จักดี “อาคม เอ่งฉ้วน” และ “พิเชษฐ์  พันธุ์วิชาติกุล” แต่ในการเลือกตั้งในปี 2562 มีแค่ 2 เขตเลือกตั้ง ตำแหน่ง ส.ส. ทั้ง 2 เขต ตกเป็นของตระกูล “เกี่ยวข้อง” คือ “สาคร เกี่ยวข้อง” และ “สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง” ทั้งคู่แม้จะนามสกุลเดียวกัน แต่อยู่กันคนละพรรค “สาคร” อยู่พรรคประชาธิปัตย์ ส่วน “สฤษฏ์พงษ์” อยู่พรรคภูมิใจไทย

สมรภูมิเลือกตั้งปี 2566 แม้จะเพิ่มเป็น 3 เขตเลือกตั้ง ยังคงเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรค เจ้าของพื้นที่เดิมแน่นอนคือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ส่วนที่เพิ่มใหม่ในเขต 3 มี 4 ตระกูลใหญ่  ประกอบด้วยตระกูล “ภูเก้าล้วน” ตระกูล “กิตติธรกุล” ตระกูล “เกี่ยวข้อง” และตระกูลพันธ์ “พันธุ์วิชาติกุล” ส่วนตระกูล “เอ่งฉ้วน” ตระกูลการเมืองดั้งเดิม เริ่มค่อยๆหายออกจากระบบการเมืองระดับชาติ หลัง “อาคม” เสียชีวิต เมื่อปี 2563

เขตเลือกตั้งที่ 1 ถือเป็นการช่วงชิงกันในรุ่นลูก “กิตติ กิตติธรกุล” จากพรรคภูมิใจไทย คนหนุ่มรุ่นใหม่ หลานชาย “สมศักดิ์ กิตติธรกุล” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แข่งกับ “ธนวัช ภูเก้าล้วน” พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชาย “กีระติศักดิ์ ภูเก้าล้วน” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่หลายสมัย ในช่วงแรก “กิตติ” จากพรรคภูมิใจไทย ยังเหนือกว่า “ธนวัช” จากพรรคประชาธิปัตย์อยู่พอสมควร

เขตเลือกตั้งที่ 2 “สาคร เกี่ยวข้อง” พรรคประชาธิปัตย์ ปะทะกับ “ถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ” พรรคภูมิใจไทย อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่หลายสมัยจากกลุ่มรักษ์กระบี่ ของ “สมศักดิ์ กิตติธรกุล” นายก อบจ.กระบี่ แต่จากการการประเมินรอบแรก “สาคร” จากประชาธิปัตย์ มาแรงกว่า “ถิรเดช” จากภูมิใจไทย

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 3 เป็นเขตที่เพิ่มมาใหม่ “สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง” พรรคภูมิใจไทย สู้ศึกกับ “พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล” พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการยึดพื้นที่คืน เนื่องจากที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเจ้าของพื้นที่มายาวนาน ถือเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี แต่จากการประเมินยกแรก “สฤษฏ์พงษ์” จากภูมิใจไทย เหนือกว่าในฐานะแชมป์เก่า

     ชุมพร มี 3 เขตเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ จังหวัด “ชุมพร” ยังคง 3 เขตเลือกตั้งเช่นเดิม แน่นอนว่า ชุมพรเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด จะมีเปลี่ยนพรรคบ้างก็แค่การเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดย “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดย “สุพล จุลใส” คว่ำ “ธีระชาติ ปางวิรุฬห์” จากพรรคประชาธิปัตย์ไปแบบขาดลอย

เลือกตั้งครั้งนี้ “ตระกูลจุลใส” บ้านใหญ่ของชุมพร ที่นำโดย “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส ที่ย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 3 เขตเลือกตั้งเป็นครั้งแรก หลังจากออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ จากที่เคยรักษาพื้นที่ให้ประชาธิปัตย์ ด้วยการชนะพรรคพลังประชารัฐที่มาแรงมากในปี 2562 ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ก่อนถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ก็ยังสนับสนุน “อิสรพงษ์ มากอำไพ” น้องภรรยา จากพรรคประชาธิปีตย์ ให้ชนะในการเลือกตั้งซ่อม

เขตเลือกตั้งที่ 1 “วิชัย สุดสวาทดิ์” พรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตส.จ.เขตสวี มือขวาของ “ชุมพล จุลใส” ลงสมัครเป็นตัวแทนลูกหมีที่ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง โดยลูกหมีหมายมั่นปั้นมือ ที่จะช่วย “วิชัย” ให้ชิงเก้าอี้ ส.ส. เขตนี้ คืนจาก “อิสรพงษ์ มากอำไพ” พรรคประชาธิปัตย์ น้องเมีย ที่ปฏิเสธย้ายไปสังกัดรวมไทยสร้างชาติ ตามที่พี่ภรรยาชักชวน ทั้งคู่เลยต้องเปิดศึกสายเลือดกันในเขตนี้ ยกแรก “อิสรพงษ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ มีภาษีเหนือกว่า “วิชัย” เล็กน้อย คู่นี้ต้องไปวัดกระแส และกระสุนกันอีกรอบในช่วงโค้งสุดทายของการหาเสียง

เขตเลือกตั้งที่ 2 “สันต์ แซ่ตั้ง” รวมไทยสร้างชาติ อดีตรองนายกอบจ.ชุมพรและหนึ่งในคนสนิทของ “ ลูกหมี” ชุมพล จุลใส สนามนี้เจอศึกหนัก จากตระกูล “อ่อนละมัย” บ้านใหญ่อีกตระกูลของชุมพร เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่ง “สราวุธ อ่อนละมัย” พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายของอดีต ส.ส. ชุมพรหลายสมัย “ศิริศักดิ์ อ่อนละมัย” สภากาแฟในพื้นที่ ยังให้เครดิตตระกูล “อ่อนละมัย” เหนือกว่า เพราะไม่ใช่พื้นที่หลักของตระกูล “จุลใส” แต่ต้องรอดูโค้งสุดท้าย กระแส “ลุงตู่” จะช่วยได้แค่ไหน

เขตเลือกตั้งที่ 3 “สุพล จุลใส” หรือ “ลูกช้าง” ที่เคยสวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย ชนะการเลือกตั้งในปี 2562 ปีนี้ย้ายตาม “ลูกหมี” มาสังกัดรวมไทยสร้างชาติ เจอกับ “มีศักดิ์ ภักดีคง” พรรคประชาธิปัตย์ อดีตอธิบดีกรมประมง เป็นผู้ท้าชิง ประเมินรอบแรก “มีศักดิ์” ถือว่าใหม่มากสำหรับการเมืองระดับชาติ แม้จะสวมเสื้อประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะ “ลูกช้าง” ได้

     ตรัง มี 4 เขตเลือกตั้ง

จังหวัด “ตรัง” ในวันที่บารมีของนายหัวชวน “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยเริ่มแผ่ว วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ถูกท้าทายทั้งพลพรรคค่ายสีน้ำเงิน และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการเลือกตั้งในปี 2562 ประทับตราส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 1 พื้นที่หลักของบ้าน “นายหัวชวน” การเลือกตั้งปี 2566 “นายหัวชวน” จะลบรอยประทับตราได้หรือไม่ชวนติดตาม

เขตเลือกตั้งที่ 1 “กิตติพงศ์  ผลประยูร” พรรคพลังประชารัฐ หน้าใหม่แต่ทำงานลงพื้นที่หาเสียงมานาน โดยได้รับการสนับสนุนจาก “นิพันธ์ ศิริธร” อดีต ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ แชมป์เก่าที่ครั้งนี้ขยับขึ้นไปสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ต้องเจอกับ “หมอตุล” นพ.ตุลกานต์  มักคุ้น จากพรรคประชาธิปัตย์ได้ เพราะฐานเสียงพรรคและเดิมพันของ”นายหัวชวน” ยังขลังพอ ให้มีคะแนนนำจนเข้าป้ายได้ แม้ “หมอตุล” ยังไม่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่เท่าที่ควรก็ตาม

เขตเลือกตั้งที่ 2 “สาทิตย์ วงษ์หนองเตย” พรรคประชาธิปัตย์  ส.ส.หลายสมัย ทำงานในพื้นที่ต่อเนื่อง  ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือ “ทวี สุระบาล” อดีตส.ส.รุ่นพี่ของ “สาทิตย์” จากพรรคประชาธิปัตย์ รอบนี้ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แม้ “ทวี” จะพกพาความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า แต่ประเมินรอบแรก “สาทิตย์” ยังได้เปรียบ เพราะมีทีมงานน้องชาย คือ “สาวุธ วงษ์หนองเตย” คอยประคองฐานคะแนนเสียง และมวลชนในพื้นที่มาโดยตลอด มวลชนบางกลุ่มถึงกับบอกว่า “แม้ไม่ชอบสาทิตย์ แต่ก็ยังเกรงใจสาวุธ”

เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง “สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ” เป็นเขตเดียวของ จ.ตรัง ที่เชื่อว่าชนะคู่แข่งขาดลอยคะแนนน่าจะมาเป็นอันดับ 1 ของ จ.ตรัง  “สุณัฐชา” หรือชื่อจีนนามว่า “ท่ามเอ้ง”  นอกจากจะเป็นลูกสาวและรับไม้ต่อจาก “โกหนอ” สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ที่ทำงานการเมืองในพื้นที่มายาวนานต่อเนื่อง เหนียวแน่นในพื้นที่ และโดยบุคลิกของ “สุณัฐชา” ยังเป็นที่ยอมรับจากชาวตรังว่า เป็นคนอัธยาศัยดี อ่อนน้อม และเป็นสัญญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่อีกด้วย “อำนวย นวลทอง” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อนพ่อ คงจะทำอะไรไม่ได้แม้กระแสลุงตู่ในภาคใต้จะแรง

เขตเลือกตั้งที่ 4 ทางพรรคประชาธิปัตย์ทำโพลสำรวจจากคนในพื้นที่เขตนี้  ผลปรากฏว่า “กาญจน์ ตั้งปอง” สมาชิกสภาเทศบาลต.กันตัง ได้รับคะแนนนิยมมากกว่า “สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” อดีต ส.ส. และเป็นผู้อาวุโสในพรรค พรรคจึงมีมติส่ง “กาญจน์” เป็นตัวแทนพรรค จนเป็นเหตุให้ “สมบูรณ์” ลาออกและไปลงสมัครนามพรรครวมไทยสร้างชาติ

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเปิดศึกสายเลือดในพรรค ระหว่าง “กาญจน์” กับ “สมบูรณ์” ส่งผลกระทบต่อฐานเสียงของทั้งคู่ที่เป็นฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ “ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์” หรือ “เอก” จากพรรคภูมิใจไทย อดีตผู้สมัครพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562  สอดแทรกเข้ามาเป็นตาอยู่คว้าเก้าอี้ ส.ส. เขตนี้ไปครอง

แต่ในการประเมินโค้งแรก “กาญจน์” จากประชาธิปัตย์ ยังเหนือกว่า “ดิษฐ์ธนิน” จากภูมิใจไทย

logoline