svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลือกตั้ง66: เสียง"พรรคเล็ก" ส่งถึง"กกต." ความเท่าเทียม มีอยู่จริงหรือไม่

20 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลือกตั้ง 66" ไม่เพียงกติกาคำนวณ ส.ส. ที่เปลี่ยนไปจากปี 62 ทำให้ พรรคการเมืองขนาดเล็กอาจสูญพันธุ์ หรือ แทบเป็นเรื่องยากในการฝ่าด่านเข้าสภา แต่ยากกว่านั้นคือเสียง"ระคนทุกข์"ถึง"ความไม่เท่าเทียม"

อาจกล่าวได้ว่า "การเลือกตั้ง 66" ถือเป็น รูปแบบพัฒนาการประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ เป็นประชาธิปไตยที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียม 

ทว่า บนสนามเลือกตั้งผ่าน "พรรคการเมือง" ส่งผู้สมัครชิงชัย พบว่า ความเท่าเทียมมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงแค่คำสวยหรูถูกกดทับไว้ใต้พานรัฐธรรมนูญ

"นพ.ระวี มาศฉมาดล"  หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ส่งเสียงสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองขนาดเล็กในสนาม"เลือกตั้ง 66" พร้อมกระตุกต่อมความคิด ต่อสิ่งที่หลายคนพยายามเรียกร้องความเสมอภาคและเท่าเทียม 

เอาแค่"การเลือกตั้ง"ยังไม่มีความเท่าเทียม นับประสาอะไรจะไปเรียกร้องความเท่าเทียมของสังคมไทย 

"หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่" อธิบายต่อทีม"ผ่าสมรภูมิเลือกตั้ง 66" ถึงปัญหา"พรรคเล็ก"เผชิญอยู่ในขณะนี้ อันดับแรก ปัญหางบประมาณ สะท้อนได้จากพรรคการเมืองขนาดใหญ่จัดเวทีปราศรัยได้หลายต่อหลายพื้นที่ มีการระดมคนฟังปราศรัยจำนวนมากมาย เมื่อหันมาดูที่"พรรคเล็ก"ทำได้แบบนี้หรือไม่ 

"การจัดเวทีปราศรัย ก็ต้องมีค่าเดินทางระดมคน หัวละไม่ต่ำกว่า 500 บาท จำนวนคนสักหมื่นคนต้องจ่ายเท่าไหร่ ผมถามว่า กกต.ไม่ทราบเลยหรือ แต่ถ้ามาฟรี ทำไมพรรคเล็กถึงจัดไม่ได้"  

นพ.ระวี  มาศฉมาดล  หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่

"นพ.ระวี" เปิดเผยถึงค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ระบบเขต   ถ้าไม่มีงบ 20-30 ล้านบาทไม่มีทาง แต่สำหรับบางคนเคยลงพื้นที่มานาน จ่ายมานานแล้วอาจจ่ายน้อยลง แต่สำหรับผู้สมัครหน้าใหม่อาจไม่มีเงินจำนวนเท่านี้ ฉะนั้นไม่มีทางได้ส.ส. ประเด็นนี้ใครกล้าเถียง

"พรรคการเมืองขนาดใหญ่ใช้เงิน เท่าไหร่  ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 400  เขต ต้องลงทุนเท่าไหร่ให้พวกเราไปคิดเอาเอง ผลลัพธ์ออกมา เกินงบประมาณตามกฎหมายกำหนดหรือไม่"  

"ความไม่เท่าเทียม ไม่ใช่แค่เงินไม่เท่าเทียม แค่การจับฉลากบัญชีรายชื่อ ให้ส่งตัวแทนพรรค 5 คน บางพรรคการเมืองขนาดใหญ่เดินเข้าไปที่จับฉลาก 10 คน ตรงนี้ให้หัวหน้าเข้าไปเท่านั้น  พรรคเล็กคนเดียว แต่บางพรรคเข้าไป 2-3 คน  เมื่อพรรคเล็กร้องเรียนกกต.ก็ตอบไม่ได้ ฉะนั้นอย่าพูดถึงความเท่าเทียมของสังคมไทย"

จากสภาพปัญหาข้างต้น จะแก้ไขอย่างไร "นพ.ระวี" เสนอว่า ต้องแก้กฎหมายเลือกตั้ง ห้ามรถแห่ ห้ามติดคัทเอาท์ทั่วประเทศ

"ป้ายหนึ่งป้าย ราคาประมาณ 300 กว่าบาท เขตหนึ่ง 200 ป้าย เมื่อเป็น 400 เขต ทั่วประเทศเป็นเงินเท่าไหร่กี่สิบล้าน พรรคเล็กเอาเงินที่ไหน" หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ตั้งคำถาม 

นอกจากนี้ กำหนดห้ามปราศรัยใหญ่ เพราะพรรคเล็กจัดไม่ได้ เปรียบเทียบให้ดูแล้ว สมมติการจัดเวทีปราศรัยหนึ่งครั้งใช้เงินกี่ล้าน ไม่ใช่กี่แสน หาก"กกต" ทำหน้าที่ตรวจสอบจริงจัง พรรคใหญ่สูญพันธุ์หมดแน่ เพราะพิสูจน์ได้ว่าประชาชนรับเงินมา 

"แค่สมัคร ส.ส.เขต คนละหมื่นบาท ค่าถ่ายรูปอีก 3,000 บาท ค่าประชุมไพรมารีโหวต 6 - 7 หมื่นบาทต่อหนึ่งเขต 400 เขตจะเป็นเงินเท่าไหร่  ดังนั้นพรรคเล็กจึงส่งผู้สมัครแค่ 3 - 4 เขต หรืออย่างมาก15 เขตเท่านั้น และส่งผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ" 

นพ.ระวี มาศฉมาดล  หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่

อย่างไรก็ตาม "หมอระวี" ยอมรับว่า ในเมื่อลงสนามเลือกตั้งแล้ว คงถอยหลังไม่ได้สิ่งที่"พรรคเล็ก"ทำได้ คือ ต้องลดขนาดป้ายเหลือ 1 ใน 4  โดยแต่ละเขตมี 200 - 300 ป้ายนั้นเป็นไปไม่ได้ การลดขนาดป้ายเพื่อจะได้มีจำนวนป้ายกระจายไปติดหลายเขตได้  

"เมื่อพรรคเล็กไม่มีค่าน้ำมันรถ ก็ต้องขับเคลื่อนกำลังพล แกนนำสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ช่วยกันเอง แต่ถ้ามีค่าน้ำมันรถคนละห้าแสน คนหนึ่งอาจหาคะแนนได้ 5,000 -10,000 คะแนนต่อเขตก็เป็นไปได้ "  เสียงสะท้อนจาก"หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่" นพ.ระวี มาศฉมาดล 

ปัญหาของงบประมาณเป็นปัญหาสำคัญสุดของพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะเมื่อสอบถาม " นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" หัวหน้าพรรคไทยภักดี  บอกว่า "พรรคไทยภักดี"มีหัวใจเต็มร้อย นโยบายที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนขานรับดีมาก ทุกคนเข้ามาล้วนอุดมการณ์ มองว่าเป็นจุดแข็งของเราไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราเดินหน้าเต็มที่

"แต่เราต้องยอมรับว่ากติกาในการต่อสู้รูปแบบนี้ นำไปสู่การใช้เงินสูงมาก และพรรคไทยภักดีประกาศชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีการซื้อเสียงโดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้น วันนี้จึงต้องใช้พลังใช้หัวใจในการสื่อสารประชาชน สุดท้ายต้องวัดใจประขาชน จะรับเงินแล้วจะกาใคร แต่ผมเชื่อว่า เลือกพรรคไทยภักดีจะนำไปสู่ความยั่งยืนทุกระดับ" 

นพ.วรงค์  เดชกิจวิกรม  หัวหน้าพรรคไทยภักดี

 "เพื่อชาติ" ยังคงเดินหน้าต่อไม่ว่าผลออกมาแพ้หรือชนะ 

"พรรคเพื่อชาติ" เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้อานิสงส์จากกติกาเลือกตั้งเมื่อปี62 ที่มีการคิดคำนวณส.ส.พึงมี ทำให้ได้รับเลือกตั้งส.ส.แต่มาจากระบบบัญชีรายชื่อถึง 5 คนเข้าไปทำงานในสภา แต่สำหรับ"การเลือกตั้ง 66" กติกาเปลี่ยนที่มีผลทำให้พรรคเล็กอาจต้องสูญพันธุ์ 

"มาดามฮาย" ปวิศรัฐฐ์  ติยะไพรัช  หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ  บอกว่า  กติกาเลือกตั้งไม่เอื้อให้พรรคเล็กอยู่แล้ว ทั้งการส่งส.ส.เขตครบจำนวนล้วนมีต้นทุนที่สูง พรรคเล็กหรือ"พรรคเพื่อชาติ"จึงส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่ครบจำนวน  

"กติกาที่ออกแบบมา มีต้นทุนสูงมากในการส่งส.ส.บวกกับการจัดตั้งพรรคการเมืองที่จะต้องมีการจัดตั้งตัวแทนจังหวัด ต้องมีสาขามากมาย  ถ้าจัดตั้งสาขาไม่สำเร็จ ส่งผู้สมัครไม่ได้ เหล่านี้เป็นข้อจำกัดของพรรคเล็กจริงๆ และเป็นหัวข้อสำคัญที่"พรรคเพื่อชาติ"จะผลักดันให้มีการแก้ไข ถ้าหากได้เข้าไปทำงานในสภาจะปรับปรุงในจุดนี้ เพื่อให้มีพรรคเล็กเกิดขึ้นเยอะๆ"  

อย่างไรก็ตาม  แม้เป็น"พรรคเล็ก" แต่สิ่งที่ทำเราอยากเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ไม่ใช่เป็นตัวแทนจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง สิ่งที่เราเน้นคือเรื่องการศึกษาเปลี่ยนประเทศได้จริง เราจึงต้องปักหมุด ณ ตอนนี้ในเรื่องการพัฒนาการศึกษา  

ปวิศรัฐฐ์  ติยะไพรัช  หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ 

"ฮายเชื่อว่า เพื่อนๆต้องการพัฒนาการเมืองที่ดี เป็นกระบอกเสียงพี่น้องประชาชนได้จริง แต่ตอนนี้ทำอย่างไรให้ดีขึ้น อยากทำพรรคให้ยั่งยืน การส่งส.ส.ทั่วประเทศ และปักหมุดใจกลางกรุงสามจุด แสดงให้เห็นว่า พรรคเอาจริงไม่หวั่นไหว ต่อกติกาที่ไม่เอื้อต่อพรรคเล็ก ทำให้ พรรคเล็กต่างๆ เริ่มไปรวมกันให้พรรคตัวเองมีขนาดใหญ่ขึ้น มีหลายคนเป็นตัวแม่เหล็กให้ได้คะแนนเสียงมากขึ้น

"แต่เมื่อกติกาเป็นแบบนี้ เรายืนยันที่จะเป็นพรรคเล็กของเราอย่างนี้ เพื่อปูพื้นฐานให้แน่นต่อยอดในอนาคตเป็นพรรคที่แข็งแรง ไม่ว่ากติกาเป็นอย่างไรก็ตามเราไม่หวั่นไหว ยืนหยัดอุดมการณ์ของเรา" 

ทั้งนี้ "หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ"ยอมรับต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลัง"เลือกตั้ง 66"   

"ฮายรู้สภาพดี ถ้าได้คะแนนเสียงเท่าเดิมได้ส.ส.เพียงแค่คนเดียว แต่เรายืนยันทำต่อ เพราะเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำว่าเป็นสิ่งที่ดี ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นได้ ถ้าเผื่อ"ฮาย" หรือคนอื่นในพรรคได้มีโอกาสเข้าสภา แค่เปลี่ยนแปลงจุดเล็กๆ จากจุดนิดเดียวก็เปลี่ยนแปลงชีวิตคนเปลี่ยนได้มหาศาล" มาดามฮาย กล่าวพร้อม ประกายแววตาแห่งความหวังและมั่นใจ 

"มาดามฮาย"  ปวิศรัฐฐ์  ติยะไพรัช  หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และสมาชิกพรรค

logoline