svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“พรรค ส.ว. 250” มาจากการแต่งตั้ง แต่โหวตเลือกนายกฯ ได้

24 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำความรู้จัก “พรรค ส.ว.” วุฒิสภาชุดที่ 12 ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็น ส.ว.ชุดแรกและชุดเดียวที่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้

หากพูดถึง 77 ปี ของ “วุฒิสภา” หรือ “ส.ว.” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ต้องบอกว่า ส.ว. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 12) นี่แหละที่เป็น ส.ว. อีกชุดหนึ่งที่มีอำนาจแบบสุดพีค โดยเฉพาะอำนาจพิเศษในบทเฉพาะกาล 5 ปี ตาม “รัฐธรรมนูญปี 2560” ที่ให้อภิสิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกฯ ทั้งๆ ที่เป็น ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง

ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าขัดหลักการขั้นพื้นฐานประชาธิปไตย ในระดับย้อนแย้งสุดกู่ แต่การแก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องได้รับมติเห็นชอบจาก ส.ว. ถึง 1 ใน 3 นั่นก็คือ 84 คนขี้นไป

ที่ผ่านมาจึงมีเสียงเรียกร้องดังกระหึ่ม ทั้งวิงวอน ส.ว. ขอให้ร่วมมือในการแก้รัฐธรรมนูญ กดดันให้ปิดสวิตช์ตัวเอง เพื่อความสง่างาม แต่ก็ไม่เป็นผล จนพวกเขาอยู่ในตำแหน่งใกล้ครบวาระ และจะมีโอกาสได้เลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่กำลังจะถึงนี้

“พรรค ส.ว. 250” มาจากการแต่งตั้ง แต่โหวตเลือกนายกฯ ได้

การโหวตเลือกนายกฯ

การโหวตเลือกนายกฯ ได้กำหนดว่า ผู้ที่จะได้ตำแหน่งดังกล่าว จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (ส.ส. + ส.ว. = 750 คน) นั่นก็คือ 376 คนขึ้นไป ทำให้เหล่า ส.ว.ชุดปัจจุบัน ได้รับการเปรียบเปรยว่า เป็น “พรรคตัวแปรที่ทรงพลานุภาพยิ่งนัก”

ทั้งๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีคะแนนเลือกนายกฯ ถึง 250 เสียง ซึ่งหากเทไปทางฝั่งใด ฝั่งนั้นถึงแม้จะรวบรวมจำนวนเสียง ส.ส. ได้แค่หลักร้อยต้นๆ ก็อาจได้เป็นรัฐบาล แบบประชาชนงงงันกันทั้งประเทศ

ส่วนที่อ้างว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้ ยังไงๆ พรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องรวบรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกิน 250 เสียงก่อน เพราะหากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะไม่สามารถบริหารประเทศได้” นั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ ก็ได้มีการเปิดช่องทางกรณีฉุกเฉินไว้แล้ว นั่นก็คือ ส.ส. มีอิสระในการโหวต สามารถโหวตสวนมติพรรคได้ หากถูกพรรคขับออก ก็ยังไม่สูญสิ้นสถานภาพ เพียงแต่ต้องหาพรรคใหม่สังกัดให้ทัน ตามเวลาที่กำหนด

ดังนั้นในกรณีที่บางพรรคอยากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เข้าตาจน เพราะรวบรวมเสียง ส.ส. ได้ไม่มาก หากสมมตินะ สมมติว่า ถ้า “แคนนิเดตฯ ของพรรคได้เสียงรับรองจากทั้ง 2 สภา เกิน 376 เสียง ก็มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ไปก่อน แล้วค่อยไปกวาดเสียง ส.ส. จากพรรคต่างๆ ในการโหวตญัตติที่สำคัญ ซึ่งหากมาทางเวย์นี้ ในวันนั้นก็จะมี “งูเห่า” ยั้วเยี้ยเต็มรัฐสภาไทยอย่างแน่นอน !

“พรรค ส.ว. 250” มาจากการแต่งตั้ง แต่โหวตเลือกนายกฯ ได้

ที่มาของอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ประชาชนเห็นด้วยจริงหรือ ?

ที่ผ่านมาเมื่อถูกตั้งคำถามด้านความชอบธรรม ในการให้อภิสิทธิ์ “ส.ว. แต่งตั้ง” โหวตเลือกนายกฯ ผู้มีอำนาจก็มักอ้างว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ได้ผ่านการลงประชามติแล้ว

แต่อันที่จริง ประเด็นการให้ “ส.ว. แต่งตั้ง” มีสิทธิเลือกนายกฯ ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ใน “ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560” ที่ให้ประชาชนลงประชามติในปี 2559 แต่เป็นคำถามพ่วงในบัตรออกเสียงประชามติ ที่ระบุว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

และคำถามที่กำกวมข้างต้นนี่แหละ ได้กลายมาเป็นอำนาจของ “ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน” ที่สามารถการโหวตเลือกนายกฯ ได้ใน “รัฐธรรมนูญปี 2560” หรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  

“พรรค ส.ว. 250” มาจากการแต่งตั้ง แต่โหวตเลือกนายกฯ ได้

ส.ว. 250 คน มาจาก “กลุ่มอำนาจ” ที่ยังมีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 ?  

“ส.ว.” ชุดที่ 12 หรือชุดปัจจุบัน ได้เริ่มทำหน้าที่ เมื่อปี 2562 จะหมดวาระลงในปี 2567 แบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่

ส่วนที่ 1 เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน

ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม , ผู้บัญชาการทหารสูงสุด , ผู้บัญชาการทหารบก , ผู้บัญชาการทหารอากาศ , ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ส่วนที่ 2 กลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ 50 คน

คัดเลือกในกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งถูกกำหนดไว้ 10 กลุ่ม จนได้รายชื่อ 200 คน แล้วส่งให้ “คสช.” ซึ่งมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้าคณะ และมี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นรองหัวหน้าคณะ ทำการคัดเลือกให้เหลือ 50 คน

ส่วนที่ 3 สรรหาโดย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ก่อนส่งให้ คสช. เคาะ 194 คน

คสช. ทำการแต่งตั้ง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ทำหน้าที่สรรหาบุคคล 400 คน ก่อนส่งรายชื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากที่มาของ ส.ว. 250 คน ก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงกับ คสช. อย่างชัดเจน โดยทั้ง “หัวหน้า คสช.” นั่นก็คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กับ “รองหัวหน้า คสช.” นั่นก็คือ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ก็ยังคงมีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกตั้งปี 2566 ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งผู้เขียนขอทิ้งท้ายบทความ ด้วยประวัติศาตร์ฉบับย่อของ ส.ว.ไทยทั้ง 12 ชุด ดังต่อไปนี้

ส.ว. ชุดที่ 1 พฤฒสภา (ปี 2489 – 2490) มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 2 (ปี 2490 – 2494) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 3 (ปี 2511 – 2514) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 4 (ปี 2518 – 2519) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 5 (ปี 2522 – 2534) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ได้ (บทเฉพาะกาล)

ส.ว. ชุดที่ 6 (ปี 2535 – 2539) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 7 (ปี 2539 – 2543) มาจากการแต่งตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 8 (ปี 2543 – 2549) มาจากการเลือกตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 9 (ปี 2549) มาจากเลือกตั้ง โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 10 (ปี 2551 -  2557) มาจากการเลือกตั้งและสรรหา โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 11 (ปี 2557) มาจากการเลือกตั้งและสรรหา โหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้

ส.ว. ชุดที่ 12 (2562 - ปัจจุบัน) มาจากการแต่งตั้ง... แต่โหวตเลือกนายกฯ ได้ (บทเฉพาะกาล)

อ้างอิง : Wikipedia วุฒิสภาไทย ชุดที่ 1 – 12

logoline